ครม.ไฟเขียวรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ 1.1 แสนล้าน 17 สถานี เชื่อม 3 จังหวัด คาดเดินรถได้ปี 67

ครม.ไฟเขียวรถไฟฟ้าสายสีม่วง 1.1 แสนล้าน 17 สถานี เชื่อม 3 จังหวัด นนท์ฯ-กรุงเทพฯ ฝั่งพระนคร-กรุงธน ฯ – สมุทรปราการ คาดก่อสร้างปี 61 เดินรถได้ปี 67

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และโฆษกประจำตัวนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติเห็นชอบให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินงานก่อสร้างงานโยธาโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ซึ่งเป็นส่วนต่อขยายของโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงเหนือ ช่วงบางใหญ่-เตาปูน ระยะทาง 23.6 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี วงเงิน 101,112 ล้านบาท ทั้งนี้จะเริ่มก่อสร้างเดือนกันยายน ปี 61 และเปิดให้บริการได้ในเดือนพฤษภาคม ปี 67

โดยสำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณ สำหรับค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและค่าสำรวจอสังหาริมทรัพย์ วงเงิน 15,945 ล้านบาท และกระทรงการคลังจัดหาแหล่งเงินกู้ภายใต้กรอบวงเงิน 85,167 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่างานก่อสร้างงานโยธา 77,385 ล้านบาท ค่าสิ่งก่อสร้างทดแทนหน่วยงานที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการ 1,335 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาบริหารและควบคุมงานก่อสร้างงาน 2,865 ล้านบาท ค่า Provisional Sum ของงานโยธา 3,582 ล้านบาท

สำหรับการจัดหาผู้รับจ้างงานโยธาในรูปแบบการแข่งขันประกวดราคานานาชาติ ระบบรถไฟฟ้าและการเดินรถในรูปแบบการให้สัมปทานเอกชน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมทุนตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 โดยให้ รฟม.ดำเนินการประกวดราคางานก่อสร้างโยธาได้ทันที แต่จะลงนามสัญญาจ้างผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธาได้ต่อเมื่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ได้รับทราบรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว

สำหรับแนวเส้นทางและลักษณะโครงการมีจุดเริ่มต้นเป็นทางวิ่งยกระดับจากสถานีเตาปูนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-เตาปูน ไปตามแนวทางถนน เริ่มต้นจากถนนกรุงเทพ-นนทบุรี ตัดกับถนนประชาราษฎร์สาย 2 ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ แล้วลงระดับลงเป็นทางวิ่งใต้ดิน ผ่านเข้าพื้นที่กรมสรรพาวุธทหารบก เลี้ยวเข้าถนนทหาร ถนนสามเสน ถนนพระสุเมรุ ถนนมหาไชย ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาเข้าสู่ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน เมื่อลอดผ่านสี่แยกมไหสวรรย์แล้วจึงเปลี่ยนเป็นทางวิ่งยกระดับไปตามถนนสุขสวัสดิ์ สิ้นสุดปลายทางที่ครุในบริเวณข้างด่านเก็บค่าผ่านทางถนนวงแหวนกาญจนาภิเษก

ระยะทาง 23.6 กิโลเมตร แบ่งเป็นทางวิ่งใต้ดิน 12.6 กิโลเมตร และทางวิ่งยกระดับ 11 กิโลเมตร 17 สถานี แบ่งเป็นสถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี ทั้งนี้โครงการ ฯ จะใช้ระบบรถไฟฟ้าขนาดใหญ่ (Heavy Rail Transit System) ที่มีความจุสูง ความเร็วสูงสุด 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในปีแรกของการเปิดเดินรถจะใช้รถทั้งหมด 38 ขบวน (จำนวน 4 ตู้ต่อขบวน)

สำหรับศูนย์ซ่อมบำรุงใช้ที่สถานีคลองบางไผ่ ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงเหนือ นอกจากนี้รฟม.อยู่ระหว่างศึกษาการใช้ประโยชน์ที่ดินตามแนวรถไฟฟ้ารอบสถานี 2 แห่ง ได้แก่ ที่ดินโรงเรียนสรรพาวุธทหารบก ที่ดินรอบลานจอดรถไฟฟ้าถนนวงแหวนกาญจนาภิเษก

สำหรับผลวิเคราะห์จำนวนผู้โดยสารในปีเปิดให้บริการ ปี 67 คาดว่าจะมีผู้โดยสาร 477,098 คน-เที่ยว/วัน โดยผลตอบแทนทางเศรษฐกิจในรูปแบบประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้ยานพาหนะ ประหยัดมูลค่าเวลาของผู้ใช้ยานพาหนะ และค่าใช้จ่ายด้านสิ่งแวดล้อมเป็นระยะเวลา 30 ปี ร้อยละ 12.95 ผลตอบแทนทางการเงินร้อยละ 4.59