ศ.ดร.อมร พิมานมาศ Thai BIM ก้าวสำคัญวงการก่อสร้างไทย

สัมภาษณ์พิเศษ

ก่อตั้งสำเร็จเมื่อกลางปี 2562 “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “ศ.ดร.อมร พิมานมาศ” เลขาธิการสภาวิศวกร ในฐานะนายกสมาคมแบบจำลองสารสนเทศอาคาร (Thai BIM Association) คนแรก เทคโนโลยีใหม่ที่จะเข้ามาพลิกโฉมธุรกิจการก่อสร้างของเมืองไทยอย่างสิ้นเชิงนับจากนี้

Q : ความสำคัญของ BIM

เริ่มต้นจากเราทำ BIM Club เพราะการมีสมาคมเกิดขึ้นมักเกิดจากการรวมตัวของกลุ่มคนสนใจเรื่องเดียวกัน คือ วิศวะ สถาปนิก ต่อมาเทคโนโลยีการก่อสร้างอาคารเริ่มเข้ามามากขึ้น การเขียนแบบสำคัญเพราะใช้สื่อสาร 3 ฝ่าย คือ เจ้าของ วิศวกร ผู้รับเหมาก่อสร้าง

ที่ผ่านมา ยุคแรก ๆ เป็นแบบ manual พิมพ์เขียวโบราณ แต่เนื่องจากการเขียนแบบสำคัญมาก หลักสูตร สภาวิชาชีพ สภาวิศวกร สภาสถาปนิก ต้องเรียนคอมพิวเตอร์ ครีเอเต็ด ดีไซน์ สมัยเรียนผมพกไม้ที โต๊ะเขียนแบบ ปัจจุบันไม่มีใช้แล้วเพราะคอมพิวเตอร์เข้ามามีบทบาท

แบบเดิมทำให้มีปัญหา 2 มิติ คือ โครงสร้าง ไฟฟ้า ระบบเครื่องกล สุขาภิบาล สถาปัตยกรรม ต่างคนต่างถือแบบตัวเอง เวลาแก้แบบไม่มีใครรู้เรื่องเลย เช่น แก้ท่อ ต้องเปลี่ยนที่ระบบด้วย จะแก้ไขเดี่ยว ๆ ไม่ได้ ทำให้แบบสองมิติวิศวกรดูรู้เรื่องคนเดียว เจ้าของบ้านไม่รู้เรื่อง

AutoCAD หรือแบบ 2 มิติ อยู่นาน 30-40 ปี dominate ธุรกิจการก่อสร้างทั้งวงการ แต่ก็มีปัญหามากมาย เช่น เจ้าของบ้านนึกภาพไม่ออก สร้างเสร็จแล้วทุบสร้างใหม่ เป็น waste แต่ถ้าเห็นภาพแต่แรกก็จบ

ยุคนี้เทคโนโลยีเป็นยุคของ BIM-buildng information modeling เทคโนโลยีก่อสร้าง 3 มิติ เดิมแค่เขียนหลอดไฟ เขียนรหัสด้วยวงกลม แต่ BIM บอกได้ถึงความเข้มแสงสว่างแต่ละหลอด เราวิเคราะห์ตัวอาคารต่อได้ว่าใส่ไปเท่านี้ แสงไฟพอไหม ทดลองให้เห็นได้ เจ้าของบ้านหรือเจ้าของอาคารเห็น ชอบไม่ชอบสามารถใส่ไฟเพิ่มหรือลดได้ทันที นี่คือ BIM ในระบบ 3 มิติ

ข้อดี เปิดโอกาสให้เราจำลองอาคารในรูปแบบ 3 มิติโดยตรง โต๊ะคือโต๊ะ คานคือคาน ทุกปาร์ตี้เกี่ยวข้อง สถาปนิก วิศวกร ทำงานบนแพลตฟอร์มเดียวกัน เช่น ผมวาดคานหนึ่งตัว คนเขียนแบบเครื่องกลเดินท่อ ถ้าท่อชนคานก็วาดต่อไม่ได้

ทำให้เราทุกคนมีพื้นที่ทำงานร่วมกัน นี่คือข้อดี ลองนึกดู ถ้าเราทำอาคารด้วยระบบ BIM มี experience เปิดประตูได้ แดดเช้าแดดบ่าย เห็นภาพจำลองตั้งแต่แรก ประสบการณ์แบบนี้เราไม่เคยมีมาก่อนในระบบ 2 มิติ

Q : ทราบว่ามีมากกว่า 3 มิติ

BIM มีมิติที่ 4-5-6 โดย 3 มิติ คือ กว้าง ยาว ลึก มิติที่ 4 คือเวลา เอาไปทำตารางในการก่อสร้าง construction simulation มิติที่ 5 เรื่องเงิน BIM สามารถถอดแบบได้หมด BOQ หลอกไม่ได้ นั่นคือใช้โมเดลนี้กดแบบออกมา ฟิกซ์ออกมาเลย หลอกไม่ได้

ซึ่งงานประมูลภาครัฐจะแก้สามารถเข้ามาแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นได้ เพราะมีความโปร่งใสมาก เทียบกับแบบ 2 มิติที่การประเมินวัสดุ การออกแบบยังดิ้นได้ ดังนั้น คำว่าโปร่งใสของ BIM คือ ระบบโปร่งใสเรื่องเงิน

มิติที่ 6 ก่อสร้างเสร็จแล้ว BIM เป็นระบบโครงสร้างสถาปัตยกรรม สามารถไปอินเตอร์เฟซทำงานร่วมกับระบบบัญชี การเงิน ตัดเงินได้ผ่านระบบ SAP ทำให้ระบบวัสดุคงคลัง ทำให้บริหารอาคารตลอดชั่วอายุอาคารได้

BIM จึงไม่ใช่แค่ 3D (3 มิติ) แต่คือ 6D (6 มิติ) นี่คือนำมาซึ่งความตื่นเต้นให้กับอุตสาหกรรมก่อสร้างอย่างมาก เช่น รถไฟฟ้ามีการทำ BIM สามารถซิมูเลตโฟลว์ทิศทาง คนที่มาใช้บริการ จุดไหน คนไหนเดินทางไปไหน แม้กระทั่งถ้าไฟไหม้ทิศทางควันจะไหลยังไง ควรติดตั้งจุดดับเพลิงยังไง

Q : ไทยอยู่อันดับไหนของ BIM

BIM เข้าตลาดเมืองไทยสิบกว่าปีแล้ว แต่เรายังขยับช้า ในญี่ปุ่นรากฐาน คือ CIM-construction information modeling ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกัน สำหรับภารกิจขับเคลื่อนเพิ่งเริ่มนับหนึ่ง ถ้าเราทำช้าจะไม่ทันเพื่อนบ้าน ตอนนี้สิงคโปร์ไปแล้ว เวียดนามไปแล้ว ประเทศไทยถ้ายังช้าอยู่จะเสียศักยภาพในการแข่งขัน

ลองคิดดู สิงคโปร์ เวียดนามทำ BIM แต่ไทยยังเป็นระบบ 2 มิติ แค่นี้ในตลาดแข่งขันประมูลงานต่างประเทศเราก็จบแล้วเพราะฉะนั้น วันนี้และเดี๋ยวนี้ก็เลยคิดว่า BIM เป็นเรื่องจำเป็น

 


คลิกอ่าน >>> แนะรัฐ-เอกชนประหยัดงบก่อสร้าง 20% BIM ลดสูญเสียวัสดุ-งาน-เงิน SCG ยืนยันทำได้จริง