แต้มต่อแต้ม CP-BTS วัดใจ…เฉือนราคาชิงไฮสปีด

แฟ้มภาพ

ลุ้นกันตัวโก่งกับเกมชิงงานใหญ่ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา เมกะโปรเจ็กต์ที่รัฐบาล คสช.เร่งหาผู้ชนะก่อนการเลือกตั้งในปีหน้า

โดยมี 2 ตัวเต็ง “กลุ่ม ซี.พี.” ของ “ธนินท์ เจียรวนนท์” ที่ผนึกยักษ์พันธมิตรทั้งไทยและต่างประเทศร่วมลุย และ “กลุ่มบีทีเอส” ของ “คีรี กาญจนพาสน์” ผู้บุกเบิกรถไฟฟ้าสายแรกของประเทศไทย

วินาทีนี้ ใครต่อใครก็ไม่กล้ากะพริบตา เพราะเดิมพันด้วยสัมปทาน 50 ปี มูลค่ามากถึง 224,544 ล้านบาท

คาดว่าไม่เกินวันที่ 17 ธันวาคมนี้ คงรู้ผล “แพ้-ชนะ” อย่างเป็นทางการ

ซึ่งคณะกรรมการทำงาน ประกาศ “เดดไลน์” ผลซองเทคนิคในวันที่ 11 ธันวาคมนี้ จากนั้นวันที่ 12-17 ธันวาคม จะพิจารณาซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการเงิน และเซ็นสัญญาวันที่ 31 มกราคม 2562

แต่ข่าววงในระบุว่า “ก็ยังไม่ทันใจบิ๊กรัฐบาลอยู่ดี” ราวกับว่า อยากให้รู้ผลวันนี้พรุ่งนี้

ทำให้คณะกรรมการคัดเลือกมาตรา 35 ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน 2556 ที่มี “วรวุฒิ มาลา” รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เป็นประธาน ต้องจัดประชุมด่วน เพื่อพิจารณาซองเทคนิค เมื่อ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา

และมี “คณิศ แสงสุพรรณ” เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ร่วมประชุมด้วยตลอดวัน แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ข้อยุติ

“วรวุฒิ มาลา” รักษาการผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โครงการใหญ่กว่า 2 แสนล้านบาท คงพิจารณาเสร็จในวันเดียวไม่ได้ เพราะมีรายละเอียดเยอะ ต้องพิจารณารอบคอบ โดยให้บริษัทที่ปรึกษาชี้แจงผลประเมินด้านเทคนิคทั้ง 2 กลุ่ม ว่าถูกต้อง ตามเกณฑ์ทั้ง 6 หมวดหรือไม่

ประกอบด้วย 1.โครงสร้างองค์กรและความสามารถของบุคลากรในการบริหารงาน 2.แนวทางและวิธีการดำเนินงานด้านเทคนิคงานโยธา 3.แนวทางและวิธีการดำเนินงานด้านเทคนิคงานระบบ เครื่องกลและไฟฟ้าและขบวนรถไฟ 4.แนวทางและวิธีการดำเนินงานด้านเทคนิคการให้บริการเดินรถและบำรุงรักษา 5.แนวทางและวิธีการดำเนินงานด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีและกิจกรรมการฝึกอบรม และ 6.การพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการและการดำเนินกิจการทางพาณิชย์

“คณะกรรมการยังไม่พิจารณาผลคะแนน เพราะบางรายการยังขาดเหตุผล ซึ่งที่ปรึกษาต้องอธิบายให้ได้ถึงข้อเปรียบเทียบแต่ละกลุ่ม จะประชุมอีกครั้ง 6 ธันวาคมนี้ หากได้ข้อสรุปก็เชิญทั้ง 2 กลุ่มเปิดซองราคาและประกาศผล 17 ธันวาคม”

แม้หน้าฉากจะบอกเหตุผลของบริษัทที่ปรึกษาที่ข้อมูลยังไม่แน่นพอ แต่หลังฉาก รายงานข่าวระบุว่า “มีนัยสำคัญต้องการซื้อเวลา” เช่น อาจจะช่วยบางกลุ่มที่ได้คะแนนต่ำในบางรายการให้ตีตื้นขึ้นมา เป็นต้น

แหล่งข่าวรับเหมาก่อสร้างเปิดเผยว่า เดิมได้รับแจ้งจะเปิดซองราคาเวลา 14.00 น. ของวันที่ 3 ธันวาคม หลังคณะกรรมการคัดเลือก พิจารณาผลซองเทคนิคเสร็จช่วงเช้า ในเบื้องต้นบริษัทที่ปรึกษาให้ ซี.พี.และบีทีเอสผ่านเกณฑ์ประเมินเกิน 90 คะแนนทั้งคู่แต่ไม่ถึง 95 คะแนน ซึ่งคะแนนทิ้งห่างกันไม่มาก

แต่สุดท้ายคณะกรรมการคัดเลือกยังไม่ยอมรับรองผลคะแนน จึงให้ที่ปรึกษาทำรายละเอียดเสนออีกครั้ง แล้วเลื่อนการเปิดซองราคาออกไป

“จริง ๆ ถ้าผลคะแนนโดยรวมผ่านเกณฑ์ 80 คะแนนตามทีโออาร์กำหนด น่าจะเปิดซองราคา 2 กลุ่มได้เลย เพราะคนชนะคือผู้ที่ให้รัฐอุดหนุนน้อยที่สุด ตามทีโออาร์ต้องไม่เกิน 1.2 แสนล้านบาท การที่คณะกรรมการไม่สรุป คาดเดาว่าอาจมีรายใดรายหนึ่งที่เป็นตัวเต็ง มีคะแนนต่ำกว่าเกณฑ์ ที่อาจเป็นจุดชี้ขาดผลชนะประมูลได้ หากเปิดซองทั้ง 2 รายแล้วเสนอราคาเท่ากัน คณะกรรมการจะเชิญรายที่ได้คะแนนเทคนิคสูงสุดมาต่อรอง”

จุดเฉือดเฉือนทั้ง 2 กลุ่ม แหล่งข่าววิเคราะห์ว่า น่าจะอยู่ที่การคุมต้นทุนการก่อสร้าง การเลือกซัพพลายเออร์ระบบ ขบวนรถ การซ่อมบำรุงในระยะยาว รวมถึงการพัฒนาพื้นที่สนับสนุนบริการโครงการและกิจการเชิงพาณิชย์ที่สถานีมักกะสัน 150 ไร่ ศรีราชา 25 ไร่ และที่ดินแปลงอื่น ๆ ที่จะพัฒนาต่อยอดได้อีก ซึ่งกลุ่ม ซี.พี.จะได้เปรียบมากกว่า

เมื่อพลิกดูพันธมิตร 2 กลุ่มทั้งเอเชียและยุโรป “กลุ่ม ซี.พี.” ไม่มีประสบการณ์ด้านรถไฟฟ้า แต่ได้ 2 ยักษ์รับเหมาไทย “อิตาเลียนไทย-ช.การช่าง และ CRCC” รับเหมาจากจีนมาเสริมทัพ

การบริหารโครงการใช้บริการ “FS-บริษัท Ferrovie dello Stato Italiane” จากอิตาลี มีรัฐบาลถือหุ้น 100% มีความเชี่ยวชาญด้านบริหาร บำรุงรักษาระบบรางและรถไฟความเร็วสูงมายาวนานอาจจะช่วยเลือกระบบและบริหารต้นทุนโครงการได้

ขณะที่ตัวระบบและขบวนรถ ในบัญชีมีซัพพลายเออร์หลายรายให้เลือก ทั้งเมดอินเอเชียและยุโรป ไม่ว่าซีเมนส์จากเยอรมนี, ฮุนได โรเทม จากเกาหลี ที่ได้ไลเซนส์อัลสตรอมของฝรั่งเศส, ทาลาสผู้ผลิตระบบจากฝรั่งเศส และ CRRC รัฐวิสาหกิจและผู้ผลิตระบบรถไฟฟ้ารายใหญ่ของจีนที่สนใจร่วมติดตั้งทั้งหมด

นาทีนี้ถึง “ซี.พี.” ยังไม่เคาะจะใช้ของประเทศไหน แต่สุดท้ายแล้ว น่าจะเทใจให้จีน ที่ได้เปรียบเรื่องราคา แม้ ซี.พี.จะได้เปรียบที่มีพันธมิตรหลากหลาย แต่ลงทุนด้วยรูปแบบ EPC หรือเทิร์นคีย์ ที่ไม่ได้ลงมาลุยสนามเอง จึงอาจมีค่าใช้จ่ายแต่ละดีลสูง

ส่วน “บีทีเอส” มีประสบการณ์ 20 ปีที่บริหารรถไฟฟ้ามา อาจรู้ต้นทุนที่ดีกว่า ซ้ำยังผนึกกับ “ซิโน-ไทยฯ” บิ๊กวงการรับเหมาที่จะมาคุมงานก่อสร้างเอง บวกกับยักษ์พลังงาน “ราชบุรีโฮลดิ้ง” ที่ดูด้านการติดตั้งระบบไฟฟ้า

ด้านงานระบบและขบวนรถ บีทีเอสอาจเลือก “บอมบาร์ดิเอร์” จากแคนาดา คู่ค้าเก่าที่เหมาซื้อโบกี้โมโนเรลสายสีชมพู สีเหลืองและสีทองมาก่อนหน้านี้ โดยให้ Deutsche Bahn หรือ DB รัฐวิสาหกิจจากเยอรมนีเป็นผู้โอเปอเรตโครงการ

เมื่อเทียบฟอร์มกันแล้ว “ซี.พี.-บีทีเอส” ต่างมีจุดแข็งจุดอ่อนทั้งคู่

อยู่ที่ว่า “ระดับบิ๊ก” รักชอบใคร อยากให้ใครเป็น “หัวขบวน”

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!