
โครงการ Accelerate Impact with PRUKSA สนับสนุน 5 ธุรกิจเพื่อสังคม ให้เติบโตเข้มแข็งและยั่งยืน พร้อมเดินหน้าร่วมสร้างการอยู่อาศัยของผู้คนให้ “อยู่ดี มีสุข” ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม หวังช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ ควบคู่ดูแลผู้สูงวัยให้มีจุดมุ่งหมายใหม่ในชีวิต
วันที่ 18 พฤษภาคม 2566 นายอุเทน โลหชิตพิทักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า พฤกษามีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างการอยู่อาศัยของผู้คนให้ “อยู่ดี มีสุข” และร่วมสร้างสรรค์ชุมชนให้ยั่งยืน
- พายุลูกใหม่จ่อเข้าไทย ชี้ความรุนแรงเท่า “เตี้ยนหมู่” ระวังน้ำท่วมใหญ่
- นายกฯตั้งบอร์ดใหญ่คุมแจกเงิน 10,000 บาท ห้าง-โมเดิร์นเทรดรับอานิสงส์
- กรมอุตุฯเตือน “พายุดีเปรสชั่น” เข้าไทย รับมือฝนตกหนัก-ท่วมฉับพลัน
เป็นที่มาของโครงการ Accelerate Impact with PRUKSA เพื่อสนับสนุนองค์กรที่มีโมเดลธุรกิจและเป้าหมายชัดเจนเพื่อสังคม ให้สามารถเติบโตด้วยตัวเอง และสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม
โดยพฤกษามอบเงินทุน พัฒนาความรู้ ให้คำปรึกษา มีเครื่องมือในการพัฒนาธุรกิจ และเครือข่ายผู้ประกอบการให้ด้วย
พฤกษาปลื้มซักเซสสตอรี่ เตรียมจัดรุ่นที่ 2 ในปีนี้
โครงการ Accelerate Impact with PRUKSA จัดขึ้นเป็นครั้งแรก มีผู้สนใจสมัครเข้าร่วมมากถึง 70 องค์กร ซึ่งองค์กรที่ผ่านการคัดเลือก คือ
1.Happy Grocers แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่เชื่อมเกษตรกรกับผู้บริโภคโดยตรง
2.Buddy Homecare กิจการเพื่อสังคมที่ช่วยดูแลผู้สูงอายุ
3.Local Alike สตาร์ตอัพด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชน
4.Vulcan Coalition กิจการเพื่อสังคมที่ยกระดับการจ้างงานคนพิการ ผ่านการขับเคลื่อนเทคโนโลยี AI
และ 5.findTEMP แพลตฟอร์มเชื่อมโยงบริการระหว่างพนักงานพาร์ตไทม์และผู้ประกอบการ
โดยทั้ง 5 องค์กรได้รับเงินสนับสนุนจากโครงการรวม 6 ล้านบาท
“หลายองค์กรมีอุปสรรคด้านเงินทุนและความรู้ที่จะพัฒนาธุรกิจ โครงการนี้ได้ปลดล็อกปัญหาที่ติดขัด แม้เวลาการเข้าร่วมโครงการจะผ่านไปแค่ 4-5 เดือน แต่ทุกองค์กรก็ได้นำสิ่งที่พฤกษามอบให้ไปต่อยอด จนเกิดความสำเร็จ เช่น
- Happy Grocers สามารถสร้างรายได้เติบโตเพิ่มมากขึ้น 20 เท่า เกษตรกรกว่า 100 ครัวเรือน ได้รับการส่งเสริม พร้อมสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับสิ่งแวดล้อม โดยเพิ่มพื้นที่สีเขียวได้ถึง 860 ไร่
- Buddy Homecare ช่วยให้เยาวชนที่ต้องการโอกาส ได้รับทุนการศึกษาและมีงานทำ 26 คน ผู้สูงอายุยากไร้ ได้รับการดูแลสุขภาพ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 78%
- Local Alike ชุมชนท้องถิ่น 40 ชุมชนได้รับการสนับสนุน ประชาสัมพันธ์เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว พร้อมสร้างรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่นในไตรมาส 1/66 แล้วกว่า 350,000 บาท
- Vulcan Coalition คาดการณ์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในปี 2566 จะทำให้ผู้พิการได้งานทำ 100 คน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจที่คาดไว้ 12,000,000 บาท
- findTEMP สร้างโอกาสให้พนักงานพาร์ตไทม์ได้ทำงานมากขึ้น 2 เท่า จากหลักสูตรอบรมและการสอบเป็นผู้สัมผัสอาหาร สามารถสร้างรายได้มากกว่า 480,000 บาท เพิ่มผู้ประกอบการได้ถึง 6 บริษัท
“เราดีใจที่ทำให้องค์กรเหล่านี้ก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง เพื่อส่งต่อสิ่งดี ๆ ให้กับสังคม บริษัทมีแผนจัดโครงการต่อเนื่องเป็นรุ่นที่ 2 นักธุรกิจเพื่อสังคมที่อยากร่วม ขอให้รอติดตามโครงการ ซึ่งจะมีการประกาศรายละเอียดเพิ่มเติมอีกครั้ง” นายอุเทนกล่าว
รุ่นแรก 5 องค์กร ล้านความรู้สึก มากกว่าคำว่า “ขอบคุณ”
นายเจนวิทย์ วิโสจสงคราม ผู้ร่วมก่อตั้ง Buddy Homecare กล่าวว่า ปกติงานธุรกิจเพื่อสังคม ผู้ร่วมก่อตั้งต้องลุยทำกันเอง ถ้างบประมาณไม่มีก็เป็นข้อจำกัดที่จะสร้างอิมแพ็กต์ให้กับสังคม
เราจึงดีใจที่เห็นธุรกิจขนาดใหญ่อย่างพฤกษาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ตอนแรกเข้าใจว่าจะสนับสนุนแค่งบประมาณ แต่เมื่อได้พูดคุยก็ทราบว่าพฤกษาตั้งใจที่จะมาแก้ปัญหาสังคมจากรากของปัญหาจริง ๆ
“ดีใจที่มีพี่เลี้ยงซึ่งเป็นธุรกิจขนาดใหญ่เดินไปกับเรา ให้วิธีการ ให้แนวคิด รับฟัง ช่วยกันปรับโมเดลธุรกิจ เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน ซึ่งถือเป็นมิติใหม่และสำคัญมาก”
นายธนวัฒน์ เทียนทองนุกูล ผู้ร่วมก่อตั้ง findTEMP กล่าวว่า ดีใจที่พฤกษาเห็นความสำคัญของธุรกิจเพื่อสังคม และมาช่วยกันสร้างอิมแพ็กต์ให้มากขึ้น ทำให้นักเรียนนักศึกษาที่ขาดทุนทรัพย์ได้ทำงาน
ขณะเดียวกัน ก็ทำให้ผู้ประกอบการได้พนักงานที่มีความพร้อมที่จะทำงาน การเข้าร่วมโครงการนี้ทำให้เราแน่วแน่กับเป้าหมายมากขึ้น
โครงการให้ความรู้ และติดตามผลว่าเรานำความรู้ไปพัฒนาตัวเองอย่างไรบ้าง ทำแล้วประสบความสำเร็จหรือเปล่า มีฟีดแบ็กให้ด้วย เราได้เห็นตัวเองชัดขึ้น
“จากเดิมคิดว่าสิ่งที่จะทำต้องใช้เวลา 1 ปี แต่โครงการนี้ทำให้เราสำเร็จเกินเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ในเวลาเพียง 3-4 เดือน”
นางสาวเมธาวี ทัศนาเสถียรกิจ ผู้ร่วมก่อตั้ง Vulcan Coalition กล่าวว่า ตอนทราบข่าวว่าได้รับคัดเลือก รู้สึกว่านี่คือโอกาสที่ดีมาก เพราะเรากำลังจะมีบริการใหม่ ที่จะให้คนพิการมาทำงานช่วยผู้ประกอบการตอบคำถามควบคู่กับ AI
การได้เข้าร่วมโครงการนี้จึงทำให้เรามีโค้ช ทำให้ได้มุมมองทางธุรกิจที่ดีมาก ตอนแรกยังไม่ชัดเจนว่าลูกค้าเราคือกลุ่มไหน แต่พฤกษาทำให้เราชัดเจนขึ้น รู้ว่ากลุ่มลูกค้าคือใคร มีความต้องการอย่างไร เราแตกต่างจากตลาดอย่างไร
“ที่สำคัญ เรายังได้เงินทุนมาทำเรื่องที่ตั้งใจไว้ คือ หลักสูตรอบรมคนพิการ และแพลตฟอร์มการทำงานสำหรับคนพิการ ซึ่งจะทำให้คนพิการมีชีวิตที่ดีขึ้น”
นางสาวอรธีรา รัตนทายะ ประธานเจ้าหน้าที่ด้านการเงิน Local Alike กล่าวว่า ตอนที่ขอทุนเข้ามา เราต้องการต่อยอดธุรกิจด้วยการทำเว็บไซต์ใหม่ เพื่อเปิดตลาดบริการใหม่ของเรา ซึ่งโครงการไม่ได้ให้แค่เงิน แต่ให้การสนับสนุน ให้คำแนะนำ
มีการส่งทีมงานจากหลายแผนกมาช่วยทำด้วย เราไม่มีความรู้เรื่องเทคโนโลยี และดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งในเชิงลึก พฤกษาก็มีทีมอีคอมเมิร์ซมาให้คำปรึกษา
“ถ้าทำเองต้องใช้เวลามากกว่านี้ ทีมงานพฤกษายังลงพื้นที่ไปทริปกับเราด้วย เพื่อนำข้อมูลมาปรับปรุงบริการของเราให้ดีขึ้น รู้สึกประทับใจมาก”
นางสาวสุธาสินี สุดประเสริฐ ผู้ร่วมก่อตั้ง Happy Grocers กล่าวว่า ได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 5 ทีมสุดท้าย เราเป็นสตาร์ตอัพใหม่ การได้พาร์ตเนอร์ที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่
“พฤกษามี Resource สนับสนุนทั้งเงินทุน ความรู้ เครื่องมือ และเครือข่าย ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะได้เรียนรู้ และได้รับคำแนะนำจากทีมงานมืออาชีพ” นางสาวสุธาสินีกล่าว