5 ปีทางเลียบเจ้าพระยา ยังไม่ล้ม…แต่ก็ยังไม่เกิด

ยังลุ่ม ๆ ดอน ๆ โครงการ “ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา” โปรเจ็กต์ในฝันของสองพี่น้องบูรพาพยัคฆ์ “บิ๊กตู่-พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” และ “บิ๊กป๊อก-พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา” อยากจะจัดระเบียบน่านน้ำเจ้าพระยาเป็นแลนด์มาร์กใหม่ของประเทศ

โดยร่วมด้วยช่วยกันมาตั้งแต่ “คสช.” เข้ามาเป็นรัฐบาลเมื่อ 5 ปีที่แล้ว มี “กรุงเทพมหานคร” หน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ภายใต้การกำกับของ “บิ๊กป๊อก” เป็นกำลังหนุนส่ง

แนวเส้นทางโครงการจะปักหมุดจาก “สะพานพระราม 3” พาดยาวถึง “สะพานพระนั่งเกล้า” สร้างเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาสองฝั่ง ฝั่งละ 25 กม. รวมระยะทาง 50 กม. ใช้เงินก่อสร้างประมาณ 3 หมื่นล้านบาท

จะนำร่องเฟสแรก “สะพานพระปิ่นเกล้า-สะพานพระราม 7” ระยะทาง 14 กม. มีแผนเริ่มสร้างตั้งแต่ปี 2558 แต่จนถึงนาทีนี้โครงการยังไม่ได้ฤกษ์คิกออฟ หลังมีเสียงคัดค้าน ติดรื้อย้ายชุมชนในพื้นที่และงบประมาณที่จะนำมาก่อสร้าง

หลังคนค้านหนัก กทม.ได้ปรับรูปแบบใหม่และตั้งงบฯก่อสร้างไว้ 8,362 ล้านบาท แยกเป็น 4 สัญญา เฉลี่ยสัญญาละ 3.5 กม. จะใช้ระยะเวลาสร้าง 18 เดือน

ประกอบด้วย ช่วงที่ 1 จากพระราม 7-กรมชลประทาน วงเงิน 1,770 ล้านบาท ช่วงที่ 2 วงเงิน 2,470 ล้านบาท จากกรมชลประทาน-คลองรอบกรุง ช่วงที่ 3 จากสะพานพระราม 7-คลองบางพลัด วงเงิน 2,061 ล้านบาท และช่วงที่ 4 จากคลองบางพลัด-คลองบางยี่ขัน วงเงิน 2,061 ล้านบาท

ความคืบหน้าล่าสุด “ไทวุฒิ ขันแก้ว” รักษาการผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ได้เสนอโครงการขออนุมัติกระทรวงมหาดไทยเพื่อเปิดประมูลจำนวน 2 สัญญา คือ สัญญาที่ 1 จากพระราม 7-กรมชลประทาน และสัญญาที่ 3 จากสะพานพระราม 7-คลองบางพลัด ปัจจุบันมีความพร้อมจะเป็นโครงการนำร่อง

โดยได้รับงบประมาณก่อสร้างและได้รับอนุญาตจากกรมเจ้าท่าให้ก่อสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำตามที่โครงการออกแบบได้ โดยมีเงื่อนไขให้ปรับรูปแบบอาคารศาลาท่าน้ำที่จะปลูกสร้างหน้าวัดจันทรสโมสรและวัดแก้วฟ้าจุฬามณี ซึ่งได้มีการตั้งคณะทำงานร่วมระหว่าง กทม. กรมศิลปากร และกรมเจ้าท่า เพื่อปรับปรุงรูปแบบบริเวณดังกล่าว

รูปแบบโครงการในระยะแรก จะเป็นการก่อสร้างทางเดิน ทางจักรยานริมแม่น้ำเจ้าพระยา ความกว้างประมาณ 10 เมตร ปรับปรุงภูมิทัศน์เขื่อน ท่าเรือ ศาลาท่าน้ำ พื้นที่บริการสาธารณะ และเส้นทางการเข้าถึง ระบบไฟฟ้า ระบบระบายน้ำ และส่วนประกอบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยจะไม่บดบังทัศนียภาพ สิ่งก่อสร้างเดิมริมน้ำ ไม่บดบังภูมิทัศน์และวัฒนธรรมริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการเดินเรือทุกประเภทที่ใช้แม่น้ำเจ้าพระยาในการสัญจร

แต่เนื่องจากมี พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ จึงต้องขออนุมัติการจัดซื้อจัดจ้างใหม่จากเดิมเป็นแบบอีออกชั่นเป็น e-Bidding ทำให้โครงการยังไม่ได้รับอนุมัติ และต้องรอของบประมาณใหม่ เนื่องจากงบประมาณปี 2562 ที่ได้รับจัดสรร 1,300 ล้านบาทใช้ไม่ทันและถูกโยกไปจ่ายค่าเวนคืนสะพานเกียกกายแทน

“ตอนนี้ของบฯปี 2563 ไปแล้ว ยังไม่รู้จะได้รับอนุมัติหรือไม่ ถ้าไม่ได้ก็ต้องรอขอในปี 2564 โครงการนี้ยังไงก็ต้องได้สร้างเพราะได้งบฯเมื่อปี 2560 จำนวน 1,098 ล้านบาท รื้อย้ายชุมชนในพื้นที่ไปแล้ว”

ไม่ว่าโครงการจะล่าช้ามานาน แต่คน กทม.ยังมั่นใจว่าโครงการยังไม่ล้ม แต่จะได้สร้างในปีไหนและภายใน “รัฐบาลประยุทธ์ 2” หรือไม่เท่านั้นเอง !