ปิดจุดอ่อนตลาดหุ้นไทย บทเรียน “มอร์ รีเทิร์น (MORE)”

ถอดบทเรียนจากเหตุการณ์หุ้น “มอร์ รีเทิร์น (MORE)” ปิดจุดอ่อนตลาดหุ้นไทย กับ “ประกิต สิริวัฒนเกตุ” นักกลยุทธ์การลงทุน กรรมการผู้จัดการ บลจ. เมอร์ชั่นพาร์ทเนอร์ จำกัด

วันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 เรียกได้ว่าเหตุการณ์ที่สร้างความสะเทือนให้ตลาดทุนในช่วงที่ผ่านมา คงหนีไม่พ้นเรื่องของหุ้น MORE หรือหุ้นของบริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน)  วันนี้ WPrachachat Wealth” ร่วมพูดคุยกับอาจารย์ปิง ประกิต สิริวัฒนเกตุ นักกลยุทธ์การลงทุน กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เมอร์ชั่นพาร์ทเนอร์  ถึงมุมมองที่มีต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับหุ้น  MORE ในครั้งนี้ว่าอะไรคือสิ่งที่เกิดขึ้น อะไรคือสิ่งที่ผิดปกติและเราจะได้บทเรียนอะไรบ้างจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้

Q : เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับหุ้น MORE ในครั้งนี้ เรียกได้ว่าสะเทือนตลาดทุนไม่น้อยเลย ในมุมของอาจารย์ปิงมองว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากอะไร และอะไรคือสิ่งที่ผิดปกติที่มันเกิดขึ้นบ้าง

ก็จริง ๆ แล้ว ถ้าจะมีอะไรผิดปกติ แต่จริง ๆ แล้วมันก็ไม่ได้ถึงกับมีอะไรผิดปกติ จะมีอะไรผิดปกติก็คือมันเป็นธุรกรรมที่มันมีขนาดค่อนข้างใหญ่ มันเป็นธุรกรรมที่ขนาดใหญ่มาก ก็คือมันมีการซื้อขายหุ้น MORE ที่ราคา 2.90 บาท เป็นจำนวนกว่า 1,500 ล้านหุ้น คิดออกมาเป็นมูลค่าคูณ 2.90 บาทเข้าไปก็เป็น 2,400  ล้านบาท มันเป็นหุ้นที่มีขนาดมาร์เก็ตแคปใหญ่ ๆ ระดับแบบแสนล้าน จะมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันที่ราคาในระดับวันหนึ่งเทรดกันเป็นพันล้านอันนี้ไม่ผิดปกติ แต่อันนี้ปรากฏว่าขนาดมาร์เก็ตแคปก็ประมาณสัก 1.8 หมื่นล้านบาท แต่กลับมีการซื้อขายที่ราคาเดียวถึง 4,000 กว่าล้านบาท มันไม่ค่อยเกิดขึ้น จะมีอะไรเกิดขึ้นส่วนใหญ่แล้วจะต้องเป็นดีลบิ๊กล็อต หมายความว่ามีการส่งคำสั่งซื้อขายดีลก้อนแบบนี้ที่นอกกระดานมากกว่าในระดับแบบเป็นพันล้านที่ราคาเดียว ถ้าถามว่ามีอะไรปิดปกตินี่คือผิดปกติเรื่องที่หนึ่ง มันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเช้าวันพฤหัสบดีที่ 10 พฤศจิกายนที่ผ่านมา คือมีการแมตช์กันที่ราคา 2.90 บาท ด้วยปริมาณการซื้อกับฝั่งขายแมตชิ่งรวมกันแล้ว 1,500 ล้านหุ้น

ทีนี้มันยิ่งผิดปกติมากขึ้นไปอีกเพราะว่าคนส่งคำสั่งซื้อมาจากคนเดียว แต่ผ่านจากหลายโบรกเกอร์ แต่ว่าฝั่งคำสั่งขายมาจากหลาย ๆ คน  แต่ล่ะคนอาจจมีไซซ์เล็ก ไซซ์น้อยต่างกัน ก็ราว ๆ 10-20 กว่าคน  ผมจำไม่ได้ แล้วยิ่งล้วงเข้าไปข้างใน ยิ่งพบว่าคำสั่งซื้อผ่านทางเรื่องของบัญชีเงินสด (Cash Account) ก็แปลว่าเป็นบัญชีที่แค่วางหลักประกันแล้วก็ขอวงเงินในการซื้อ แล้วหลักประกันที่ว่าก็เป็นหุ้น MORE ด้วย ฝากหุ้น MORE เพื่อซื้อหุ้น MORE ก็งงเหมือนกัน คือวางแค่ 20% นั่นหมายความว่าถ้ามันมีธุรกรรมเกิดขึ้น 1,500 ล้านหุ้น ก็แปลว่าเขาวางประกัน 300 ล้านหุ้น 300 ล้านหุ้นคิดออกมาที่บริเวณ 2.70 บาท ก็ตกแค่วางหลักประกันของตัวเองแค่ราว ๆ ประมาณ 1,000 ล้าน แต่ว่ามีอำนาจในการที่จะไปเคาะคำสั่งซื้อได้ถึง 4,400 กว่าล้าน ไปซื้อจากใครไม่รู้ ใครขายไปก็ถือว่าแจ็กพอตเพราะได้ขายในราคาดี

ส่วนคนที่ซื้อไป ไปขอวงเงินจากตัววางหลักประกัน พูดง่าย ๆ ก็คือใช้เงินของโบรกฯ ในการซื้อ ก็ต้องรับภาระในการหาเงินมาชำระให้ได้ พอเกิดเหตุการณ์ธุรกรรมนี้มันแปลก ๆ เกิดขึ้นเขาก็เลยเดากันว่ามันเป็นเกมในการที่จะเอาเงินโบรกเกอร์ไปจ่าย คือฝั่งผู้รับได้เงินแน่  ๆ แต่ฝั่งผู้จ่ายกลับได้คนสั่งซื้อแต่กลับเป็นโบรกฯ ที่ต้องเป็นคนจ่ายแทน เพราะโบรกฯ ไปให้วงเงิน หรือพูดง่าย ๆ ไปให้เงินกู้เขาเอง นี่คือสิ่งที่มันเกิดขึ้นแล้วก็เลยนำมาซึ่งเรื่องการที่บรรดาโบรกฯ ก็รวมตัวกันกว่า 10 โบรกฯ แต่ละเจ้าก็รับออร์เดอร์แตกต่างกันไป บางเจ้าก็เป็นพันล้าน บางเจ้าก็ 400-500 ล้าน ที่จะต้องเป็นคนที่ส่งคำสั่งซื้อไป 400-500 ล้าน แต่ละคนก็ลดหลั่นกันลงไป รวม ๆ แล้วต้อง  4,000 กว่าล้าน

ดังนั้นก็อยู่ระหว่างการเรียกเอาเรื่องไปแจ้งทางด้านของเจ้าหน้าที่รัฐ ในการเข้ามาช่วยสืบสวนสอบส่วนเรื่องนี้ ณ ปัจจุบันบรรดาโบรกฯ  ที่มีการส่งคำสั่งซื้อไป แม้ว่าตัวคนสั่งซื้อจะยังไม่เอาเงินมาให้ โบรกฯ ก็ต้องมีหน้าที่ต้องชำระไปตั้งแต่เมื่อวันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ตามหลัก T+2 บางเจ้าก็ชำระได้ บางเจ้าก็ไม่รู้จะเอาเงินที่ไหนมาชำระเพราะแต่ละเจ้ามีสภาพคล่องที่แตกต่างกัน จนมาเมื่อวาน ( 17 พฤศจิกายน ) ก็มีอันเฉลยว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็สั่งให้โบรกฯ แห่งหนึ่ง เอเชีย เวลธ์ หยุดดำเนินการชั่วคราว เพราะว่ามีการที่ไปหยิบเงินออกมาจากบัญชีของลูกค้าในการเอาไปชำระค่าหุ้น

นั่นหมายความว่าเงินทุนตัวเองต้องไม่เหลือแล้ว หรือเหลือน้อยมาก ๆ ถึงกล้าไปหยิบเงินของลูกค้าซึ่งมันเป็นบัญชีที่แยกออกจากบัญชีทรัพย์สินของบริษัทอย่างชัดเจน  ถือว่าเป็นความผิดที่ค่อนข้างรุนแรงมากเลยในฐานะที่ประกอบธุรกิจเป็นนายหน้าซื้อขายหุ้นแบบนี้ มันทำให้ความเชื่อถือมันหายวับไปเลย อันนี้มันเป็นตัวอย่างของโบรกฯ แรก แล้วก็จะมีคำถามว่าแล้วโบรกฯ อื่นจะเป็นตามไหม อันนี้น่าติดตาม

Q : ในมุมของอาจารย์เอง มองว่าเหตุการณ์ที่มันเกิดขึ้นในครั้งนี้ มันเกิดขึ้นจากจุดไหน เกิดความหละหลวมตรงไหน ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ที่มันมีความวุ่นวายและซับซ้อนค่อนข้างมาก

มันก็ไม่ได้ถึงขนาดซับซ้อนรุนแรง จริง ๆ แล้วหละหลวมตรงไหนผมว่าโดยกฎเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้วก็กฎเกณฑ์ของก.ล.ต.ผมว่ามันโอเคในตัวมันเองแล้ว ถ้าจะให้เขาตึงมากกว่านี้เราก็อาจจะดำเนินธุรกิจกันไม่ได้เลยด้วยซ้ำไป เวลาเขาตึงเราก็ไปโวยวายเขาว่าตึงเกินไปแบบนี้มันจะไปทำธุรกิจกันได้ยังไง แต่พอปล่อยบางส่วน มันก็ต้องมีอะไรแบบบ้า ๆ บอ ๆ ออกมา เช่นในกรณีนี้ผมว่าตลาดเขาก็มีกฎเกณฑ์ในการควบคุมอะไรทุกอย่างดีอยู่แล้วในตัวของเขาเอง

แต่ว่าคราวนี้มันเป็นกรณีระหว่างโบรกฯ กับลูกค้า โบรกฯ ไปปล่อยวงเงินเองแล้วไซซ์มันใหญ่มาก คุณให้วาง 20% ก็จริงแต่ว่าด้วยมูลค่าของมันซื้อเข้าไปได้ไง 400 กว่าล้าน ใช้อำนาจซื้อไปได้ไงหุ้น MORE เนี่ยนะ 400 กว่าล้าน แต่โบรกฯ อาจจะคิดว่าก็ไม่เป็นไรเขาซื้อไปเขาอาจะเทรดดิ้งเก็งกำไรระยะสั้น สุดท้ายแล้วก็มีเงินมาคืนอยู่ดี เพราะว่าแต่ละโบรกฯ ก็ไม่รู้ว่ามันมีการทำธุรกรรมพร้อม ๆ กันทุก ๆ  โบรกฯ ถึง 10 กว่าโบรกฯ ผมก็ยังมองว่าเรื่องนี้มันเป็นปัญหาระหว่างโบรกฯ กับตัวคนที่ทำธุรกรรมนี้มากกว่าที่จะบอกว่ามันเป็นปัญหาจากกฎเกณฑ์ของตรงกลางที่มันหละหลวมมันไม่ใช่

เพราะฉะนั้นในอนาคตเราก็อาจจะอุดช่องว่างนี้ครับ เช่น อาจจะมีคล้าย ๆ กับเครดิตบูโรในการตรวจสอบว่าเขาขอวงเงินจากที่อื่นไหม หรือว่าคนหนึ่งหลักประกันเดียวกันไปขอวงเงินจากที่อื่นหรือเปล่า  ส่วนมันจะเป็นอุทาหรณ์สอนใจอะไร ผมว่าแรก ๆ ก็อาจจะเข็ดกัน โบรกฯ ก็อาจจะเข็ดต้องระมัดระวัง แต่สุดท้ายแล้วผมว่าหนังม้วนเดิมก็อาจจะกลับมาแต่ในรูปแบบใหม่

Q : ทีนี้ถ้าในมุมของผู้เล่นในตลาด หลังจากเจอเหตุการณ์แบบนี้ไป มันต้องมีการปรับตัวอย่างไรบ้างคะ อาจารย์มองอย่างไรบ้าง

ผู้เล่นในตลาด ก็ถ้าจะถามว่าได้รับผลกระทบอะไรจากเหตุการณ์นี้ ผลกระทบโดยตรงก็คือสำหรับคนที่ลงทุนในหุ้น MORE แล้วหุ้นมันมีการปรับลดลงมาเยอะแบบนี้ มันก็พบว่าหุ้นใดก็ตามที่มันมีการเคลื่อนไหวและปรับเพิ่มขึ้นไปโดยมีสตอรี่เป็นแบ็กอัพมันก็พร้อมจะฆ่าเรา เชือดเฉือนเราได้ในทุก ๆ เวลา คือมันจะมีความผันผวนรุนแรง มันจะมีการเหวี่ยงอะไรลงมารุนแรง เคลียร์ไหมครับ

มันก็จะมีแบบนี้นี่คืออุทาหรณ์ว่าถ้าเกิดคุณจะเข้าไปยุ่งกับหุ้นที่การปรับเพิ่มขึ้นมาอย่างผิดปกติ 100-200% แต่ผลประกอบการมันไม่ได้เติบโตขนาดนั้น แล้วก็ขนาดบริษัทมันดูเล็กเมื่อเทียบกับมาร์เก็ตแคป คือมาร์เก็ตแคปมันไปแล้วแต่ขนาดบริษัทมันไม่ได้เติบโตตาม มันก็ต้องมีบางอย่างที่มันผิดปกติ แต่มันจะดีกว่าไหม ถ้าตั้งแต่แรกที่เราระมัดระวังและก็ไม่ได้หลงเข้าไปในเกมเลยดีกว่า

Q : แต่ถ้าสมมติใครที่ไม่ได้เป็นสายเก็งกำไร ระยะยาวอาจจะต้องดูไม่ใช่แค่ราคาหุ้นอย่างเดียวใช่ไหมคะ ถ้าแนะนำอาจจะต้องดูทั้งตัวผลประกอบการอื่น ๆ ประกอบไปด้วย

ใช่ ๆ ก็ต้องศึกษาดี ๆ แล้วก็ระวังเรื่องสตอรี่ที่เหมือนเป็นข่าวบวก  ซึ่งจริง ๆ แล้วมันไม่ใช่ บางครั้งเราจะเอาแต่สตอรี่ไม่ได้เราต้องดูแบ็กอัพบริษัท ดูว่าที่ผ่านมาเขาฝ่าฟันมรสุม ฝ่าฟ้าฝ่าฝนอะไรมาได้บ้าง เพราะยุคนี้มันมีธีม มันมีธีมแบบว่าเข้าไปปรับปรุงโครงสร้างบริษัท ปรับปรุงด้านในข่าวดีมาเต็มราคาหุ้นขึ้น คือเป้าหมายเขาแค่ต้องการผลักราคาหุ้นไม่ได้ต้องการผลักดันปัจจัยพื้นฐานจริง ๆ อันนี้ต้องระวัง