โฮปเวลล์ ปิดฉาก “คดีค่าโง่” 2.5 หมื่นล้าน ศาลฯ ยกคำร้องฟื้นคดี

โฮปเวลล์: ปิดฉาก

ปิดฉาก “ค่าโง่” โฮปเวลล์ 2.5 หมื่นล้าน “ศาลปกครองสูงสุด” ยกคำร้องรื้อฟื้นคดี-ไม่นำขึ้นมาพิจารณาใหม่

เมื่อเวลา 13.30 น. วันนี้ (22 ก.ค.) ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามศาลปกครองชั้นต้น ไม่รับคำร้องของกระทรวงคมนาคม และ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ที่ต้องการให้มีการรื้อฟื้นคดี “โฮปเวลล์” ขึ้นมาพิจารณาใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังฟังคำพิพากษาแล้วเสร็จ ทนายของทั้ง 2 ฝ่ายต่างปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ใดๆ กับสื่อมวลชน โดยมีการคัดคำพิพากษาและเดินทางออกจากศาลปกครองทันที

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากคำสั่งศาลปกครองสูงสุดออกมาแล้ว ทางกระทรวงคมนาคม และ ร.ฟ.ท.คงต้องเจรจาต่อกับบริษัทโฮปเวลล์ ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก่อนว่า จะดำเนินการกับค่าชดเชยตามคำพิพากษาจำนวน 25,000 ล้านบาทอย่างไรต่อไป

แต่อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ กระทรวงคมนาคม และ ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างรวบรวมหลักฐานใหม่ เพื่อดำเนินการส่งฟ้องศาลอาญาทุจริต โดยใช้โมเดลคดีคลองด่าน แต่รายละเอียดขออนุญาตไม่เปิดเผยในขณะนี้

อนึ่งคดีนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2562 ศาลปกครองสูงสุดพิพากษากลับคำพิพากษาศาลปกครองกลาง ยกคำร้องของกระทรวงคมนาคมและ ร.ฟ.ท. และให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตามข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 และข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 64/2551

โดยตัดสินให้กระทรวงคมนาคมและ ร.ฟ.ท.ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการทั้ง 2 ฉบับ จ่ายค่าก่อสร้างโครงการ 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% รวมประมาณ 24,798 ล้านบาท ให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับจากวันที่คดีถึงที่สุด รวมทั้งให้คืนค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์ให้กับบริษัทโฮปเวลล์ฯ ทั้งหมด แต่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สั่งให้หาหลักฐานต่อสู้คดีใหม่

ย้อนประวัติ “คดีโฮปเวลล์”

สำหรับคดีนี้เริ่มต้นมาจากในช่วงปี 2533 มีการเปิดประมูลโครงการถนนและทางรถไฟยกระดับในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล โดยผู้ชนะการประมูลคือ บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง ยักษ์ใหญ่แห่งวงการก่อสร้างของฮ่องกงและมีการเซ็นสัญญาในวันที่ 9 พ.ย. 2533 โดยสัญญาสัมปทานมีอายุยาวนานถึง 30 ปี โดยบริษัทโฮปเวลล์จะเป็นผู้ลงทุนออกแบบเองทั้งหมใช้วงเงินลงทุนทั้งโครงการประมาณ 8 หมื่นล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้างทั้งสิ้น 8 ปี

เเต่ต่อมาเกิดการก่อสร้างล่าช้ากว่าเเผนที่วางไว้มาก โดยบริษัท โฮปเวลล์ อ้างเหตุที่ก่อสร้างล่าช้าเนื่องจากการรถไฟฯ ไม่ส่งมอบที่ดินให้ได้ตามข้อตกลง ซึ่งเป็นช่วงที่ บริษัทขาดสภาพคล่องทางการเงินเเละปัญหาเศรษฐกิจหลายด้านทำให้โครงการต้องล้มเลิกโครงการเเละเริ่มทำต่อในหลายรัฐบาลก่อนจะ หยุดการก่อสร้างอย่างสิ้นเชิง ในช่วงปี2540-41

ต่อมาบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) ยื่นฟ้อง กระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯ เป็นจำนวน 5.6 หมื่นล้านบาท จากกรณีบอกเลิกสัญญา โดยที่การรถไฟฯ เองก็ฟ้องเรียกค่าเสียหายในการเสียโอกาสในการใช้ประโยชน์จากโครงการเป็นจำนวน 2 แสนล้านบาท

ต่อมาใน พ.ศ. 2551 คณะอนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัยชี้ขาดให้กระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯ คืนเงินชดเชยแก่บริษัท โฮปเวลล์ 1.1 หมื่นล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีให้แก่โฮปเวลล์ จากการบอกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรม

กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ จึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ในกรณีพิพาทการบอกเลิกสัญญา โดยเมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2557

ต่อมาศาลปกครอง มีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ วันที่ 30 ก.ย. 2551 และ 15 ต.ค. 2551 และให้ปฏิเสธการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ทำให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายในการบอกเลิกสัญญาแก่โฮปเวลล์ ตามเหตุผลข้างต้น

ทั้งนี้ บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองกลาง ที่สั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ที่ให้กระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จ่ายคืนเงินค่าก่อสร้างและค่าใช้จ่ายอื่นๆ แก่บริษัทโฮปเวลล์รวม 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ทำให้ รฟท.ไม่ต้องจ่ายคืนเงินจำนวนดังกล่าว

ต่อมาในปี 2562 ศาลปกครองสูงสุดพิพากษากลับคำพิพากษาศาลปกครองกลาง ยกคำร้องของกระทรวงคมนาคมและ ร.ฟ.ท. และให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ โดยตัดสินให้กระทรวงคมนาคมและ ร.ฟ.ท.ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการทั้ง 2 ฉบับ จ่ายค่าก่อสร้างโครงการ 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% รวมประมาณ 24,798 ล้านบาท

คำสั่งศาลปกครองสูงสุด

สำหรับ คดีหมายเลขดำ ที่ 107/2552,2038/2551,1379/2552 คดีหมายเลขแดงที่ 366-368/2557 เป็นคดีระหว่าง กระทรวงคมนาคม ที่ 1 การรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ 2 เป็นผู้ร้อง กับ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัดเป็นผู้คัดค้าน

ฝ่ายผู้ร้องต้องการให้มีการรื้อฟื้นคดีขึ้นมาพิจารณาใหม่ เพราะมีข้อโต้แย้งใน 2 ประเด็นคือ

1. หลักฐานใหม่ที่ศาลปกครองสูงสุดยังไม่พิจารณา คือการที่กรมทะเบียนการค้า (กรมพัฒนาธุรกิจการค้าในปัจจุบัน) รับจดทะเบียนนิติบุคคลบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2533 เป็นการประกอบธุรกิจที่ฝ่าฝืนคำสั่งคณะปฏิวัติที่ 281 (ปว.281) เพราะขณะนั้นโฮปเวลล์มีสถานะเป็นนิติบุคคลต่างด้าว ซึ่งมีข้อกำกับห้ามมีวัตถุประสงค์ตามบัญชีแนบท้าย

2. การที่โฮปเวลล์ไม่ได้รับการยกเว้นให้ประกอบการและไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) แต่ปรากฎพบว่ามีการลงนามในสัญญากับรัฐในวันที่ 29 พ.ย. 2533 และเข้าปฏิบัติตามสัญญาในวันที่ 6 ธ.ค. 2534 จึงเป็นการปฏิบัติที่ขัดต่อกฎหมายดังกล่าว

โดยศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามศาลปกครองชั้นต้น ไม่รับคำร้องของกระทรวงคมนาคม และ ร.ฟ.ท. เนื่องจากข้ออ้างที่ว่ารับจดทะเบียนนิติบุคคลขัดกับ ปว.281 นั้นศาลเห็นว่า ข้อเท็จจริงปรากฎในช่วงทำสัญญา ผู้คัดค้านทั้ง 2 (คมนาคม-ร.ฟ.ท.) ได้ออกหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลของโฮปเวลล์ไว้แล้ว

และในสัญญาระบุให้บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง จำกัด บริษ้ทแม่ที่ฮ่องกงเข้าพื้นที่ก่อสร้างและพัฒนาทึ่ดินตามเงื่อนไขในสัญญา โดยทางโฮปเวลล์ฮ่องกงได้จดจัดตั้ง บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัดขึ้นตามกฎหมายของประเทศไทย ซึ่งทั้งกระทรวงคมนาคมและ ร.ฟ.ท.จะต้องทราบอยู่แล้วว่า โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) มีบริษัทแม่อยู่ฮ่องกง

อีกเหตุผลหนึ่งที่อ้างว่ายังไม่ได้รับการยกเว้นหรือการส่งเสริมการลงทุน ศาลเห็นว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในฐานะผู้ลงนามร่วมจะต้องทราบตั้งแต่แรกว่า โฮปเวลล์ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)

อีกทั้งในคำขอพิจารณาคดีใหม่ กระทรวงคมนาคม และ ร.ฟ.ท.ก็ระบุเองว่า  ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามบัญชีแนบท้าย ปว.281 แล้ว ส่วนการอ้างว่านิติบุคคลต่างด้าวต้องขออนุญาตจากอธิบดีกรมทะเบียนการค้าก่อนนั้น เป็นเรื่องที่ทั้งกระทรวงและร.ฟ.ท.จะปฏิเสธการรับรู้ไม่ได้

และทั้งสองจะต้องมีการตรวจสอบประเด็นดังกล่าวก่อนลงนามในสัญญาด้วย และส้ญญาที่ลงนามต้องผ่านการพิจารณาของกรมอัยการ (อัยการสูงสุด) ก่อน ยิ่งต้องมีการตรวจสอบและต้องรู้ถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวก่อน จึงถือว่ากรณีนี้เป็นความบกพร่องเองของกระทรวงคมนาคมและ ร.ฟ.ท.จึงไม่อาจถือเป็นหลักฐานใหม่ได้

ส่วนที่อ้างศาลปกครองสูงสุดไม่ย้อนสำนวนให้ศาลปกครองชั้นต้นพิจารณาเนื้อหาในคดีก่อนนั้น ทั้งศาลปกครองชั้นต้นและศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า ในชั้นการแสวงหาข้อเท็จจริง คู่กรณีได้รับทราบข้อเท็จจริงและมีการโต้แย้งชี้แจงไปแล้ว ถือว่าหลักฐานและข้อเท็จจริงเพียงพอสำหรับการพิจารณาคดี ข้ออ้างนี้จึงตกไป