ปิดดีล BTS เหมาสายสีเขียว ค่าตั๋ว15-65บาท แลกยืดสัมปทานรถไฟฟ้า

ข่าวสัมปทานรถไฟฟ้า BTS 30 ปี

กทม.ปิดดีลเจรจารถไฟฟ้าสายสีเขียว ยืดสัมปทานบีทีเอส 30 ปี นับหนึ่ง 2573-2602 พร้อมจ้างเดินรถต่อขยาย 10 ปี แลกรับหนี้สายสีเขียวแสนล้าน เก็บค่าตั๋วใหม่ 15-65 บาท ผู้ว่าฯ กทม.ย้ำลดค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสายยาก “บิ๊กตู่” กดปุ่มเปิดฟรี “หมอชิต-เซ็นทรัลลาดพร้าว” 9 ส.ค.นี้ รฟม.เด้งรับ “ศักดิ์สยาม” หาช่องลดค่าโดยสารสายสีม่วง เร่งคลอดตั๋วร่วม EMV

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังรัฐบาลชุดที่แล้วมีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (ม.44) เรื่องการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ทั้งเส้นทางหลักช่วงหมอชิต-อ่อนนุช และช่วงสถานีสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน มี บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) รับสัมปทาน

ส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า และช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง ซึ่งกรุงเทพมหานคร (กทม.) ดำเนินการเอง และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ที่ กทม.รับโอนจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งปัจจุบัน กทม.จ้างบีทีเอสเดินรถส่วนต่อขยายให้ถึงปี 2585

เพื่อให้มีมาตรการแก้ปัญหาให้การเดินรถเป็นไปอย่างต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกัน อำนวยความสะดวกในการเดินทางของผู้โดยสาร และมีการกำหนดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม เป็นธรรม ไม่เป็นภาระแก่ประชาชน

โดยให้กระทรวงมหาดไทยตั้งคณะกรรมการ ประกอบด้วยปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน เจรจากับบีทีเอสผู้รับสัมปทานรายเดิม อาทิ หลักเกณฑ์การแบ่งปันผลประโยชน์จากค่าโดยสาร อัตราค่าโดยสาร เป็นต้น

ขยายสัมปทานบีทีเอส 30 ปี

ล่าสุด นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังเจรจากับบีทีเอสมาตั้งแต่ต้นเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปที่เป็นหลักการแล้ว รอลงรายละเอียดเพื่อยกร่างสัญญาส่งให้อัยการสูงสุดตรวจสอบ ก่อนที่จะนำผลเจรจาเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติและเซ็นสัญญาร่วมทุนกับบีทีเอสต่อไป

“มีข้อสรุปจะขยายอายุสัญญาให้บีทีเอสเป็นระยะเวลา 30 ปี โดยแก้ไขในสัญญาเดิม แต่ให้เริ่มนับหนึ่งในปี 2573 หลังสัญญาเดิมสิ้นสุดแล้ว ส่วนค่าโดยสารก็เคาะแล้ว สูงสุดไม่เกิน 65 บาท เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนให้มากที่สุด”

จ้างเดินรถส่วนต่อขยายถึงปี 2572

รายงานข่าวแจ้งว่า ผลเจรจาหลัก ๆ ที่ได้ข้อยุติ ในส่วนของเส้นทางหลักจะขยายอายุสัญญาเดิมให้บีทีเอสออกไปอีก 30 ปี จากปี 2573-2602 สำหรับส่วนต่อขยายทั้งช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง, ตากสิน-บางหว้า, แบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต จะจ้างบีทีเอสเดินรถให้ถึงปี 2572 จากนั้นถึงจะนำไปรวมกับเส้นทางหลักเป็นสัมปทานเดียวกันและเริ่มต้นสัมปทานใหม่

เคาะราคาใหม่ 15-65 บาท

รายงานข่าวกล่าวอีกว่า สำหรับอัตราค่าโดยสารผลการเจรจาจะปรับจากอัตราค่าโดยสารในปัจจุบันที่บีทีเอสเก็บ 16-44 บาท และ กทม.เก็บส่วนต่อขยายเดิม 15 บาท และส่วนต่อขยายหมอชิต-คูคตเก็บ 15-60 บาท และแบริ่ง-สมทุรปราการอีก 15-39 บาท รวมเป็น 158 บาท จะเก็บให้เป็นระบบอัตราค่าโดยสารตามระยะทางตลอดสาย คิดค่าแรกเข้าครั้งเดียว 15 บาท เก็บสูงสุดไม่เกิน 65 บาท และปรับค่าโดยสารขึ้นทุก 2 ปี ตามดัชนีผู้บริโภค (CPI)

“ส่วนต่างค่าโดยสาร กทม.จะรับภาระแทนประชาชนในส่วนของส่วนต่อขยาย เพราะปัจจุบัน กทม.ก็รับภาระอยู่แล้วจากราคา 15 บาทตลอดสายของส่วนต่อขยาย โดยขอจัดสรรงบประมาณของ กทม.เองจ้างบีทีเอสเดินรถให้อยู่แล้วปีละกว่า 1,000 ล้านบาท ทั้งนี้ยืนยันว่าราคาใหม่จะไม่กระทบต่อผู้ใช้บริการเดิม ซึ่งบีทีเอสก็ยอมรับข้อเสนอนี้แล้ว และโครงสร้างราคาใหม่จะเริ่มใช้หลังเซ็นสัญญาเรียบร้อยแล้ว คาดว่าไม่น่าจะเกินเดือน ก.ย.-พ.ย.นี้”

ต่อขยายคูคต-ปากน้ำขาดทุน

รายงานข่าวกล่าวอีกว่า ทั้งนี้การเจรจากับบีทีเอสอยู่บนพื้นฐานการร่วมลงทุน PPP net cost ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562 โดยบีทีเอสจะร่วมลงทุนงานระบบกว่า 3 หมื่นล้านบาท และงานโยธาและค่าเวนคืนของสายสีเขียวส่วนต่อขยายใหม่ 2 ช่วงที่รับจาก รฟม.แทน กทม. วงเงินกว่า 6 หมื่นล้านบาท ทางบีทีเอสจะรับภาระหนี้ไปก่อน

โดยจัดหาแหล่งเงินมาชำระหนี้คืนให้เป็นระยะเวลา 10 ปี เนื่องจาก กทม.ยังไม่มีรายได้ และจากผลการศึกษาส่วนต่อขยายทั้ง 2 ช่วงนี้จะขาดทุน 10 ปี คิดเป็นมูลค่า 21,133 ล้านบาท โดย กทม.จะนำรายได้ที่จะได้รับส่วนแบ่งจากบีทีเอสในปี 2573 และนำทรัพย์สินโครงการที่หมดสัญญาจากบีทีเอสไประดมทุนหาเงินมาชำระคืนภายหลัง

บีทีเอสรับหนี้แสนล้านแทน กทม.

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. BTSC เปิดเผยว่า ได้เจรจากับคณะกรรมการมาหลายรอบแล้ว ขณะนี้ยังไม่มีข้อยุติ 100% คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็ว ๆ นี้ แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้

“การเจรจาครั้งนี้เป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน มูลค่าโครงการ 1 แสนล้านบาท ซึ่งบีทีเอสจะได้การขยายสัมทานเป็นการตอบแทน แต่ก็มีความเสี่ยงด้านผู้โดยสารและราคาเพราะ กทม.ไม่มีการอุดหนุนรายได้ให้ ซึ่งบีทีเอสจะต้องหาเงินมาลงทุนแทน กทม.ก่อนเพื่อชำระหนี้ค่างานโยธา เวนคืนที่ดิน งานระบบ และค่าโดยสารส่วนต่อขยายที่หายไปจากการเก็บอัตราสูงสุด 65 บาท ซึ่งค่าโดยสารที่เรารับข้อเสนอเพราะเห็นว่าสามารถทำได้และเป็นการลดภาระประชาชน ส่วนนโยบายจะให้ลด 15-20 บาทตลอดสายคงจะยาก และรัฐจะต้องมาอุดหนุน ซึ่งปัจจุบันบีทีเอสมีตั๋วเที่ยวที่ค่าโดยสารเฉลี่ยต่อเที่ยวถูกอยู่แล้ว”

นายสุรพงษ์กล่าวอีกว่า หลังได้ข้อยุติกับ กทม.แล้ว ระหว่างที่กระทรวงมหาดไทยนำร่างสัญญาให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบ และเสนอ ครม.อนุมัติ ทางบีทีเอสจะเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) และประชุมผู้ถือหุ้นควบคู่กันไปด้วย คาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 2 เดือนนับจากนี้

รอบิ๊กตู่ส่งซิกนั่งฟรีสายสีเขียว

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า ตั้งแต่เวลา 15.00 น.ของวันที่ 9 ส.ค.นี้จะเปิดบริการสายสีเขียวช่วงหมอชิต-คูคต จำนวน 1 สถานี จากหมอชิต-ห้าแยกลาดพร้าว โดยช่วงเช้าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานในพิธีเปิด โดยจะเปิดให้ใช้บริการฟรีไปจนกว่าการเจรจากับบีทีเอสเรื่องสัมปทานจะแล้วเสร็จ คาดว่าไม่เกินเดือน ก.ย.นี้

ทั้งนี้รอฟังนโยบายจากนายกรัฐมนตรีวันที่ 9 ส.ค.นี้ จะให้ใช้บริการไปถึงเมื่อไหร่ และภายในเดือน ธ.ค.นี้จะเปิดเพิ่มอีก 4 สถานี ได้แก่ สถานีพหลโยธิน 24 สถานีรัชโยธิน สถานีเสนานิคม และสถานี ม.เกษตรศาสตร์ และพร้อมเปิดให้บริการตลอดเส้นทางในเดือน ธ.ค. 2563 เร็วกว่าแผนเดิมที่กำหนดในเดือน ก.ค. 2564

“ค่าโดยสาร กทม.กำลังเจรจากับบีทีเอสเพื่อร่วมลงทุนสายสีเขียวทั้งระบบ มีคณะกรรมการตามคำสั่ง ม.44 เป็นผู้เจรจา จะได้ข้อสรุปในเดือน ส.ค.นี้ กทม.มีกำหนดเพดานค่าโดยสารสูงสุดต้องไม่เกิน 65 บาท และเก็บค่าแรกเข้าครั้งเดียว ซึ่งโครงสร้างราคาใหม่ผู้ใช้บริการจะได้นั่งรถไฟฟ้ามีระยะทางยาวขึ้น แต่เสียค่าโดยสารที่ถูกลง ส่วนนโยบายจะให้ลดค่าโดยสารเหลือ 15-20 บาท ตลอดสายคงจะยาก เพราะรัฐต้องอุดหนุนงบประมาณ ยืนยันว่าราคา 65 บาทนั้นก็ถูกและลดภาระประชาชนอยู่แล้ว”

คีรีหนุนนโยบายลดค่าโดยสาร

นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ กล่าวว่า การเจรจากับ กทม.เรื่องร่วมลงทุนรถไฟฟ้าสายสีเขียว อยู่บนพื้นฐานที่ กทม.ไม่มีอะไรให้เลย นอกจากสัมปทานที่จะหมดสัญญาในอีก 10 ปีข้างหน้า ส่วนหนี้รับมาจาก รฟม.ก็ต้องมารวมเป็นก้อนเดียวกันเพื่อเจรจาและได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งรัฐ เอกชน และประชาชน ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีข้อสรุปทั้งอายุสัมปทานจะกี่ปี แต่ยังไงก็ต้องนับจากสัมปทานเดิมที่จะสิ้นสุดปี 2572 อยู่แล้ว จะนำสัมปทานเดิมไปรวมกับสัมปทานใหม่คงไม่ได้ เพราะเราเป็นผู้ลงทุน 100%

“รัฐมีนโยบายจะลดค่าครองชีพประชาชน ผมก็สนับสนุนนโยบายนี้ เพราะทำธุรกิจก็ต้องช่วยประชาชนด้วย แต่ก็ต้องมานั่งหารือร่วมกัน ให้เอกชนเขาสามารถอยู่ได้” นายคีรีกล่าว

รฟม.เร่งคลอดตั๋วร่วม EMV

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กำลังศึกษาลดค่าโดยสารของสายสีม่วง (เตาปูน-คลองบางไผ่) ตามที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมให้นโยบายให้เสนอภายใน 1 เดือนนี้

ปัจจุบันสายสีม่วงที่เก็บค่าโดยสาร 14-42 บาท มีรายได้ 400 ล้านบาท/ปี ขาดทุนเดือนละ 3 ล้านบาท ซึ่ง รฟม.ต้องของบประมาณจากรัฐมาจ่ายค่าจ้างเดินรถให้ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ประมาณ 1,100 ล้านบาท/ปี หากจะลดค่าโดยสารอีกรัฐจะต้องอุดหนุนงบประมาณเพิ่ม

ส่วนสายสีน้ำเงินที่ BEM รับสัมปทานอยู่ คงจะเจรจาให้ลดราคายาก อย่างไรก็ตามคงจะต้องรายงานข้อเท็จจริงให้รัฐมนตรีทราบ ส่วนจะมีนโยบายยังไง ก็มาพิจารณาเพิ่มภายหลัง ทั้งนี้ รฟม.จะเร่งนำระบบตั๋วร่วม EMV มาใช้ให้ได้ภายใน 6 เดือนนี้ เริ่มจากสายสีม่วงกับสีน้ำเงินก่อน

คลิกอ่านเพิ่มเติม… ดันนโยบายสายฟ้าแลบ ลดค่ารถไฟฟ้า-สปีดรถวิ่ง 120 กม./ชม.