แนะรัฐ-เอกชนประหยัดงบก่อสร้าง 20% BIM ลดสูญเสียวัสดุ-งาน-เงิน SCG ยืนยันทำได้จริง

เปิดตัวสมาคม Thai BIM ตั้งเป้ายกระดับ-ลดการสูญเสียในไซต์ก่อสร้างภาครัฐและเอกชน 10-25% เสนอรัฐบาลขอการสนับสนุนสิทธิประโยชน์ภาษี-เพิ่มโบนัส FAR-ผลักดันมหา’ลัย ตั้งหลักสูตรสอนโดยเฉพาะเพื่อผลิตบุคลากรป้อนความต้องการใช้ เอสซีจีซุ่มตั้ง CPAC Solution Center เจาะลูกค้าภูมิภาคทั่วไป คอนเฟิร์ม BIM ช่วยเจ้าของบ้าน-เจ้าของโครงการประหยัดได้จริง 15-20%

ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมแบบจำลองสารสนเทศอาคาร (Thai BIM Association) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สมาคมก่อตั้งสำเร็จเมื่อกลางปี 2562 วิสัยทัศน์ต้องการขับเคลื่อนให้วงการอุตสาหกรรมก่อสร้างของไทยใช้เทคโนโลยี BIM-building information modeling ทั้งในงานก่อสร้างโครงการภาครัฐและเอกชน

ขุมพลังเครือข่ายพันธมิตร

ทั้งนี้ Thai BIM เกิดจากความร่วมมือและการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันจากกลุ่มวิชาชีพเสาหลักของวงการ ได้แก่ สภาสถาปนิก สภาวิศวกร สภาคณบดีสถาปัตยกรรมศาสตร์ สภาคณบดีวิศวกรรมศาสตร์ ในขณะที่ได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน โดยมีบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ร่วมสนับสนุนในการก่อตั้งสมาคมตั้งแต่เบื้องต้น

สมาคมอยู่ระหว่างแสวงความร่วมมือกับทุกภาคส่วน มีเป้าหมายเพื่อยกระดับไทยให้เป็นประเทศผู้ใช้ BIM ทั่วทั้งวงการ

“Thai BIM มีจุดตั้งต้นที่ดี นั่นคือเราได้ทั้งโปรเฟสชันนอลและอะคาเดมิกเป็นพันธมิตร เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ทุกฝ่ายต้องเห็นด้วยจึงจะทำให้อุตสาหกรรมก่อสร้างพัฒนาได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ อย่างกรณีบริษัทอนันดาฯ ซึ่งมีไซต์ก่อสร้างจำนวนมากในแต่ละปี มีการกำหนดไว้เลยว่า ใครไม่ทำ BIM อนันดาฯก็ไม่ทำงานด้วย”

ภารกิจเขยื้อนภูเขา

ศ.ดร.อมรกล่าวว่า ภารกิจ Thai BIM เร่งสร้างมาตรฐาน BIM ขึ้นมาเป็นมาตรฐานกลาง เพราะหากไม่รับบทบาทในเรื่องนี้จะกลายเป็นว่าผู้ประกอบการให้ความสำคัญ BIM แต่รูปแบบจะเป็นต่างคนต่างใช้ ดังนั้น การก่อสร้าง 100 ตึก จะมี 100 BIM ซึ่งในทางปฏิบัติควรมีมาตรฐานเดียวกัน

เหตุผลเพื่อให้นักบริหารเมือง หรือนักพัฒนาเมือง สามารถนำข้อมูลไปต่อยอดได้ รวมทั้งการมีมาตรฐานกลางจะทำให้การออกแบบเมืองใหม่ หรือสมาร์ทซิตี้ มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หรืออย่างน้อยในการปรับเปลี่ยน แก้แบบ การบำรุงรักษา สามารถทำได้ราบรื่นไม่ติดขัด

“เวลาเราพูดถึงสมาร์ทซิตี้ ต้องมีอินฟราสตรักเจอร์ด้วย BIM เป็นดิจิทัลบลูพรินต์ของสมาร์ทซิตี้ เพื่อให้มีข้อมูลวิเคราะห์การจราจรทางบก น้ำ อากาศ ถ้าเรามีมาตรฐาน BIM และทุกตึกทำตามมาตรฐานเหมือนกัน จะปลั๊กอินได้บนมาตรฐานเดียวกัน การวางแผนเมืองเริ่มจากจุดเล็ก ๆ แล้วขยายเป็นเมืองใหญ่”

อุปสรรคปัญหาของการผลักดันเทคโนโลยี BIM มีดังนี้ 1.ซอฟต์แวร์ถูกผูกขาดเพียงไม่กี่ราย ทำให้มีค่า scription rate ค่าใช้จ่ายรายปีตกปีละหลายหมื่นบาท จึงเป็นภาระต้นทุนกับผู้ใช้รายกลาง-รายเล็ก 2.บุคลากรที่ทำ BIM ได้มีจำนวนจำกัด ถือเป็นปัญหาคอขวดที่ต้องเร่งแก้ไข

และ 3.ภาคการศึกษายังอยู่ในยุคครอบงำโดยระบบ 2 มิติ เพราะหลักสูตรที่สภาวิศวกรและสภาสถาปนิกจะรับรองนั้นต้องมีการเขียนโปรแกรม แต่สถานะปัจจุบันทั้ง 2 สภา ยังไม่ได้บรรจุหลักสูตร BIM เข้ามา ดังนั้น จึงต้องใช้เวลาพอสมควร เนื่องจากมหาวิทยาลัยต้องมีการปรับเปลี่ยนหลักสูตรรองรับด้วย

สำหรับการเริ่มต้นในเมืองไทย ทาง Thai BIM มองไว้ดังนี้ 1.ต้องมี minimum data requirement ให้เป็นมาตรฐานกลาง ส่วนใครจะมีมากกว่าหรือน้อยกว่านี้ขึ้นกับเจ้าของโครงการจะนำไปปรับใช้ ซึ่งยอมรับว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก แต่ถ้าทำสำเร็จจะทำให้ประเทศไทยมีมาตรฐานการก่อสร้างที่คุยกันรู้เรื่องหมด

2.ควบคู่กับการทำงานในประเทศก็คือ ต้องสร้าง “ภาษาช่าง” เพื่อสื่อสารไทยกับต่างประเทศ Thai BIM มีนโยบายก่อตั้ง Regional Association

โดยเริ่มเข้าไปหารือกับ Depa (สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล) ในฐานะหน่วยงานรัฐ เป้าหมายต้องการผลักดันให้การใช้ BIM เป็นวาระระดับอาเซียนด้วย

รัฐ-เอกชนประหยัดทันที 10-25%

ในด้านการสนับสนุนจากรัฐบาล นายกสมาคม Thai BIM กล่าวว่า ต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนหลายด้านด้วยกัน เริ่มจาก 1.ออกข้อกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษี อาจลดหย่อนภาษีให้สำหรับผู้ใช้ BIM 2.การขออนุญาตสร้างตึกสูงบนพื้นที่มีข้อจำกัด FAR-floor area ratio รัฐอาจเพิ่ม FAR มากขึ้น

3.การประมูลภาครัฐ สนับสนุนด้วยการออก TOR สำหรับผู้ประมูลถ้าใช้ BIM จะมี extra bonus score ให้ และ 4.เพิ่มการซัพพอร์ตในด้านการอบรมพัฒนาบุคลากร ทั้งหมดนี้เพื่อช่วยยกระดับให้การใช้ BIM เป็นที่แพร่หลายได้ภายใน 5 ปี

“ทุกวันนี้เปรียบเทียบไซต์ก่อสร้างที่ทำ BIM กับไม่ทำ BIM ผมค่อนข้างมั่นใจเป็นอย่างมากว่าโครงการที่เริ่มใช้ BIM ตั้งแต่แรก สามารถลดการสูญเสียทั้งวัสดุ เวลา และงบประมาณได้ 10-25% หากลองคำนวณดูมูลค่างานประมูลภาครัฐปีละ 1 ล้านล้านบาท หากลดการสูญเสียได้อย่างต่ำ 10% เทียบเท่ากับมูลค่า 1 แสนล้านบาท ยังไม่นับการสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจในภาพรวมอื่น ๆ อีกต่างหาก” ศ.ดร.อมรกล่าว

เอสซีจีผุดโมเดลธุรกิจ BIM

ด้านนายชนะ ภูมี รองกรรมการผู้จัดการธุรกิจโซลูชั่นผลิตภัณฑ์ซีเมนต์และก่อสร้าง เอสซีจี กล่าวว่า เอสซีจีนำเสนอกลยุทธ์การใช้ BIM เพื่อยกระดับวงการก่อสร้างของไทย โดยเฉพาะในภูมิภาคต่างจังหวัด โดยจัดตั้ง CPAC Solution Center ขึ้นมา ตามแผนคาดว่ามีครบ 9 สาขาในเชียงใหม่ ขอนแก่น พิษณุโลก ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี อุบลราชธานี พัทยา นนทบุรี นครปฐม

จุดเด่นช่วยลดของเสียจากการเผื่อเหลือเผื่อขาดในการใช้วัสดุก่อสร้าง ประหยัดพื้นที่จัดเก็บ ประหยัดเวลาและต้นทุนก่อสร้าง รวมถึงนำวัสดุเหลือใช้ เช่น เศษคอนกรีต หมุนเวียนกลับมาใช้เป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตอีกครั้ง ทำให้ของเสียกลายมาเป็นประโยชน์ที่เกิดกับทุกฝ่าย (from waste to wealth)

จุดเด่น BIM จะเข้ามาช่วยลดการทุบ-รื้อระหว่างการก่อสร้าง ที่เจ้าของ-วิศวกร-สถาปนิกอาจเห็นไม่ตรงกัน โดยสามารถลดการสูญเสีย 20% ทั้งด้านเวลาและวัสดุ (ดูกราฟิกประกอบ)

“จุดเน้นคือเจ้าของบ้าน หรือเจ้าของโครงการจ่ายเท่าเดิม รายได้ CPAC Solution Center มาจากส่วนต่างที่เราเข้าไปลดการสูญเสีย ซึ่งปกติพิสูจน์มาแล้วว่า ลดได้ 15-20%”

นายชนะกล่าวตอนท้ายว่า การปรับกลยุทธ์ทาง CPAC อยู่ในตลาดวัสดุก่อสร้างอยู่แล้ว ซึ่งเอสซีจี ซีเมนต์มีรายได้ปีละ 7 หมื่นกว่าล้านบาท ในขณะที่การเข้าสู่ธุรกิจโดยชูเทคโนโลยี BIM หมายถึงเอสซีจีกำลังเข้าสู่ขนาดตลาดที่มีมูลค่า 1.4 ล้านล้านบาท

 

คลิกอ่าน >>> ศ.ดร.อมร พิมานมาศ Thai BIM ก้าวสำคัญวงการก่อสร้างไทย