เปรมชัย กรรณสูต สตอรี่ธุรกิจอิตาเลียนไทย ส่งต่อทายาทคุมอาณาจักร 6 แสนล้าน

ยักษ์ใหญ่ “บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์” รับเหมาก่อสร้างเบอร์หนึ่งของประเทศไทยใต้ปีก “ตระกูลกรรณสูต” มี “เปรมชัย กรรณสูต” เป็นผู้กุมบังเหียนในปัจจุบัน

จากมรสุม “คดีเสือดำ” แม้จะไม่ทำให้อาณาจักรที่ก่อตั้งมา 60 ปีมีทรัพย์สินร่วมแสนล้านสั่นคลอน เพราะยังมีงานใหญ่เข้ามาในมือไม่ขาดสาย แต่ก็บั่นทอนความเชื่อมั่นจากสังคมไปบ้างไม่มากก็น้อย

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “เปรมชัย” บอสใหญ่อิตาเลียนไทยฯ วัย 65 ปี ในวันที่ปรากฏตัวเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นบริษัท เพื่อทำหน้าที่รายงานผลการดำเนินงานปี 2561 ท่ามกลางที่มีผู้ถือหุ้นเข้าร่วมประชุมบางตา

Q : ภาพรวมของอิตาเลียนไทยฯในปัจจุบัน

ยังมีงานเข้ามาอย่างต่อเนื่องเพิ่มขึ้นทุกปี อย่างน้อยปีละ 10% ปัจจุบันมีงานในมือในประเทศและต่างประเทศ มูลค่ารวม 317,854 ล้านบาท ในนี้มีงานรอเซ็นสัญญา 282,072 ล้านบาท รวม ๆ แล้วก็ร่วม 600,000 ล้านบาท

ผลประกอบการในปี 2561 ที่ผ่านมาสามารถมี turnover ได้มากกว่า 60,000 ล้านบาท มีรายได้รวม 61,703 ล้านบาท โดยกว่า 70% มาจากโครงการรัฐ และนับว่าเป็นรายได้ที่สูงสุดอีกปีหนึ่ง และยังเป็นบริษัทที่ครองส่วนแบ่งในตลาดสูงสุด 31.04%

ขณะที่โครงการต่างประเทศคิดเป็น 27.8% ของรายได้รวมบริษัท และคิดเป็น 38.7% ของมูลค่างานในมือ มีโครงการใน สปป.ลาว เมียนมา กัมพูชา อินโดนีเซีย เวียดนาม บังกลาเทศ อินเดีย มาดากัสการ์ ออสเตรเลีย โมซัมมิก และไต้หวัน

นอกจากนี้ยังสามารถประมูลงานขนาดใหญ่ได้ตามเป้าเพิ่ม เช่น โครงการวัน แบงค็อก ในส่วนโครงสร้างใต้ดินมูลค่า 8,250 ล้านบาท รถไฟฟ้ามหานครธากา 6,996 ล้านบาท ท่าเทียบเรือและสถานีรับจ่ายก๊าซธรรมชาติของพีทีที 5,349 ล้านบาท

งานใหญ่ที่รอเซ็นสัญญา เช่น ก่อสร้างทางยกระดับต่อขยายถนนธนบุรี-ปากท่อ สัญญาที่ 3 วงเงิน 2,398 ล้านบาท รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่บริษัทถือหุ้น 5% ร่วมกับกลุ่ม ซี.พี.ประมูลโครงการ เฉพาะงานก่อสร้างในส่วนที่บริษัทรับผิดชอบมีมูลค่ากว่า 117,000 ล้านบาท คาดว่าโครงการจะได้รับการเดินหน้า

รวมถึงโครงการพัฒนาสนามบินและเมืองการบินอู่ตะเภาที่บริษัทร่วมกับซี.พี.เข้าประมูล ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาข้อเสนอ คาดว่าจะสรุปได้ในเร็ว ๆ นี้ ทั้ง 2 โครงการนี้หากได้เซ็นสัญญาจะเป็นโครงการหลักของอิตาเลียนไทยฯในปีนี้ ซึ่งทั้งรถไฟความเร็วสูงและสนามบินอู่ตะเภา เราเข้าร่วมรูปแบบ EPC คือออกแบบจัดซื้อและจัดหา เราน่าจะมีโอกาสทั้ง 2 โครงการ และเป็นโครงการที่น่าจะมีกำไรสูง

Q : โปรเจ็กต์ร่วมกับ ซี.พี.ที่มาที่ไป

ผมก็คุยกับเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์เอง เพื่อเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ ทางอิตาเลียนไทยฯจะลงทุนได้ไม่เกิน 5% และเราก็มีผลงานก่อสร้างหลากหลายทั้งรถไฟฟ้า อาคาร สนามบิน

Q : เป้าหมายต่อไป

ใน 1-4 ปีนี้จะร่วมประมูลงานภาครัฐที่เริ่มทยอยออกมา เพื่อสร้างรายได้เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของธุรกิจและรักษาส่วนแบ่งการตลาดเบอร์หนึ่งไว้ เช่น ทางด่วนสายพระราม 3-

วงแหวนฯ รถไฟไทย-จีน ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 สนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 รถไฟทางคู่เฟส 2 รถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย เช่น สายสีแดง สายสีม่วงใต้ สายสีส้มตะวันตก

Q : สภาพตลาดรับเหมา

ตลาดประมูลยังมีโครงการทยอยออกมา ทั้งที่อนุมัติไปแล้วและยังไม่ได้รับการอนุมัติก็เตรียมเสนอขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี เชื่อว่ารัฐบาลจะผลักดันการประมูลโครงการขนาดใหญ่ ๆ ออกมาได้เร็วที่สุด

ถึงงานจะออกมามาก แต่ราคาก็ไม่ค่อยดี และที่ผ่านมามีผู้รับเหมาต่างชาติเข้าร่วมเยอะอยู่ โดยเฉพาะผู้รับเหมาจีนที่เข้ามาบุกเต็มที่ มีการฟันราคาในตลาดค่อนข้างมาก ทำให้การแข่งขันสูง ที่เพิ่งประมูลไปมีรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-โคราช จำนวน 2 สัญญา ซึ่งเราไม่ได้ ก็ทำดีที่สุดแล้ว เราก็ต้องสู้ต่อไปเพราะเป็นอาชีพ

สิ่งที่เราอยากทำจริง ๆ คือ โครงการที่มีรายได้ออกมาและเป็นรายได้ที่ดี จึงเข้าไปทำสัมปทานเหมืองโปแตช เพราะคิดว่าจะทำให้มีรายได้มาจุนเจือบริษัทในระยะยาว ตอนนี้มีความคืบหน้าไปด้วยดี

Q : ความคืบหน้าโครงการทวาย

หลังเมียนมามีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเมื่อปี 2559 ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายชุดใหม่อย่างเป็นทางการ กำกับดูแลและบริหารงานของโครงการระยะแรกเป็นนิคมอุตสาหกรรม พื้นที่ 27 ตร.กม.ให้ดำเนินการไปอย่างต่อเนื่อง

ที่ผ่านมาเราลงทุนไปแล้ว 7,000 ล้านบาท สร้างอินฟราสตรักเจอร์ 400-500 ไร่ เช่น ถนน 2 เลนที่ให้รถสามารถวิ่งไปได้ ยังเหลือถนนลาดยาง โรงไฟฟ้า ระบบน้ำประปา ท่าเรือ ซึ่งเราจะลงทุนเองทั้งหมด ส่วนการพัฒนานิคมร่วมกับบริษัทสวนอุตสาหกรรมโรจนะ

ตอนนี้รออนุมัติกรอบสัญญาเช่าที่ดิน ถึงจะนำไปขอไฟแนนซ์โครงการจากแบงก์และพัฒนาโครงการ เพื่อเปิดขายพื้นที่นิคมได้ ซึ่งทางเมียนมารอความพร้อมในหลาย ๆ ด้าน เช่น รายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ตอนนี้มีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมของไทยสนใจจะไปลงทุนตั้งโรงงานในนิคมทวายหลายราย

นอกจากนี้โครงการยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทย เห็นชอบหลักการและเงื่อนไขเกี่ยวกับเงินกู้แบบผ่อนปรนให้รัฐบาลเมียนมากู้วงเงิน 4,500 ล้านบาท ก่อสร้างถนน 2 เลน เชื่อมต่อพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและชายแดนไทย-เมียนมา ที่บ้านพุน้ำร้อน

โดยจ้างบริษัทที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมแล้วเมื่อเดือน ก.พ. 2562 ที่ผ่านมา คาดว่าอีก 3-5 เดือนนี้จะได้รับการอนุมัติเปิดประมูลก่อสร้าง ถือเป็นความคืบหน้าของการร่วมมือระหว่างทั้ง 2 รัฐบาลในการสนับสนุนโครงการ ยังไงโครงการนี้จะต้องเกิด

Q : จะมีการส่งไม้ต่อธุรกิจให้กับทายาทเมื่อไหร่

ก็คงต้องถึงเวลาแล้ว แต่คงไม่ใช่ในวันนี้พรุ่งนี้ แต่ผมวางมือแน่ ๆ อีก 1 ปี (2563) ตอนนี้กำลังเตรียมอะไรให้เขา ส่วนจะเป็นใครก็ต้องดูตามความเหมาะสม แต่ก็เตรียมไว้ มีทั้งลูก ๆ ตอนนี้ลูกชายคนเล็ก (ธรณิศ กรรณสูต) ก็เข้ามาช่วยงานทั้งหมด ยังมีวิศวกรที่เป็นมืออาชีพอยู่กับเรามานาน ก็มีโอกาสทั้งนั้น แต่ผมก็ยังคงคอยให้คำแนะนำ