คุ้มครองลูกค้า 7 ล้านราย คปภ.บีบประกันเพิ่มทุน ดิ้นแก้พิษ “เจอจ่ายจบ”

ATK

 

พิษโควิด-19 สั่นสะเทือนธุรกิจประกันวินาศภัย 2.5 แสนล้าน ไตรมาส 3 ขาดทุนยกแผง จับตา คปภ.งัดมาตรการกำกับดูแลผู้บริโภคเพิ่มเติม หลังสั่งห้าม “ยกเลิก” ประกันเจอจ่ายจบ ต้องเป็นความสมัครใจของผู้บริโภค เผยเหลือคุ้มครองอีก 7 ล้านกรมธรรม์ เลขาฯ คปภ.ยันระดับเงินกองทุนบริษัทประกันวินาศภัยยังเข้มแข็ง เร่งตรวจข้อมูลเจาะลึก “ประเมินเสี่ยง” รายบริษัท บีบผู้ถือหุ้นใส่เงินเพิ่มทุนแก้ปัญหาขาดสภาพคล่อง

ตรวจข้อมูลเจาะลึกรายบริษัท

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวว่า จากการประชุมหารือร่วมกับนายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย และคณะกรรมการบริหาร 11 ท่าน (15 พ.ย. 2564) คปภ.ยังคงยืนยันเรื่อง ห้ามยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันโควิด สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย

แต่อนุญาตให้ 16 บริษัทที่ขายประกัน “เจอจ่ายจบ” เสนอทางเลือกที่น่าสนใจในการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขความคุ้มครองตามกรมธรรม์โควิดเดิม หรือตามกรมธรรม์ภัยอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อผู้เอาประกันภัย ทั้งนี้ ลูกค้าต้องสมัครใจเท่านั้น

นอกจากนี้ มาตรการช่วยเหลือจะขึ้นอยู่กับสถิติตัวเลขของแต่ละบริษัท ซึ่งต้องเป็นข้อมูลที่ถูกต้องและแม่นยำ และมีผลกระทบต่าง ๆ รองรับในทุกมิติ โดยจะเร่งเชิญบริษัทประกันวินาศภัยที่ขายกรมธรรม์เจอจ่ายจบ มาสอบถามและขอข้อมูลประกอบการทดสอบภาวะวิกฤต เพื่อประเมินความทนทานของรายบริษัท และระบบประกันภัยภายใต้สถานการณ์ความเสี่ยงจำลองสำหรับการแพร่ระบาดโควิด-19

รวมไปถึงอาจพิจารณาให้บริษัทประกันรายอื่นเพิ่มเติม เข้าร่วมโครงการผ่อนผันปัญหาด้านสภาพคล่องที่จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนประกันภัยโควิด โดยก่อนหน้านี้มี 3 บริษัทประกันที่มีปัญหาขาดสภาพคล่อง และขอเข้าโครงการคือ บริษัท สินมั่นคงประกันภัย, เดอะวัน ประกันภัย และบริษัท ไทยประกันภัย ซึ่งขณะนี้ทางไทยประกันภัย ยื่นแผนเพิ่มทุนมูลค่า 5,000-6,000 ล้านบาท มาแล้ว ส่วนอีก 2 รายที่เหลือกำลังยื่นเพิ่มทุน

ทดสอบรับมือโควิดระลอกใหม่

“ตอนนี้เราประเมินแล้วยังไม่พบปัญหาความเสี่ยงเชิงระบบ ระดับเงินกองทุนของบริษัทประกันวินาศภัยทั้งระบบยังเข้มแข็ง สิ้นเดือน ส.ค. 64 อยู่ที่ 194,379 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ดี คปภ.ได้มีการประเมินความเสี่ยงต่อไปด้วยว่า หากเกิดโควิดระลอกใหม่จะทำให้เศรษฐกิจที่แท้จริง (real economy) เกิดการหยุดชะงักหรือไม่” เลขาธิการ คปภ.กล่าวและว่า

โดยตรงนี้อาจต้องประเมินสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิดเป็นระยะ ๆ ว่าจะเพิ่มแรงขึ้นไปถึงจุดที่มีบริษัทประกันกลุ่มหนึ่งที่มีขนาดใหญ่พอ หรือมีความเชื่อมโยงบริษัทประกันภัยอื่น หรือระบบการเงินและภาคเศรษฐกิจแท้จริงว่าจะมีผลมากน้อยแค่ไหน ที่จะทำให้ระบบหยุดชะงักและผู้เอาประกันภัยไม่ได้รับความคุ้มครอง ซึ่งเรื่องนี้ค่อนข้างเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องมีผู้บริหาร คปภ. และคณะกรรมการ คปภ. (บอร์ด) ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ มาร่วมพิจารณา

นายสุทธิพลกล่าวว่า จนถึงสิ้นเดือน ต.ค. 64 มีกรมธรรม์ประกันโควิดรวมทั้งสิ้น 44 ล้านกรมธรรม์ (รวมปี’63-64) เบี้ยประกันภัยรวม 11,000 ล้านบาท มียอดเคลมทั้งระบบอยู่ประมาณ 25,000 ล้านบาท โดยปัจจุบันมีประกันโควิดแบบ “เจอจ่ายจบ” เหลืออยู่ประมาณ 7 ล้านกรมธรรม์ ที่ยังมีผลความคุ้มครองอยู่ ทุนประกันภัยเฉลี่ย 50,000-100,000 บาท ที่จะสิ้นสุดการรับประกันภายในเดือน มิ.ย. 2565

คปภ.ถกออกมาตรการเพิ่ม

แหล่งข่าว คปภ.กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น ทางสำนักงาน คปภ.เกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค โดยเมื่อวันที่ 16 พ.ย. 64 ที่ผ่านมา เลขาธิการ คปภ.ได้เรียกประชุมผู้บริหารเพื่อหารือประเด็นต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งปัญหายอดจ่ายเคลมโควิด และกรณีบริษัทประกันบางแห่งส่ง SMS แจ้งบอกเลิกลูกค้าผู้ถือกรมธรรม์ประกันโควิด ซึ่งจะต้องมีการติดตามข้อมูลและการดำเนินการต่าง ๆ ของบริษัทอย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ ทางสำนักงาน คปภ.อยู่ระหว่างการหารือ เตรียมออกมาตรการกำกับดูแลเพิ่มเติม เพื่อดูแลลูกค้าอย่างเป็นธรรม จากก่อนหน้านี้ได้ออกคำสั่งนายทะเบียนห้ามยกเลิกกรมธรรม์ประกันโควิด และมีการเข้าไปตรวจสอบภายในของแต่ละบริษัทไปแล้ว ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน

ปมเสี่ยงเกิน 10% เงินกองทุน

ผู้สื่อข่าวรายงาน จากกรณีที่สมาคมอ้างข้อมูลความเสียหายจากประกันภัยโควิด-19 ที่มียอดเคลมกว่า 3 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 26-30% ของเงินกองทุนนั้น ซึ่งเกินกว่ากฎหมายกำหนดว่าจะต้องไม่เกิน 10% ของเงินกองทุน มีการตั้งข้อสังเกตว่าทำไม คปภ.ถึงปล่อยให้บริษัทประกันขายกรมธรรม์จำนวนมากเกินกว่าที่เงินกองทุนจะรับได้

นางสาวชญานิน เกิดผลงาม ผู้ช่วยเลขาธิการสายพัฒนามาตรฐานการกำกับ คปภ. เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตาม พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย มาตรา 31 (2) กำหนดไว้ว่า การรับประกันอัคคีภัยรายเดียวหรือหลายรายรวมกัน “ห้ามรับ” เสี่ยงภัยเกิน 10% ของเงินกองทุน และการรับประกันภัยขนส่งต่อหนึ่งภัยห้ามเกิน 10% ของเงินกองทุน และการรับประกันวินาศภัยอื่นต่อลูกค้าหนึ่งรายห้ามเกิน 10% ของเงินกองทุน

แต่กรณีการรับประกันภัยโควิดไม่ได้ผิดกฎหมาย เพราะไม่ได้มีข้อห้ามอยู่ใน พ.ร.บ. และแต่ละบริษัทรับประกันภัยต่อทุนประกันต่อรายไม่ถึง 10% ของเงินกองทุน ดังนั้นไม่ผิดกฎหมาย เพียงแต่ที่สมาคมประกันวินาศภัยไทยอ้างถึงตัวเลขดังกล่าวคือ พยายามหาหลักการตามกฎระเบียบใน พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย

“การออกโปรดักต์ประกัน จริง ๆ แต่ละบริษัทต้องบริหารความเสี่ยงอยู่แล้วตามกฎประกาศ คปภ. ว่าจะขายสินค้าอะไร เท่าไหร่ มีเงินกองทุนรองรับความเสี่ยงได้แค่ไหน และให้บริษัทประกันต้องทำทดสอบภาวะวิกฤต (stress test) ของตัวเอง เพื่อประเมินความเข้มแข็งด้วย หรือแม้เวลาจะขยายธุรกิจให้กลับมาดูด้วยว่าแผนธุรกิจนั้น ระดับเงินกองทุนรองรับได้หรือไม่” นางสาวชญานินกล่าว

7 ประกันขาดทุนเฉียด 6 พันล้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลประกอบการงวดไตรมาส 3/2564 ของบริษัทประกันวินาศภัยที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จำนวน 15 บริษัท พบว่ามี 7 บริษัท รายงานผลประกอบการขาดทุน ประกอบด้วย สินมั่นคงประกันภัย, กรุงเทพประกันภัย, เครือไทยโฮลดิ้งส์, ไทยรับประกันภัยต่อ, นวกิจประกันภัย, จรัญประกันภัยไทย, เศรษฐกิจประกันภัย รวมขาดทุนสุทธิ 5,603.53 ล้านบาท

โดย  5 อันดับแรกที่มีผลขาดทุนมากที่สุด ประกอบด้วย 1.บมจ.สินมั่นคงประกันภัย (SMK) มูลค่า 3,662 ล้านบาท 2.บมจ.กรุงเทพประกันภัย (BKI) ขาดทุน 885 ล้านบาท 3.บมจ.เครือไทย โฮลดิ้งส์ (TGH) ขาดทุน 662 ล้านบาท 4.บมจ.ไทยรับประกันภัยต่อ (THRE) ขาดทุน 332 ล้านบาท 5. บมจ.นวกิจประกันภัย ขาดทุน 28.66 ล้านบาท

ทั้งนี้ สาเหตุหลักของผลขาดทุนมาจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ส่งผลให้มูลค่ายอดเคลมสินไหมของประกันภัยโควิด-19 โดยเฉพาะกรมธรรม์ “เจอจ่ายจบ” พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก เช่น กรณีบริษัทสินมั่นคงประกันภัย มียอดจ่ายเคลมประกันโควิดสูงกว่า 6,002 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 339% ส่งผลให้ขาดทุนจากการรับประกันรวม 4,991 ล้านบาท

ขณะที่บริษัทกรุงเทพประกันภัย แจ้งขาดทุนจากการรับประกันกว่า 1,346 ล้านบาท สาเหตุจากค่าจ่ายเคลมสินไหมสุทธิ 4,398 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 2,469 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 128% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นผลจากการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนโควิดเจอจ่ายจบเพิ่มขึ้น

TGH เจ้าสัวเจริญขาดทุน 600 ล้าน

สำหรับกลุ่มเครือไทย โฮลดิ้งส์ (TGH) ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ถ้าแยกเฉพาะธุรกิจประกันวินาศภัย มีผลขาดทุนกว่า 812 ล้านบาท เนื่องด้วยมีค่าใช้จ่ายในการรับประกันภัยเพิ่มขึ้น 8,770 ล้านบาท จากการเพิ่มขึ้นของค่าสินไหมทดแทนสุทธิ 8,150 ล้านบาท และสำรองความเสี่ยงภัยที่ยังไม่สิ้นสุดเพิ่มขึ้น 860 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นค่าสินไหมของประกันโควิด

อย่างไรก็ดี เมื่อปลายเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา TGH ได้แจ้งขายเงินลงทุน จำนวน 7,100 ล้านบาท ในบริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ให้กับบริษัท วัฒนทรัพย์พัฒนา 1 จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มเดียวกันกับบริษัท ผลมั่นคงธุรกิจ จำกัด ซึ่งมีฐานะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ TGH

รายงานข่าวระบุว่า การขายเงินลงทุนดังกล่าวเป็นการตัดพอร์ตลูกค้าประกันโควิด “เจอจ่ายจบ” ออกไป เพื่อที่จะให้ไม่ส่งผลกระทบกับฐานะเงินกองทุนของ TGH ขณะที่บริษัทไทยประกันภัย เป็นหนึ่งในบริษัทที่ขอเข้ารับการผ่อนผันตามมาตรการเสริมสภาพคล่องของ คปภ. เพื่อจ่ายเคลมประกันโควิดให้กับประชาชน และล่าสุดได้ยื่นแผนเพิ่มทุนแล้ว

TIP กำไรลดลง

ด้านกลุ่มทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (TIPH) ผู้ถือหุ้นใหญ่ทิพยประกันภัย(TIP) แม้ว่าจะมีกำไรไตรมาส 3 อยู่ที่ 382 ล้านบาท ลดลง 31.52% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน จากผลการเพิ่มขึ้นของค่าสินไหมทดแทน และค่าใช้จ่ายในการจัดการค่าสินไหมทดแทนสุทธิจากกรมธรรม์ประกันโควิด แต่ยังคงมีกำไรสำหรับงวด 9 เดือนแรกที่ 1,624 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.94% โดยมีการเติบโตของเบี้ยประกันภัยรับหลายผลิตภัณฑ์

โดยบริษัทแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯว่า บริษัทประเมินว่าค่าสินไหมจากกรมธรรม์ประกันโควิดในปัจจุบัน อยู่ในสถานะที่บริษัทควบคุมได้ เนื่องจากกรมธรรม์ที่บริษัทขายอยู่ให้ความคุ้มครองเฉพาะการเจ็บป่วยด้วยภาวะโคม่าเท่านั้น และบริษัทไม่เคยขายกรมธรรม์เจอจ่ายจบในช่วงที่ผ่านมา

สำหรับบริษัท เดอะวันประกันภัย (ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหุ้น) ตามรายงานงบฯล่าสุดที่เปิดเผยสิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย. 64 มีผลขาดทุนสุทธิ 148 ล้านบาท จากค่าสินไหมทดแทนโควิดที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ บริษัทต้องมีการตั้งสำรองรวมกว่า 2,254 ล้านบาท จากค่าสินไหมทั้งหมด 830 ล้านบาท และรวมกับสำรองเบี้ยที่ยังไม่ถือเป็นรายได้ 1,425 ล้านบาท

เปิดพอร์ตประกันวินาศ

ทั้งนี้ ภาพรวมธุรกิจประกันวินาศภัยทั้งระบบในปี 2563 มีเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 2.5 แสนล้านบาท มาจากพอร์ตประกันภัยรถยนต์มากที่สุด ด้วยสัดส่วนเกือบ 60% มูลค่า 145,600 ล้านบาท รองลงมาเป็นพอร์ตประกันอุบัติเหตุสัดส่วน 13% มีเบี้ยประกันรวม 3 หมื่นล้านบาท และพอร์ตประกันภัยทรัพย์สินสัดส่วน 11% มีเบี้ยประกันรวม 2.6 หมื่นล้านบาท และพอร์ตประกันสุขภาพ (รวมโควิด-19) สัดส่วน 7% มีเบี้ยประกันรวม 1.5 หมื่นล้านบาท และพอร์ตประกันอัคคีภัยสัดส่วน 4% มีเบี้ยประกันรวมกว่า 1 หมื่นล้านบาท

ส่วนที่เหลืออื่น ๆ อาทิ เบี้ยประกันขนส่งและตัวเรือ, ประกันเดินทาง, ประกันความรับผิดบุคคลภายนอก และประกันอิสรภาพ (ประกันตัวผู้ต้องหา)

สำหรับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 (ม.ค.-ก.ย. 2564) เบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวม 194,832 ล้านบาท เติบโต 4.2% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ปัจจัยหลักจากเบี้ยประกันอุบัติเหตุและสุขภาพเติบโตจากผลิตภัณฑ์คุ้มครองโควิด-19

ประกันชีวิตเรียกมั่นใจลูกค้า

ขณะที่นายสาระ ลำซ่ำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากกรณีที่สมาคมได้ชี้แจงออกข่าวยืนยันว่า ทุกบริษัทประกันชีวิตได้ดำเนินธุรกิจด้วยการบริหารจัดการความเสี่ยงรอบด้าน ทั้งก่อนและหลังการรับประกันภัย และไม่มีเงื่อนไขให้บริษัทประกันชีวิตยกเลิกสัญญาระหว่างทางได้ ยกเว้นแต่มีหลักฐานชัดเจนว่าผู้เอาประกันภัยปกปิดข้อเท็จจริง หรือมีเจตนาทุจริตต่อบริษัท

“เราอยากสร้างความมั่นใจให้ลูกค้าผู้เอาประกันของบริษัทประกันชีวิตทุกแห่ง ซึ่งมีทั้งความคุ้มครองชีวิตและสุขภาพให้เกิดความมั่นอกมั่นใจ ไม่เป็นกังวลใด ๆ เชื่อมั่นว่าธุรกิจประกันชีวิตมีความมั่นคง และพร้อมยึดมั่นคำสัญญาที่ระบุไว้ภายใต้เงื่อนไขกรมธรรม์” นายสาระกล่าว