รถไฟไทย-จีน “ประยุทธ์” ปิดดีลชื่นมื่นเซ็นซื้อระบบ 5 หมื่นล้าน

รถไฟความเร็วสูงไทยจีน

“ประยุทธ์” เซ็นระบบไฮสปีดไทย-จีนราบรื่น 5 หมื่นล้าน ย้ำโครงการ หนุนยุทธศาสตร์ ความสัมพันธ์สองประเทศเป็น “น้ำหนึ่งใจเดียว”

เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2563 เวลา 15.00 น. ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาจ้างงานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร โครงการรถไฟความเร็วสูงภายใต้ความร่วมมือระหว่างรัฐบาล ช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย (ระยะที่ 1 กรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา) วงเงิน 50,633 ล้านบาท

โดยการลงนามมี นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เป็นตัวแทนผู้ลงนามฝ่ายไทย และ นายหยาง ซิน อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูต สถานทูตจีนประจำประเทศไทยเป็นตัวแทนผู้ลงนามฝ่ายจีน

สำหรับสัญญานี้มีบริษัท ไชน่า เรลเวย์ อินเตอร์แนชันนัล จำกัด และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ ดีไซน์ คอร์ปอเรชั่น รัฐวิสาหกิจจีนเป็นผู้ดำเนินการร่วมกับฝ่ายไทย

ภายหลังการลงนาม นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความยินดีว่า โครงการนี้เป็นโครงการสำคัญที่รัฐบาลดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ที่เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย

และเป็นกลไกในการพัฒนาหัวเมืองหลักตามเส้นทางรถไฟความเร็วสูง ซึ่งต่อยอดและพัฒนาเป็นเมืองศูนย์กลางของภูมิภาคได้ในอนาคต อีกทั้งยังเปรียบเสมือนสายใยเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและจีนให้แน่นเฟ้นมากขึ้น

สำหรับการลงนามในครั้งนี้ เป็นโอกาสดีที่ทั้ง 2 ประเทศจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคโนโลยีซึ่งกันและกัน เพื่อให้ก้าวเดินไปด้วยกันอย่างพร้อมเพรียง ซึ่งเชื่อว่าไทยจะนำองค์ความรู้มาสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์ต่อไป

“ต้องขอบคุณ ร.ฟ.ท. กระทรวงคมนาคม และ CRCC ที่ช่วยผลักดันโครงการนี้ได้ตามเป้าหมายทุกประการ สมดังคำกล่าวที่ว่า “ธงซิน เซี่ยลี่ ซื่อซื่อ ฉุนหลี่” แปลว่า น้ำหนึ่งใจเดียว ทุกเรื่องราบรื่น”

ด้าน นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่า ร.ฟ.ท. กล่าวว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพ – นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. มีวงเงินลงทุน 179,412 ล้านบาท ปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จ 1 สัญญา คือสัญญา 1-1 ช่วงกลางดง – ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. อยู่ระหว่างก่อสร้าง 1 สัญญาคือ ช่วงสีคิ้ว – กุดจิก ระยะทาง 11 กม. ความคืบหน้า 42%, รอลงนามในสัญญา 9 สัญญา, อยู่ระหว่างรอประกาศผลผู้ชนะประกวดราคา 2 สัญญา และอยู่ระหว่างจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา 1 สัญญา

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมจะเสนอการจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) เข้าสู่การพิจารณาคณะรัฐมนตรี โดยมีเป้าหมายในอนาคตเมื่อมีสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบรางแล้ว จะทำให้ประเทศไทยมีผู้เชี่ยวชาญระบบรางมากขึ้น

มีองค์ความรู้ เพื่อนำไปพัฒนา ต่อยอดให้คนไทยมีความสามารถในการออกแบบ ผลิตชิ้นส่วน ประกอบ และซ่อมบารุงระบบราง เกิดงานวิจัย นวัตกรรม เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมระบบรางของไทยเทียบเท่าชั้นมาตรฐานระดับสากล นำไปสู่การใช้วัสดุภายในประเทศ ส่งเสริมอุตสาหกรรมระบบรางไทย คิดเป็นมูลค่าเพิ่มในประเทศ 21,600 ล้านบาท และเกิดการจ้างงานอีกกว่า 6,000 ล้านบาทต่อปี ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ตามนโยบายของรัฐบาล

เมื่อโครงการนี้แล้วเสร็จจะช่วยยกระดับมาตรฐานรถไฟไทย ให้มีความเจริญก้าวหน้า เป็นการลงทุนเพื่อวางรากฐานความมั่นคงด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของไทยในระยะยาว สนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาค

สร้างโอกาสใหม่ทางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว กระจายรายได้ นำความเจริญสู่ท้องถิ่นตลอดแนวเส้นทางโครงการ ทำให้บุคลากรของประเทศไทยได้รับความรู้และเทคโนโลยีระบบรางจากจีน ต่อยอดองค์ความรู้ต่อไปในอนาคต และเป็นการเปิดเส้นทางยุทธศาสตร์เชื่อมโยงระหว่างไทย จีน และเอเชีย

ลงนามรถไฟไทย-จีน

ลงนามรถไฟไทย-จีน

ลงนามรถไฟไทย-จีน