รถไฟฟ้าสายสีส้ม “ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี” สร้างคืบ 56.86% เปิดใช้ปี’67

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า วันที่ 12 มี.ค.2563ทางการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ได้มีการเปิดเดินเครื่องหัวเจาะอุโมงค์ที่ 3 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เพื่อใช้ขุดเจาะจากสถานีหัวหมากไปรามคำแแหง ซึ่งเป็นเนื้องานในส่วนสัญญาที่ 2 ช่วงรามคำแหง 12 – หัวหมาก ที่มีกลุ่มกิจการร่วมค้า ซีเคเอสที (บมจ.ซิโนไทย – บมจ.ช.การช่าง) เป็นผู้รับจ้าง คาดว่าการขุดเจาะจะใช้เวลาไปถึงเดือน ก.ค.นี้

สำหรับภาพรวมของสายสีส้มขณะนี้คืบหน้าแล้ว 56.86% เร็วกว่าแผน 2.57% คาดว่างานโยธาจะเสร็จสิ้นประมาณปี 2565 ส่วนการเปิดบริการเต็มรูปแบบคาดว่าจะมีขึ้นในปี 2567 โดยในช่วงเปิดให้บริการในปีแรกจะมีผู้โดยสารรวม 400,000 คนเที่ยว/วัน (รวมทั้งสองฝั่ง) ซึ่งคาดว่าจะช่วยประหยัดน้ำมันไปได้ 24,000 ล้านบาท/ปี ประหยัดเวลาไปได้ 53,000 ล้านบาท/ปี และสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายด้านสิ่งแวดล้อมลงได้ 10,000 ล้านบาท/ปี

“ขณะที่การเปิดประมูลฝั่งตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม – บางขุนนนท์ ระยะทาง 35.9 กม วงเงิน 142,789 ล้านบาท คาดว่าในเดือน ต.ค.นี้ จะเปิดประมูลหาผู้รับจ้างได้”

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า สัญญาทึ่2ของสายสีส้มโดยกิจการร่วมค้า ซีเคเอสที ผู้รับจ้างงานโยธาอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงรามคำแหง 12 – หัวหมาก พร้อมเดินเครื่องหัวเจาะเพื่อก่อสร้างอุโมงค์รถไฟฟ้าตัวที่ 3 ฝั่งขาเข้า จากสถานีหัวหมากไปยังสถานีรามคำแหง บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนก.ค.2563

โดยที่ผ่านมา รฟม. ได้เดินเครื่องหัวเจาะ ตัวที่ 1 และ 2 ไปแล้วเมื่อเดือนพ.ค. 2562 โดยหัวเจาะอุโมงค์ ตัวที่ 1 อยู่ระหว่างขุดเจาะจากสถานี รฟม. ไปยังสถานีรามคำแหง คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมิ.ย. 2563 และหัวเจาะอุโมงค์ ตัวที่ 2 อยู่ระหว่างขุดเจาะจากสถานี รฟม. ไปยังสถานีหัวหมาก ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนเม.ย.2564

นอกจากนี้ รฟม. ยังมีแผนเดินเครื่องหัวเจาะ ตัวที่ 4 ในเดือนพ.ค.2563 โดยบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธาอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน สัญญาที่ 3 ช่วงหัวหมาก – คลองบ้านม้า ซึ่งเป็นอุโมงค์ที่ 2 จากสถานีคลองบ้านม้าไปยังสถานีหัวหมาก คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมิ.ย.2564

ทั้งนี้สายสีส้ม ยังได้นำเทคโนโลยีหัวเจาะอุโมงค์ที่มีประสิทธิภาพขุดเจาะใต้ดินที่มีสภาพเป็นดินเหนียว พร้อมอุปกรณ์สนับสนุนอันประกอบด้วย ท่อลำเลียงดินออก อุปกรณ์สำหรับควบคุมทิศทาง อุปกรณ์ไฮโดรลิคส์เพื่อการลำเลียงวัสดุก่อสร้างเข้า – ออก ในระหว่างการขุดเจาะและการก่อสร้างอุโมงค์ อุปกรณ์ระบายอากาศ มาใช้ในงานขุดเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินสัญญาที่ 2 จากสถานีหัวหมากไปยังสถานีรามคำแหง บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งมีระยะทางรวมประมาณ 1.9 กม.

โดยเครื่องหัวเจาะอุโมงค์ที่นำมาใช้นี้ มีขนาดความยาว 9.6 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 6.58 เมตร น้ำหนัก 370 ตัน สามารถขุดเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางภายใน 5.70 เมตร ในระดับความลึก 20 – 30 เมตร ด้วยสมรรถภาพการขุดเจาะเฉลี่ยวันละ 10 – 15 เมตร หรือเดือนละ 350 เมตร