กมลศักดิ์ พรหมประยูร เปิดโมเดลพัฒนาท่าเรือแสนล้าน

สัมภาษณ์

เรียกว่าไม่ง่ายกว่าที่ “เรือโทกมลศักดิ์ พรหมประยูร” จะก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) คนปัจจุบัน

แม้จะเป็นลูกหม้อการท่าเรือฯมา 33 ปี แต่ก็ต้องฝ่าพงหนามข่าวลือสารพัดภายในองค์กรอย่างสาหัส แต่ในที่สุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2562 ก็ประทับชื่อ “เรือโทกมลศักดิ์” วัย 57 ปี จากรองผู้อำนวยการสายบริหารสินทรัพย์และพัฒนาธุรกิจ นั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย คนที่ 18 สมใจ

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “เรือโทกมลศักดิ์” ในการสร้างแพลตฟอร์มการท่าเรือฯที่ครบรอบ 68 ปีไปเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เพื่อก้าวสู่การแข่งขันบนเวทีโลก

Q : เป้าหมายการบริหารการท่าเรือฯ

สิ่งที่อยากทำก่อนเลยก็คือ การยกระดับการให้บริการ โดยเฉพาะการเพิ่มความสะดวกให้ลูกค้าด้านไอที ปีนี้มีแผนจะวางระบบเทคโนโลยีใหม่ทั้งหมด ทั้งที่ท่าเรือกรุงเทพ และท่าเรือแหลมฉบัง โดยจะนำระบบที่เรียกว่า port communication system (PCS) ที่เป็นระบบช่วยเรื่องการตรวจสอบและการขนส่งสินค้า ถือเป็นระบบที่ต่างประเทศใช้กันแพร่หลายมานานแล้ว

อยู่ระหว่างจ้างที่ปรึกษามาออกแบบระบบเชื่อมต่อระหว่างลูกค้าในฐานะเอกชนกับท่าเรือในฐานะหน่วยงานของรัฐได้บนแพลตฟอร์มเดียวกันและฝึกอบรม ขณะนี้การท่าเรือเมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี ก็แสดงความสนใจที่จะมาเป็นที่ปรึกษาโครงการด้วย ในเบื้องต้นการออกแบบระบบทั้งหมดน่าจะแล้วเสร็จในเดือน ก.ย.นี้ จากนั้นประมาณปี 2563 จะดำเนินการจัดหาระบบที่เหมาะสมตามที่ที่ปรึกษาออกแบบไว้ ก่อนจะเริ่มกระบวนการร่างสัญญาทีโออาร์และจัดซื้อจัดจ้างภายในปี 2563 ตามลำดับ

Q : โครงการใหม่ที่จะลงทุน

จะขับเคลื่อนแผนลงทุนโครงการใหม่ที่อยู่ในแผน มีมูลค่าประมาณ 1 แสนล้านบาท อาทิ โครงการสมาร์ทคอมมิวนิตี้ เป็นการยกระดับชุมชนคลองเตย การพัฒนาทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพกับทางด่วนสายบางนา-อาจณรงค์ (S1)

นอกจากนี้จะพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ระยะที่ 1 ท่าเทียบเรือ F วงเงิน 84,361 ล้านบาท เป็น 1 ใน 5 ของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนรูปแบบ PPP net cost ระยะเวลา 35 ปี โดย กทท.ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 53,490 ล้านบาท และเอกชนลงทุน 30,871 ล้านบาท

มีเอกชน 2 กลุ่มยื่นข้อเสนอ ได้แก่ 1.กิจการร่วมค้า GPC ประกอบด้วย บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์, บจ.พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล และ บจ.ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จากประเทศจีน และ 2.กิจการร่วมค้า NCP ประกอบด้วย บจ.นทลิน จำกัด, บจ.แอสโซซิเอท อินฟินิตี้, บจ.พีเอชเอส ออแกนิค ฮีลลิ่ง, บมจ.พริมา มารีน และ บจ.ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรักชั่น คอร์ปอเรชั่น จากประเทศจีน ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับกลุ่ม GPC

Q : กรณีมีเอกชนยื่นฟ้องศาลปกครอง

เรายังเดินหน้าต่อ เพราะคณะกรรมการคัดเลือกยึดตามกฎหมาย 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 2561 และประกาศเอกสารการคัดเลือกเอกชน (RFP) การตัดสินให้กลุ่ม NCP ไม่ผ่านคุณสมบัติซองที่ 2 ด้านคุณสมบัติ เนื่องจากส่งเอกสารไม่ครบและไม่มีลายเซ็นประทับตราลงในเอกสารจอยต์เวนเจอร์ทุกแผ่น ส่วนที่ไปยื่นฟ้องศาลปกครองก็ได้รับทราบมาว่า ศาลปกครองยกคำร้องไปแล้วเช่นกัน กลุ่ม NCP ก็ยังยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินอีก ทำให้มีคำแนะนำไปยังท่านนายกรัฐมนตรีให้ทบทวน โดยท่านนายกฯได้ให้ฝ่ายกฎหมายของบอร์ดอีอีซีพิจารณาในประเด็นนี้อยู่ แต่เรายืนยันว่าเดินหน้าโครงการต่อแน่นอน

ความคืบหน้าตอนนี้ได้เริ่มเปิดซอง 4 พิจารณาแล้ว แต่ยังไม่เจรจากัน เบื้องต้นให้กลุ่ม GPC อธิบายถึงโมเดลทางการเงินที่เสนอมาก่อน ส่วนซองที่ 5 เป็นข้อเสนอเพิ่มเติมที่เพิ่มประสิทธิภาพโครงการ ใน RFP ไม่ได้ระบุว่าให้เปิดซองเมื่อใด ทางคณะกรรมการคัดเลือกอาจจะพิจารณาเปิดซองควบคู่ไปกับซองที่ 4 ก็ได้ อยู่ระหว่างหารือกัน จะทันกรอบเวลาที่บอร์ดอีอีซีเคยวางไว้หรือไม่ ยังไม่สามารถตอบได้ ต้องรอผลพิจารณาจากฝ่ายกฎหมายอีอีซีก่อน แต่จะดำเนินการให้เร็วที่สุด

Q : อัพเดตโมเดลพัฒนาคลองเตย

แผนพัฒนามี 2 ส่วน ในส่วนแรกการพัฒนาย่านที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ในชุมชนคลองเตย เป็น smart community พื้นที่ 58 ไร่ พัฒนาอาคารสูง 25 ชั้น 4 อาคาร อาคารละ 1,536 ยูนิต รวม 6,144 ยูนิต มูลค่าก่อสร้างเบื้องต้น 7,500 ล้านบาท เป็นเงินลงทุนของเราเองทั้งหมด แบบห้องเป็นแบบ 1 ห้องนอน พื้นที่ใช้สอย 33 ตร.ม.ทุกยูนิต เพื่อรองรับประชาชนที่บุกรุกพื้นที่ของการท่าเรือฯ 26 ชุมชน จำนวน 12,500 ครัวเรือน ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็พยายามเร่งให้เสร็จช่วงปลายปี 2563

ปัจจุบันอยู่ในช่วงสำรวจสำมะโนประชากร จะเสร็จภายในปีนี้ แต่เราพบปัญหาเพิ่มอีกว่า พอท่าเรือประกาศไปว่าจะทำคอนโดมิเนียม ทำให้มีผู้บุกรุกเพิ่มเติมอีกอย่างน้อย 1,000 ครัวเรือน เพื่อขอรับสิทธิ์ด้วย กำลังหารือเพื่อแก้ไข เพราะเรามีกติกาขีดไว้ชัดเจนว่า จะยกให้ผู้ที่อยู่อาศัยเดิมเท่านั้น

ส่วนที่ 2 การพัฒนาท่าเรือคลองเตย เนื้อที่ 2,353 ไร่ ตอนนี้ว่าจ้างที่ปรึกษาได้แล้ว โดยที่ปรึกษาจะมาช่วยดูเรื่องการเงินและกฎหมายเป็นหลัก รวมถึงนำมาสเตอร์แพลนการพัฒนาเดิมแบ่งพัฒนา 3 โซน มาทบทวนอีกครั้ง และกำหนดแผนพัฒนาการใช้ประโยชน์ที่ดิน (land use) กรอบเวลาพัฒนาให้เหมาะสมกับศักยภาพ สอดคล้องกับความต้องการของตลาดปัจจุบัน

จากนั้นจะนำเสนอให้คณะกรรมการการท่าเรือฯ และคณะกรรมการ PPP อนุมัติ ก่อนเปิดประมูลให้เอกชนร่วมลงทุน PPP เป็นรายโซน ระยะเวลา 30 ปี ตั้งเป้าจะเริ่มประมูลที่ดิน 17 ไร่ อยู่ติดอาคารสำนักงานของการท่าเรือฯ มูลค่าโครงการ 5,400 ล้านบาท เป็นลำดับแรก

Q : แผนมาสเตอร์แพลนเดิม

แบ่ง 3 โซน มีโซน 1 พัฒนาด้านการค้า จะมีศูนย์ธุรกิจพาณิชยนาวี 17 ไร่ ด้านข้างที่ทำการปัจจุบัน ศูนย์โลจิสติกส์และกระจายสินค้า 54 ไร่ อาคารสำนักงาน 126 ไร่ และสนับสนุนกิจการของท่าเรือและชุมชนโดยรอบ อาทิ ศูนย์กลางการค้าและพาณิชยกรรมนำเข้า-ส่งออก อาคารพาณิชย์ อพาร์ตเมนต์ เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ สำนักงาน ศูนย์ฝึกอบรมธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ สถาบันการเงิน และศูนย์การประชุม ยังมีศูนย์การค้าธุรกิจทันสมัยครบวงจร 15 ไร่ เช่น ศูนย์แสดงสินค้ากิจการท่าเรือ จะนำที่ดินบริเวณโรงฟอกหนัง 123 ไร่ พัฒนาสมาร์ทคอมมิวนิตี้สร้างที่อยู่อาศัยรองรับชุมชน ซึ่งเรากำลังดำเนินการตรงนี้อยู่

โซน 2 พัฒนาธุรกิจหลัก ปรับลดพื้นที่ปัจจุบันเหลือ 534 ไร่ พัฒนาสถานีบรรจุสินค้าเพื่อส่งออกและบูรณาการพื้นที่หลังท่าเป็นคลังสินค้าขาเข้าเขตปลอดภาษี และจุดบริการเบ็ดเสร็จ มีท่าเทียบเรือตู้สินค้าแห่งใหม่

โซน 3 พัฒนาเมืองท่าเรือกรุงเทพ อยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นแลนด์มาร์กของประเทศ ศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวใหม่ เชื่อมโยงการท่องเที่ยวทางน้ำ และเป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์สาธารณะ รวมถึงพัฒนาอาคารมิกซ์ยูสครบวงจร

Q : แผนพัฒนาฉบับใหม่

ด้วยศักยภาพที่ดินอยู่ติดแม่น้ำ มีเนื้อที่กว่า 2,300 ไร่ รูปแบบการพัฒนาใหม่ที่กำลังรีวิวต้องเป็นโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ เพื่อเป็นแลนด์มาร์กใหม่ของกรุงเทพฯ คล้ายกับโครงการไอคอนสยาม ในเบื้องต้นคาดว่าจะมีโครงการที่อยู่อาศัย โรงแรม สำนักงาน ศูนย์การค้า ดิวตี้ฟรี ท่าเรือครุยส์ และมีรถไฟฟ้าโมโนเรลเชื่อมการเดินทางจากโครงการ ชุมชนใหม่ ที่ถนนโรงฟอกหนัง ไปตามแนวถนนกล้วยน้ำไท ถนนพระรามที่ 4 เชื่อมกับสถานีคลองเตยของรถไฟฟ้าใต้ดิน ระยะทางประมาณ 3 กม.