เปิดไส้ในภาษีที่ดินอุ้มเจ้าสัว ชาวบ้านอ่วมจ่ายเพิ่ม10เท่า

ผลศึกษาผลกระทบภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ กรรมาธิการการกฎหมายการยุติธรรมฯ ชี้ปมไม่มีความชัดเจน-ไม่เป็นธรรม เปิดข้อมูลเด็ดเคสตัวอย่างการประเมินจัดเก็บภาษีที่ดินในพื้นที่ กทม.ทั้ง 50 เขต-เทศบาลแหลมฉบัง ชาวบ้านช็อกเจอโขกภาษีเพิ่ม 10 เท่าตัว บิ๊กธุรกิจตีปีกภาระภาษีที่ต้องจ่ายให้รัฐลดฮวบลงจากเดิม 10-100% ท้องถิ่น 7.8 พันแห่งทั่วประเทศรายได้วูบหนัก

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า แม้รัฐบาลจะประกาศเลื่อนการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างออกไป จากเดิมที่ผู้ถือครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างต้องยื่นรายการชำระภาษีภายในเดือน เม.ย. เป็นภายในเดือน ส.ค. 2563 แต่ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ ที่นำมาบังคับใช้แทน พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 และ พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 ยังถูกจับตามองและวิพากษ์วิจารณ์หลากหลายประเด็น

ล่าสุดคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน เผยรายงานผลการศึกษา “ปัญหาและผลกระทบจากการบังคับใช้ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562” ที่สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบ

ชี้ กม.ภาษีที่ดินไม่มีความชัดเจน

รายงานฉบับดังกล่าวระบุว่า ประเด็นปัญหาความไม่ชัดเจนของบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ เห็นได้จากต้องอาศัยการออกกฎหมายลำดับรองจำนวนมากเพื่อให้เกิดความชัดเจนขึ้น ทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่เป็นไปด้วยความยากลำบาก อาทิ ความไม่ชัดเจนในการกำหนดนิยามคำว่า “สิ่งปลูกสร้าง” ซึ่งจะส่งผลให้มีข้อโต้แย้งตามมาระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชนผู้เสียภาษี

ชาวบ้านเสียภาษีเพิ่ม 10 เท่า

นอกจากนี้ การคำนวณภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม และมีผลกระทบต่อประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รวมทั้งผู้ประกอบการ โดยยกตัวอย่างผลกระทบจากการประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เทียบกับการประเมินภาษีตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนฯ และ พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ฯ โดยอ้างข้อมูลซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่เทศบาลนครแหลมฉบัง ได้จัดทำข้อมูลประมาณการเปรียบเทียบภาษีของประชาชนที่มีที่ดินอยู่ในเขตเทศบาลนครแหลมฉบัง 2 ราย

ได้แก่ นางบุญเยี่ยม สถานนท์ชัย ประเภทที่ดินรกร้างว่างเปล่า ภาระภาษีบำรุงท้องที่ปี 2562 จำนวน 1,041 บาท ภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี 2563 จำนวน 13,462 บาท นายปัญญา วิญญาสุข ที่ดินเกษตรกรรม/ที่ว่างเปล่า/ที่จอดรถ ภาระภาษีโรงเรือนและที่ดินปี 2562 จำนวน 1,171 บาท ภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี 2563 จำนวน 16,199 บาท ชี้ให้เห็นว่าประชาชนมีภาระภาษีเพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่าตัว

กทม.-อบต.-เทศบาลรายได้วูบ

อปท. 7,852 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (กทม.) เมืองพัทยา องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เทศบาล จะได้รับผลกระทบเนื่องจากรายได้จากการจัดเก็บภาษีจะลดลงอย่างมาก ซึ่งจะส่งผลกระทบแผนงาน โครงการสาธารณูปโภค สาธารณูปการของท้องถิ่นทั้งระบบ ตัวอย่าง เช่น การจัดเก็บรายได้ของ กทม. ที่จัดเก็บจากกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์มิลเลียนแนร์ ภาระภาษีปี 2562 จำนวน 26 ล้านบาท ภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี 2563 จำนวน 3.9 ล้านบาท บจ.สยามจตุจักร์ ปี 2562 เสียภาษี 13 ล้านบาท ปี 2563 จะเสียภาษีที่ดินฯ 4.3 ล้านบาท เทศบาลแหลมฉบัง จัดเก็บภาษีท่าเทียบเรือ ซี 3 ภาระภาษีปี 2562 จำนวน 60.6 ล้านบาท ภาระภาษีที่ดินฯ ปี 2563 จำนวน 3 ล้านบาทห้างฮาร์เบอร์ ปี 2562 ภาษี 7.3 ล้านบาทปี 2563 ภาษีที่ดินฯ 1.5 ล้านบาท เป็นต้น

ภาษีลดฮวบ บิ๊กธุรกิจตีปีก

สำหรับผู้ประกอบการส่วนใหญ่ภาระภาษีลดน้อยลง ตั้งแต่ 10% จนถึงกว่า 100 % โดยคณะกรรมาธิการอ้างอิงข้อมูลการประเมินภาษีของสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ใน กทม. อาทิ เขตจตุจักร บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา ปี 2562 เสียภาษี 43.9 ล้านบาท ภาษีปี 2563 จำนวน 8.7 ล้านบาท บจ.รัชโยธิน เรียลตี้ (เมเจอร์) ภาษีปี 2562 จำนวน 5.5 ล้านบาท ภาษีปี 2563 จำนวน 2.4 ล้านบาท เขตดอนเมือง กรมธนารักษ์ โดยตลาดใหม่ดอนเมือง ปี 2562 ภาษี 2 ล้านบาท ปี 2563 จำนวน 1.4 ล้านบาท เขตดินแดง บจ.เอไอเอ ปี 2562 ภาษี 39.6 ล้านบาท ปี 2563 ภาษี 10 ล้านบาท เขตดุสิต บจ.สุพรีมสามเสน ภาษีปี 2562 จำนวน 7.3 ล้านบาทปี 2563จำนวน 3.5 ล้านบาท โรงพยาบาลมิชชั่น ปี 2562 ภาษี 4.9 ล้านบาท ปี 2563 ภาษี 4 ล้านบาท เขตตลิ่งชัน บจ.สุวรรณราชพฤกษ์ ปาร์ค ภาษีปี 2562 จำนวน 4.3 ล้านบาท ปี 2563 ภาษีที่ดิน 2 ล้านบาท

เขตธนบุรี ปี 2562 บมจ.บิ๊กซีซุปเปอร์เซ็นเตอร์ สาขาดาวคะนอง ภาษี 4.3 ล้านบาท ปี 2563 ภาษี 3 ล้านบาท บจก.เจ้าพระยารีสอร์ท ปี 2562 ภาษี 11.8 ล้านบาท ปี 2563 ภาษี 10 ล้านบาท เขตบางกอกน้อย บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา ภาษีปี 2562 จำนวน 33.1 ล้านบาท ปี 2563ภาษี 18.7 ล้านบาท เขตบางกะปิ ภาษีปี 2562 จำนวน 14.6 ล้านบาท ปี 2562 จำนวน 3.7 ล้านบาท เขตบางขุนเทียน ปี 2562 ภาษี 13 ล้านบาท ปี 2563 ภาษี 2 ล้านบาท เขตบางเขน บจก.ซีซี เซ็นเตอร์ดีพาร์ทเมนสโตร์ (บิ๊กซี สาขาสะพานใหม่) ภาษีปี 2562 จำนวน 10.5 ล้านบาท ปี 2563 ภาษี 1.6 ล้านบาท เขตบางแค บมจ.บางกอก เชน ฮอสปิทอล ปี 2562 ภาษี 5.9 ล้านบาท ปี 2563 ภาษี 4.95 แสนบาท เขตบางซื่อ บจก.รวมนครก่อสร้าง (ประเทศไทย) ภาษีปี 2562 จำนวน 11.5 ล้านบาท ปี 2563ภาษี 1.5 ล้านบาท เขตบางรัก บจก.ยูไนเต็ดเซ็นเตอร์ ปี 2562 ภาษี 52 ล้านบาทปี 2563 ภาษี 9.7 ล้านบาท เป็นต้น

ภาษีใหม่ท้องถิ่นรายได้ลดฮวบ

นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการปฏิรูป ทบทวน และแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า คณะอนุฯ กมธ.ได้ศึกษาเรื่อง “ปัญหาและผลกระทบจากการบังคับใช้พระราชบัญญัติ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562” พบว่า แต่ก่อนเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่กรณีห้างสรรพสินค้า มีคนเช่าพื้นที่เป็นตารางเมตรจะเก็บภาษีจากค่าเช่าแต่เมื่อยกเลิกภาษีโรงเรือนและที่ดินมาใช้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง การคำนวณภาษีจากค่าเช่าพื้นที่ต่าง ๆ ทำไม่ได้อีกต่อไปทำให้รายได้ท้องถิ่นลดลงมหาศาล