สนข.ปักธง “บ้านโพธิ์” 760 ไร่ เหมาะสร้างสถานีขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์รับ EEC เปิดร่วมทุนแลกสัมปทาน

สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม จัดสัมมนาเพื่อเผยแพร่ผลการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นต่อร่างรายงานฉบับสมบูรณ์ (Draft Final Report) จากผู้ที่เกี่ยวข้อง โครงการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์รองรับ EEC เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ จ.ฉะเชิงเทรา

เนื่องจาก สนข.ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ให้ดำเนินการศึกษา ความเหมาะสมโครงการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์รองรับ EEC ให้ครอบคลุมครบทุกมิติ ทั้งด้านวิศวกรรม โครงข่ายถนนและทางรถไฟ ด้านเศรษฐกิจและการลงทุน ด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชน การจัดทำแบบเบื้องต้น

เป็นรูปแบบการลงทุน และการบริหารจัดการแบบไร้รอยต่อ (Seamless Operation) ในการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้า คอนเทนเนอร์ (Inland Container Depot : ICD) ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา หรือ ICD ฉะเชิงเทรา

เนื่องจากฉะเชิงเทราเป็นจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่เขต EEC ที่ต่อยอดความสำเร็จมาจากโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก (Eastern Seaboard Development)

จากผลการศึกษาเบื้องต้นได้ข้อสรุปการคัดเลือกพื้นที่ในการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์ ประมาณ 760 ไร่ บริเวณตำบลหนองตีนนก อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ห่างจากสถานีรถไฟดอนสีนนท์ประมาณ 1 กิโลเมตร สามารถเชื่อมต่อโครงข่ายกับทางหลวงหมายเลข 315 และทางหลวงชนบทหมายเลข 3122

โดยรายละเอียดของโครงการ แบ่งเป็น 4 ส่วนหลักๆ ได้แก่

1. พื้นที่ส่วนกลาง ประกอบด้วย อาคารสำนักงานกลาง, โรงอาหาร, อาคารพักสินค้าตกค้าง, อาคารตรวจสอบเอ็กซเรย์ พร้อมด้วยจุดพัก ซึ่งประกอบด้วยปั๊มน้ำมันและปั๊มแก๊ส, ลานจอดพักรถเทรลเลอร์ และร้านค้าต่างๆ

2. พื้นที่สถานีขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์ ประกอบด้วย ลานกองตู้คอนเทนเนอร์, โรงซ่อม, ลานทำความสะอาดตู้, โรงอาหาร, อาคารปฏิบัติการ, อาคารสำนักงาน, จุดคัดแยกและบรรจุสินค้ารวมทั้งโรงพักสินค้า

3. โครงข่ายถนนเชื่อมต่อเข้า-ออกโครงการ และ Service Road ประกอบด้วย ทางแยกต่างระดับขนาด 2 ช่องจราจรเชื่อมโครงการกับทางหลวงหมายเลข 315, ถนนขนาด 6 ช่องจราจร บริเวณภายในและเข้าออกโครงการ, ถนนบริการ ขนาด 2 ช่องจราจร สำหรับอำนวยความสะดวกกับประชาชนในพื้นที่รอบๆ โครงการ

4. ทางรถไฟเชื่อมต่อเข้าพื้นที่โครงการและพื้นที่สถานีรถไฟ ประกอบด้วย อาคารสถานีรถไฟดอนสีนนท์ และหอสูงตรวจการณ์ พร้อมอาคารสำนักงาน โดยโครงการจะก่อสร้างทางเชื่อมรางรถไฟเข้ามาในพื้นที่ ICD เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับการขนถ่ายสินค้าด้วยตู้คอนเทนเนอร์ทั้งขาขึ้นและขาล่อง

โดยในการพัฒนาโครงการได้ถูกออกแบบให้รองรับการขนส่งสินค้าเพื่อการนำเข้า-ส่งออก เชื่อมโยงกับระบบรางและท่าเรือแหลมฉบัง แบบไร้รอยต่อให้บริการจัดการการขนส่งแบบเบ็ดเสร็จ (One-Stop Service) เพื่อให้เกิดความสะดวกและรวดเร็วในการนำเข้าและส่งออกสินค้า

สำหรับแนวทางลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและมวลชนนั้น ในเบื้องต้นได้เน้นการออกแบบที่ให้ความสำคัญกับการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาการจราจร น้ำท่วม การระบายน้ำ และการบำบัดน้ำเสีย ตลอดจนการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน การสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนโดยรอบโครงการ อาทิ การพัฒนาทักษะการประกอบอาชีพทำให้ชุมชนมีรายได้ รวมถึงการจัดเตรียมแผนงานความรับผิดชอบต่อสังคมโดยใช้แนวคิดอุตสาหกรรมสีเขียว และการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบตามความเหมาะสม

สำหรับรูปแบบการลงทุนโครงการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์รองรับ EEC จังหวัดฉะเชิงเทรา จะใช้วิธีการให้สัมปทานเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน ดำเนินงาน และบำรุงรักษา

โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ระยะ โดยระยะที่ 1 คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 2567 และระยะที่ 2 จะดำเนินการในปี 2577 ซึ่งจากผลการศึกษาคาดการณ์ว่าในปีแรกจะมีปริมาณตู้สินค้าที่เข้ามาใช้บริการสถานีขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 500,000 ทีอียู และเพิ่มขึ้นเป็น 1.9 ล้านทีอียูในปีที่ 30

โดยผลการวิเคราะห์ทางด้านเศรษฐกิจพบว่า โครงการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์รองรับ EEC ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา จะให้ผลตอบแทน ด้านเศรษฐกิจในอัตราร้อยละ 15

โครงการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์รองรับ EEC ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการเติมเต็มภาพรวมการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้ EEC เป็นประตูการค้าของภูมิภาค และที่สำคัญคือจะเป็นการผลักดันให้เกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งไปสู่ระบบราง ส่งผลให้เกิดการลดต้นทุนโลจิสติกส์และความแออัดบริเวณท่าเรือ

นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมและกระจายสินค้า รวมถึงเชื่อมโยงการขนส่งระบบรางทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่ม CLMV ประกอบด้วย กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ตลอดจนรองรับการเชื่อมโยงกับจีนตามโครงการรถไฟไทย-จีน และยุทธศาสตร์ Belt and Road Initiative

อย่างไรก็ตาม การศึกษาความเหมาะสมโครงการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์รองรับ EEC ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นผลการศึกษาเบื้องต้นทางวิชาการเท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติจะต้องพิจารณาประเด็นข้อกังวลต่างๆ จากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบ ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญอันจะนำไปสู่การตัดสินใจและขับเคลื่อนการดำเนินงาน ในขั้นตอนต่อไป