ซี.พี. ตอกเข็มไฮสปีด ก.พ. 64 ประเดิมเฟสแรก “สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา”

ปลัดคมนาคมเร่งเคลียร์ส่งมอบพื้นที่ ปักตอม่อ “ไฮสปีด 3 สนามบิน” ก.พ.ปีหน้าช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ดีเลย์สุด “พญาไท-ดอนเมือง” ส่อลากยาวถึงปี”66 ด้าน “ซี.พี.” ย้ำเป้าเดินรถ “แอร์พอร์ตลิงก์” ต.ค. 64

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ความคืบหน้าของการส่งมอบพื้นที่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ให้กับเอกชนคู่สัญญา บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด (กลุ่ม ซี.พี.) ขณะนี้การรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคทุกอย่างยังเป็นไปตามแผน ซึ่งสำนัก

งบประมาณได้ตรวจสอบรายละเอียดครบถ้วนแล้ว และแบ่งให้โครงการมีมูลค่าเกิน 100 ล้านบาท ต้องเสนอให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเห็นชอบก่อน ส่วนโครงการวงเงินไม่ถึงจะเป็นอำนาจของผู้อำนวยการสำนักงบประมาณพิจารณาเอง

การเวนคืนที่ดินและไล่รื้อผู้บุกรุกจะดำเนินการโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ในส่วนของการเวนคืนได้กำหนดจัดประชุมกับผู้ถูกเวนคืน สำรวจสิ่งปลูกสร้าง และจัดตั้งคณะกรรมการกำกับราคาเบื้องต้น เพื่อกำหนดราคาค่าเวนคืนและค่าทดแทนให้ชัดเจน ตามแผนจะใช้การเจรจาเป็นหลัก คาดว่าในเดือน พ.ย.นี้จะทำสัญญาซื้อขายที่ดินที่ถูกเวนคืนและเริ่มจ่ายค่าทดแทน และรับมอบที่ดิน รวมถึงจะส่งมอบที่ดินให้กลุ่ม ซี.พี.ส่วนแรกสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภาภายในเดือน ก.พ. 2564 หากมีกรณีที่ผู้ถูกเวนคืนทักท้วงและยื่นเรื่องสู่กระบวนการยุติธรรม จะเคลียร์ให้จบในเดือน ส.ค. 2564

“ยอดผู้บุกรุกที่มีผลกระทบกับโครงการ ปัจจุบันมีผู้บุกรุกรวม 569 หลังคาเรือน แบ่งเป็นช่วงดอนเมือง-สุวรรณภูมิ มีผู้บุกรุก 267 หลังคาเรือน และช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภาอีก 302 หลังคาเรือน ซึ่ง ร.ฟ.ท.ได้ดำเนินการฟ้องศาลเพื่อขับไล่ผู้บุกรุกทั้งหมดแล้ว ส่วนการยกเลิกสัญญาเช่าของ ร.ฟ.ท.ที่ทับซ้อนกับแนวเส้นทาง มีการยกเลิกรวม 213 สัญญา อยู่ช่วงดอนเมือง-พญาไท 100 สัญญา จะทยอยให้เสร็จเดือน ธ.ค.นี้ และช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา จำนวน 113 สัญญา จะทยอยยกเลิกเดือน ต.ค.นี้”

ร.ฟ.ท.ยังได้รายงานการขอเข้าใช้พื้นที่ของหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อดำเนินการก่อสร้าง เช่น พื้นที่ของกรมทางหลวง (ทล.) มีหน่วยงานยื่นขอใช้พื้นที่เพื่อก่อสร้าง 8 หน่วยงาน ยังมีพื้นที่ของหน่วยอื่น ๆ ที่กำลังทยอยอนุญาตให้เข้าพื้นที่ เช่น กรมทางหลวงชนบท และกรมเจ้าท่า อนุญาตการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เข้าใช้พื้นที่แล้ว, และกรุงเทพมหานคร (กทม.) อนุญาตให้การประปานครหลวงเข้าพื้นที่แล้ว 9 จุด ยังมีหน่วยอื่น ๆ ที่ทยอยขออนุญาตเข้าพื้นที่

ในส่วนของการขอขยายเขตทางตามที่กลุ่ม ซี.พี.ยื่นเสนอ จะต้องเวนคืนที่ดินเพิ่ม 6 จุด ได้แก่ 1.ช่วงสถานีลาดกระบัง 2.ทางออกสนามบินสุวรรณภูมิ 3.ช่วงประตูระบายน้ำของกรมชลประทาน จ.ฉะเชิงเทรา 4.ช่วงสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง 5.อุโมงค์เขาชีจรรย์ และ6.ทางเข้าสนามบินอู่ตะเภา มีผู้ได้รับผลกระทบเพิ่ม 48 ราย เป็นจำนวน 63 แปลง

อยู่ระหว่างสำรวจความคิดเห็นประชาชนที่ได้รับผลกระทบ จะทำให้เสร็จภายในเดือน ก.ค.นี้ จากนั้นเดือน ส.ค.สรุปข้อมูลความคิดเห็น พร้อมกับสั่งให้ ร.ฟ.ท.ดูว่าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงรายงาน EIA หรือไม่ เพราะเมื่อมีการขยายเขตทางต้องเวนคืนเพิ่ม

นอกจากนี้กลุ่ม ซี.พี.รายงานความก้าวหน้าการรับมอบโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ อยู่ระหว่างตรวจสอบระบบทางเทคนิคและปรับปรุงเนื้องานต่าง ๆ อีก 4 รายการ ได้แก่ 1.การตกแต่งสถานี

ให้สวยงามขึ้น 2.เพิ่มไฟส่องสว่าง 3.ปรับปรุงสภาพทรัพย์สินเดิม เช่น อาคารสถานีให้แข็งแรงขึ้น และ 4.ระบบเดินรถ จะเสร็จเดือน ก.ค.นี้ และเตรียมความพร้อมด้านการเดินรถ จะใช้เวลา 16 เดือน หรือไปสิ้นสุดเดือน ก.ย. 2564 และจะรับมอบแอร์พอร์ตเรลลิงก์เดือน ต.ค. 2564 ตามเดิม โดยประชาชนจะต้องได้รับบริการที่ต่อเนื่อง ไม่มีรอยต่อ

ปัญหาการรับมอบแอร์พอร์ตลิงก์ก็มีอยู่ เพราะกลุ่ม ซี.พี.ใช้ทีมที่ปรึกษาจากต่างประเทศ เช่น อิตาลี มาดำเนินการสำรวจตรวจสอบและวางแผนพัฒนา แต่ไม่สามารถเดินทางเข้ามาประเทศไทยได้ติดปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 จึงต้องใช้ช่องทางอีเมล์ในการติดต่อสื่อสารแทน จึงให้ ซี.พี.ศึกษากฎระเบียบของ ศบค.ให้ชัดเจน แล้วดำเนินการทำเรื่องขอนำตัวที่ปรึกษาเข้าประเทศ แต่จะต้องกักตัว 14 วันตามระเบียบของรัฐ

แหล่งข่าวจาก ร.ฟ.ท.กล่าวว่า การส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างจะทยอยเป็นส่วน ๆ ในเดือน ก.พ. 2564 ส่งมอบช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภาก่อน เร็วขึ้น 1 เดือน, ช่วงสุวรรณภูมิ-ดอนเมือง ติดปัญหาทับซ้อนสายสีแดง จะส่งมอบใน 2 ปี 3 เดือน แต่ช่วงที่มีปัญหามากที่สุดคือพญาไท-ดอนเมือง เพราะมีโครงสร้างระบบสาธารณูปโภคมาก กำลังเร่งรัดเร็วที่สุดเดือน ม.ค. 2565 แต่หากเกิดกรณียืดเยื้อ เช่น ติดรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภค ผู้บุกรุก และเวนคืน อาจจะส่งมอบเดือน ต.ค. 2566

ทั้งนี้ สิ่งที่กำลังเร่งรัดคือขอใช้งบประมาณที่อีอีซีอนุมัติไป 2 ส่วน คืองบฯเปิดหน้าดินรื้อย้ายชั่วคราว 490 ล้านบาท เพื่อให้ ซี.พี.เข้าพืนที่ก่อสร้างให้ได้ก่อน จะเป็นการใช้งบฯกลางปี 2563 ยังไม่ได้รับอนุมัติจากสำนักงบประมาณ อีกส่วนเป็นงบฯรื้อย้ายแบบถาวร วงเงิน 4,103 ล้านบาท ยังไม่มีการยื่นขอ