
ครม.ไฟเขียว กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ 8.5 หมื่นล้านบาท ให้ กฟผ.บริหารภาระค่าเอฟที
วันที่ 6 กันยายน 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.ให้ความเห็นชอบให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กู้เงินเพื่อบริหารภาระค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ตามนโยบายของรัฐบาลประจำปีงบประมาณ 2566 วงเงิน 8.5 หมื่นล้านบาท โดยให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกัน
- ประกาศใหม่ ผลประโยชน์ตอบแทนบำเหน็จชราภาพ ผู้ประกันตน ม.33,39
- ทำความรู้จักบัตรวิสดอมกสิกรไทย ต้องรวยแค่ไหนถึงถือบัตรได้
- เปิดวิธีลงทะเบียน เลือกตั้งล่วงหน้า 2566 มีขั้นตอนอย่างไร ?
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อเดือนกรกฎาคม นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เผยว่า กฟผ.ได้บริหารจัดการค่าไฟฟ้าตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่งวดค่า Ft เดือนกันยายน 2564 รวมแล้วเกือบ 100,000 ล้านบาท
ในขณะที่ กฟผ.ได้พยายามแก้ปัญหาเบื้องต้นด้วยการกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องไปแล้วจำนวน 25,000 ล้านบาท แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการแบกรับภาระค่าเชื้อเพลิงที่เกินกำลังของ กฟผ. เนื่องจากราคาเชื้อเพลิงในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา “กำไร” ของ กฟผ.จะถูกนำส่งกระทรวงการคลัง เป็นเงินรายได้แผ่นดินเพื่อนำไปใช้พัฒนาประเทศด้านอื่น ๆ ส่วน “กำไรสะสม” ของ กฟผ.จำนวน 3.29 แสนล้านบาท ที่ปรากฏในงบฯแสดงฐานะทางการเงินนั้น “มันไม่ใช่เงินสด”
แต่เป็นการแสดงตัวเลขสะสมของมูลค่าสินทรัพย์ที่ กฟผ.นำกำไรส่วนที่เหลือจากการนำส่งกระทรวงการคลังในแต่ละปีไปลงทุนในรูปของสินทรัพย์ที่ใช้ผลิตและส่งไฟฟ้า ดังนั้น กฟผ.จึงไม่สามารถนำกำไรสะสมดังกล่าวมาจ่ายชดเชยค่าเชื้อเพลิงที่รับภาระใกล้จะถึง 100,000 ล้านบาทได้
ทั้งนี้ นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติเห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กู้เงินเพื่อบริหารภาระค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ตามนโยบายของรัฐบาลประจำปีงบประมาณ 2566 วงเงินไม่เกิน 85,000 ล้านบาท
โดยให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ให้ กฟผ. และเห็นชอบให้ กฟผ.สามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้จนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้นในกรณีที่ กฟผ.มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้เพื่อให้เกิดความเหมาะสมตามสภาพคล่องของ กฟผ.และตลาดการเงินในขณะนั้นแล้วแต่กรณี ทั้งนี้ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการภาระหนี้
นายอนุชากล่าวว่า ครม. ยังรับทราบผลการบริหารอัตราค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ของ กฟผ. ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติในการประชุมครั้งที่ 4/2565 เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565
ส่วนสถานการณ์ราคาพลังงานปัจจุบัน ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ กฟผ.ยังคงต้องรับภาระอัตราค่า (Ft) ที่เพิ่มขึ้น โดยชะลอการนำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงงวดตั้งแต่เดือนกันยายน-ธันวาคม 65 (งวดปัจจุบัน) จากราคาพลังงานที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ผลักภาระเป็นค่าใช้จ่ายของประชาชนตามนโยบายของรัฐบาล ในการช่วยเหลือลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนจากราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น
ประกอบกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลอัตราค่าบริการพลังงานไฟฟ้ ตามนโยบายภาครัฐได้มอบหมายให้ กฟผ. ช่วยรับภาระอัตราค่า (Ft) ที่เพิ่มขึ้น ชะลอการนำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงตั้งแต่งวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2564 จนถึงงวดเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2565 เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 87,849 ล้านบาท (ค่าประมาณการ ณ มีนาคม 2565) ที่จะเรียกเก็บกับประชาชนในระยะนี้เลื่อนออกไปก่อน
ส่งผลให้ กฟผ.ต้องรับภาระอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ทำให้สภาพคล่องทางการเงินลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีการประมาณการกระแสเงินสดของ กฟผ. ว่าจะขาดเงินสูงสุดในวันที่ 30 มีนาคม 2566 จำนวนเงินประมาณ 74,000 ล้านบาท จึงมีความจำเป็นกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินเพิ่มเติมจะปีงบประมาณ 2566 เพื่อบริหารภาระค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ตามนโยบายของรัฐบาล ภายใต้กรอบวงเงินไม่เกิน 84,000 ล้านบาท
ซึ่งประกอบด้วย สัญญากู้ยืมเงิน (Term Loan) กู้เบิกเกินบัญชี ตั๋วสัญญาใช้เงิน การทำ Trust Receipt (T/R) และการทำสัญญากู้เงินเมื่อทวงถาม(Call Loan) ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการค้ำประกันการชำระหนี้ของหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือสถาบันการเงินของภาครัฐ
ทั้งนี้ มติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติครั้งที่ 4/2565 เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565 รับทราบผลการบริหารอัตราค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ของ กฟผ. ซึ่งจะช่วยรับภาระค่า Ft ที่เพิ่มขึ้นชะลอการนำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงที่สูงขึ้น มาเรียกเก็บกับประชาชนระยะนี้ไว้ก่อน เพื่อช่วยเหลือภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 และ 29 มีนาคม 2565 ด้วย