ยืดเดดไลน์เซ็นสัญญา”รถไฟอีอีซี” 3กระทรวงเร่งรื้อย้าย-ส่งมอบที่ดิน

(แฟ้มภาพ) อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข
“อนุทิน” ขยับเดดไลน์เซ็นสัญญาไฮสปีดเป็น 25 ต.ค.นี้ วงในเผยกลุ่ม ซี.พี.เซ็นแน่ แต่ขอเวลาเคลียร์เอกสาร สัญญา การส่งมอบพื้นที่ กระทรวงมหาดไทย-พลังงาน ถกหน่วยงานสาธารณูปโภค เร่งทำแผนรื้อย้ายส่งมอบที่ดิน ด้านรถไฟฟ้าสายสีส้ม 1.22 แสนล้านวุ่น 10 ต.ค.เคาะรูปแบบลงทุน

หลังนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เดดไลน์วันที่ 15 ต.ค.นี้ ให้กลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร(กลุ่ม CPH) ที่ชนะประมูล 117,227ล้านบาท หากไม่มาจะริบเงินประกันซอง 2,000 ล้านบาท และถูกขึ้นบัญชีดำเป็นผู้ทิ้งงาน

นายศักดิ์สยามกล่าวว่า รัฐบาลยินดีจะร่วมลงทุนกับเอกชน แต่ที่ต้องการให้รัฐร่วมรับผิดชอบมากกว่านี้ ต้องดูเงื่อนไขในทีโออาร์ รัฐทำอะไรได้มากแค่ไหน และทีโออาร์กำหนดให้เอกชนรับผิดชอบความเสี่ยงทั้งหมด

“10 ต.ค. คณะอนุกรรมการดูแลโครงการโครงสร้างพื้นฐานของอีอีซี มีนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เป็นประธาน จะหารือเรื่องการส่งมอบพื้นที่ 72% มีตรงไหนบ้าง ยังมีพื้นที่ไหนเป็นฟันหลอ จะได้วางแผน และมีหน่วยงานรัฐวิสาหกิจใดรับผิดชอบ งบฯดำเนินการเพียงพอหรือไม่ จะได้ขออนุมัติให้”

เลื่อนเซ็นสัญญา 25 ต.ค.

นายอนุทินกล่าวว่า จะเลื่อนเซ็นสัญญาเป็น 25 ต.ค.นี้ ต้องเร่งแต่งตั้งคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) อนุมัติการลงนามในสัญญา เพราะใกล้ครบกำหนดเวลายืนราคา 7 พ.ย.นี้ หากไม่ทันกำหนด ร.ฟ.ท.ส่งหนังสือขยายเวลายืนราคากลางได้ แต่จะริบเงินประกันซองไม่ได้ ขณะนี้การส่งมอบพื้นที่พร้อมส่งมอบ 72% ในทีโออาร์ให้ส่งหนังสือส่งมอบงาน (NTP) ได้ภายใน 1 ปีนับจากเซ็นสัญญา ส่วนการรื้อย้ายสาธารณูปโภคมีกำหนดในทีโออาร์อยู่แล้วว่าใครต้องทำอะไร

“ไม่ได้เร่งเอกชนฝ่ายเดียว รัฐก็เร่งด้วย อย่ากังวลว่าผมจะกลั่นแกล้ง มีแต่เรียกให้มาเซ็นสัญญา ถ้าทุกฝ่ายทำตามทีโออาร์ จะไม่มีคำถามพวกนี้ แล้วเอกชนเองก็ไม่ควรมาขออะไรนอกทีโออาร์ เพราะต้องรู้อยู่แล้วว่ามีเงื่อนไขอะไร ส่วนการช่วยเหลือเอกชน ก็ให้รัฐทำเงื่อนไขตามทีโออาร์ให้ครบแล้ว”

เซ็นสัญญา ต.ค.นี้

แหล่งข่าวจากกลุ่ม ซี.พี.เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จะเซ็นสัญญารถไฟความเร็วสูงแน่นอน แต่การกำหนดวันอยู่ที่ ซี.พี.กำหนด น่าจะเป็นภายในเดือน ต.ค.นี้ โครงการใหญ่ ต้องเตรียมเอกสารจำนวนมาก แบงก์การันตี การจดทะเบียนตั้งบริษัทใหม่ เอกสารการส่งมอบพื้นที่ เป็นต้น

“แผนก่อสร้างส่งให้การรถไฟฯแล้ว หลังเซ็นสัญญาต้องใช้เวลาเตรียมพื้นที่ ออกแบบรายละเอียด จะใช้เวลา 1 ปี ถึงจะเริ่มต้นโครงการ ที่ต้องใช้เวลาพิจารณาสัญญานาน เพราะโครงการใหญ่ ใช้เงินลงทุนสูงและความเสี่ยงสูง หากระหว่างก่อสร้างรัฐมอบพื้นที่ให้ไม่ได้ จะสร้างไม่เสร็จ 5 ปี จะมีต้นทุนดอกเบี้ย จึงต้องการความชัดเจนเรื่องส่งมอบพื้นที่ให้ชัด ๆ เพราะใน 5 ปีแรกมีแต่รายจ่าย ไม่มีรายรับ กว่าจะได้รับเงินจากรัฐก็ปีที่ 6”

เร่งเคลียร์พื้นที่ให้ไฮสปีด

นายสุจิตต์ เชาว์ศิริกุล รองผู้ว่าการกลุ่มบริหารรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. เปิดเผยว่าได้หารือหน่วยงานเจ้าของระบบสาธารณูปโภคที่กีดขวางเส้นทางรถไฟความเร็วสูงทำแผนรื้อย้ายให้เสร็จก่อนเซ็นสัญญา ประกอบด้วย 1.ท่อน้ำมันของ บจ.ขนส่งน้ำมันทางท่อ (FPT) 2 จุดช่วงขนานกับแนวเส้นทางบริเวณคลองแห้ง 3 กม. และบริเวณโค้ง ถ.พระราม 6

2.ท่อน้ำมันของ บจ.ท่อส่งปิโตรเลียมไทย ขนานกับแนวเส้นทาง ช่วงลาดกระบัง กม.68 มุ่งหน้าไปอู่ตะเภา ยาว 40 กม. 3.ท่อก๊าซของ บมจ.ปตท. ทับแนวช่วงหน้าวัดเสมียนนารี-สนามบินดอนเมือง ระยะทาง 11 กม.มีสายไฟฟ้าแรงสูงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กระจายตลอดแนวเส้นทาง 16 จุด การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) อีก 11 จุด ส่วนของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) มี 2 จุด

นอกนั้นมีของสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร บริเวณคลองสามเสนและท่อระบายน้ำขนาดใหญ่อีก 1 จุด ทับแนวเส้นทาง 1 จุด และเสาโทรเลขของร.ฟ.ท. ตั้งเป็นแนวยาว 77 กม. บริเวณลาดกระบัง

ทั้งนี้ ร.ฟ.ท.ระบุทั้งโครงการจะใช้พื้นที่ก่อสร้าง 3,571 ไร่ รวมเวนคืน 850 ไร่ เป็น 4,421 ไร่ พร้อมส่งมอบ 3,151 ไร่ มีพื้นที่อุปสรรคบุกรุก 210 ไร่ บุกรุก 513 ราย พื้นที่เช่า 83 สัญญา 210 ไร่ ส่วนสถานีมักกะสันส่งมอบได้ 100 ไร่ ศรีราชา 25 ไร่ ใช้เวลาส่งมอบ 1-2 ปี

พลังงานร่วมมือเต็มที่

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ได้ประชุมกับ ปตท.และ กฟผ. จะดำเนินการย้ายท่อก๊าซ สายไฟ ที่อยู่ในเส้นทางแล้วจะให้เสร็จภายใน 1 ปี ตามมติบอร์ดอีอีซี

10 ต.ค.เคาะลงทุนสายสีส้ม

ด้านแผนการลงทุนรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงตะวันตก ศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ ที่จะเปิดให้เอกชนร่วม PPP net cost 30 ปี ทั้งก่อสร้างและเดินรถตลอดสาย วงเงิน 122,041 ล้านบาท โดยรัฐจ่ายค่าลงทุนให้เอกชนไม่เกินค่างานโยธา นายอนุทินกล่าวว่า ได้หารือร่วมกับนายศักดิ์สยามและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาข้อสรุป ก่อนเสนอให้ ครม.อนุมัติ ขณะนี้ยังไม่ข้อสรุปรูปแบบการลงทุน

โครงการนี้ผ่านบอร์ด PPP แล้ว พร้อมเสนอ ครม.อนุมัติ แต่เมื่อมีรัฐบาลใหม่ นายศักดิ์สยามต้องการนำโครงการมาดูอีกครั้ง เพราะการแยกงานโยธา วงเงินกว่า 90,000 ล้านบาท ให้รัฐทำเอง เอกชนลงทุนระบบเดินรถ จะเป็นแนวทางที่ดีกว่า ประหยัดเงิน 10,000 ล้านบาท แต่กระทรวงการคลังคัดค้าน เนื่องจากโครงการนี้ผ่าน PPP แล้ว ควรเสนอให้ ครม.เห็นชอบ

เมื่อมีความเห็นแตกต่างกัน จึงต้องนำทั้ง 2 แนวทางมาดูและสรุปตัวเลขให้ชัดเจน ที่ผ่านมามีเพียงตัวเลขผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ (EIRR) มายืนยันจึงให้ไปปรับตัวเลขและยึดฐานให้ตรงกัน เพื่อให้ได้แนวทางการลงทุนที่ดีที่สุดมารายงานวันที่ 10 ต.ค.นี้ ก่อนเสนอ ครม.เศรษฐกิจ 11 ต.ค.นี้