ตำรวจ-รฟม.-ผู้รับเหมาถกรับมือวิกฤตจราจรเปิดเทอม เผย”ลาดพร้าว-รามฯ-พหลโยธิน”ติดหนักสุด

แฟ้มภาพประกอบข่าว

ตำรวจ-รฟม.-ผู้รับเหมาถกรับมือวิกฤตจราจรเปิดเทอม 15 พ.ค.นี้ เผย”ลาดพร้าว-รามคำแหง-พหลโยธิน”ติดหนักสุด

พล.ต.ต.จิรพัฒน์ ภูมิจิต รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เปิดเผยว่า ได้เชิญการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในฐานะเจ้าของโครงการรถไฟฟ้าที่กำลังดำเนินการก่อสร้างในเขตกรุงเทพฯ และผู้รับเหมาที่เกี่ยวข้องมาหารือ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดภาคเรียนที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2561 ของโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาในวันที่ 15 พ.ค.นี้

ในช่วงสัปดาห์แรกของการเปิดเทอม แนวก่อสร้างทั้งหมด จะขอคืนพื้นผิวการจราจรให้ได้มากที่สุด และจะขยายช่องทางจราจรให้ได้มากที่สุดด้วย ส่วนจุดที่ถนนยังไม่เรียบ เป็นหลุมเป็นบ่อ หรือฝาท่อยังไม่เรียบร้อย ได้เร่งให้ผู้เกี่ยวข้องไปจัดการให้เรียบร้อยก่อนวันที่ 15 พ.ค.นี้

เช่น สายสีน้ำเงิน บริเวณถนนเพชรเกษมและจรัญสนิทวงศ์ที่คืนพื้นที่มาทั้ง 100% นั้น ยังมีพื้นผิวบางส่วนที่ยังไม่เรียบสนิท และต้องตีเส้นจราจรกันใหม่ ก็ได้เร่งให้จัดการให้เสร็จในสัปดาห์นี้ และจุดที่มีน้ำท่วมขังบ่อยครั้ง รฟม.และผู้รับเหมาได้แก้ไขเรียบร้อยแล้ว

สำหรับจุดที่มีปัญหาจราจรมากที่สุด ได้แก่ ถ.รามคำแหง ที่กำลังก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี, ลาดพร้าว กำลังก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลืองลาดพร้าว-สำโรง และถ.พหลโยธิน ที่กำลังก่อสร้างรถไฟฟ้าสายเขียวต่อขยายหมอชิต-คูคต

โดย ถ.พหลโยธิน ช่วงห้าแยกลาดพร้าว, แยกรัชโยธินและแยกเกษตร ขณะนี้ บมจ.อิตาเลียนไทยฯและ รฟม.แจ้งว่า จะเอาแบริเออร์ก่อสร้างออกไปบางส่วน เพื่อขยายเส้นทางให้กว้างขึ้น และจะพยายามคืนพื้นผิวจราจรให้ได้มากที่สุด ส่วนปัญหาน้ำท่วมขังในหลายจุดก็ได้รับการเเก้ไขแล้ว

ขณะที่ ถ.รามคำแหง มีการปิดช่องทางจราจรในหลายจุดแบบตัว S ขดไปมา จึงตกลงกันว่า อยากให้เร่งรัดให้จัดการให้เสร็จก่อนเปิดเทอม และตามแผนของ รฟม.จะทำจุดที่เป็นตัว S อีกบริเวณหน้าสนามกีฬา ม.รามคำแหง จึงขอให้ผู้รับเหมา และ รฟม.เลื่อนการก่อสร้างตรงนั้นไปอีก 1 สัปดาห์

ส่วน ถ.ลาดพร้าวที่กำลังก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลืองนั้น จุดที่เป็นทางเข้าซอยหลักต่างๆ เช่น ซ.มหาดไทย (ลาดพร้าว 122) ที่เป็นทางลัดไป ถ.รามคำแหง และจุดกลับรถต่างๆ เช่น ซ.ลาดพร้าว 136 และ ซ.ลาดพร้าว 101 ได้เร่งให้ผู้รับเหมาวางท่อประปาให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 14 พ.ค.นี้ เพื่อเปิดเป็นจุดกลับรถ ไม่ให้ไปรอกลับที่ ซ.ลาดพร้าว 136 จุดเดียว และให้มีช่องจราจรขาออกเพิ่มเป็น 3 ช่อง

รองผบช.น. กล่าวอีกว่า สั่งการให้ตำรวจจราจรแต่ละพื้นที่สำรวจวันเปิดเทอมของโรงเรียนในพื้นที่ของตัวเองแล้ว รวมถึงให้พูดคุยกับฝ่ายปกครองของโรงเรียนที่มีปัญหาจราจรสะสม เพื่อหามาตรการรองรับการรับส่งนักเรียน รวมถึงทำความเข้าใจกับผู้ปกครองถึงจุดรับส่งนักเรียน โดยขอให้ใช้เวลาในการรับส่งให้น้อยที่สุด และต้องเตรียมกำลังพลตำรวจในการลงพื้นที่ รถยก ชุดช่วยเหลือน้ำท่วม ตำรวจช่าง และอาสาจราจรให้พร้อมด้วย

สำหรับโรงเรียนที่มีปัญหาบ่อยครั้ง ได้แก่ เซนต์โยเซฟคอนเวนต์, กรุงเทพคริสเตียน, อัสสัมชัญบางรัก, เซนต์คาเบรียล, สามเสนวิทยาลัย, วัฒนาวิทยาลัย และมาแตร์เดอี ส่วนโรงเรียนสาธิตต่างๆ จะทยอยเปิดเทอมในเดือน มิ.ย.นี้

ขณะที่ปัญหาจราจรบริเวณโครงการต่อขยายสะพานอรุณอมรินทร์พร้อมทางขึ้น-ลง และทางยกระดับข้ามแยกศิริราช ของกรุงเทพมหานครนั้น ในสัปดาห์แรกของการเปิดเทอมได้ขอความร่วมมือให้หยุดการก่อสร้างในชั่วโมงเร่งด่วน โดยขอให้ไปก่อสร้างหลังเวลา 09.00 น. และกำลังขอให้ขยับแบริเออร์ทั้งสองฝั่งออกให้เลนถนนกว้างขึ้น โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.บางกอกน้อย ช่วยอำนวยความสะดวกกันเต็มที่

นอกจากนี้ ยังขอความร่วมมือผู้รับเหมาตามแนวโครงการรถไฟฟ้าเปิดแบริเออร์บางส่วน เพื่อเป็นช่องฉุกเฉินเป็นช่วงๆ สำคัญกรณีรถประจำทางเสีย หรือรถที่ประสบอุบัติเหตุไว้สำหรับหลบออกไปจากเส้นทางหลัก เพื่อลดปัญหาจราจรติดขัด

ด้านนายวิทยา พันธุ์มงคล ผู้ช่วยผู้ว่าการและรักษาราชการรองผู้ว่าฯ (ปฏิบัติการ) รฟม. กล่าวว่าการคืนพื้นที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีที่แล้ว ทั้งขาเข้า-ขาออก เป็นการคืนพื้นที่ชั่วคราว 4 กม. ส่วนการคืนพื้นที่ถาวรจะเริ่มในเดือน พ.ย.นี้ พร้อมยืนยันว่าการก่อสร้างยังเป็นไปตามแผน ส่วนบริเวณ 5 แยกลาดพร้าว บนพื้นราบไม่มีปัญหาจราจร แต่มีปัญหาบนสะพานข้ามแยกเพื่อไปสะพานควาย ที่รับมาจากดอนเมืองโทลล์เวย์และรัชวิภา ที่มีเพียง 2 เลนเท่านั้น

ส่วนบริเวณแยกเกษตร กำลังปรับผิวจราจรให้เรียบอยู่ แต่เนื่องจากฝนตกลงมาต่อเนื่อง จึงทำให้ผิวถนนไม่เรียบสนิท จึงต้องรอช่วงที่ฝนทิ้งช่วง จะรีบดำเนินการให้เร็วที่สุด