รีวิว “สถานีกลางบางซื่อ” 3 หมื่นล้าน สุดอลังการ…ฮับระบบรางอาเซียน

เปิดให้ “นายกฯประยุทธ์-คณะรัฐมนตรี” ยลโฉมกันเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2563 ที่ผ่านมา สำหรับ “สถานีกลางบางซื่อ” ที่สร้างสรรค์ผลงานโดย “ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย” เนรมิตที่ดิน 487 ไร่ ด้วยวงเงินกว่า 3 หมื่นล้านบาท ให้เป็นสถานีรถไฟที่ใหญ่ที่สุด

งานนี้ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นำทีมผู้บริหารกรมกองต่าง ๆ โดยเฉพาะ “ร.ฟ.ท.” เจ้าภาพหลัก เป็นทัพหน้าพาทัวร์ทุกซอกทุกมุม

ก่อนจะพาคณะนายกฯประยุทธ์ทดลองนั่งรถไฟชานเมืองสายสีแดงขบวนพิเศษ จาก “สถานีกลางบางซื่อ” ต้นทาง ยิงยาวเข้าสู่ “สถานีรังสิต” สถานีปลายทาง โดยใช้เวลาประมาณ 20 นาที แต่ถ้าวิ่งบริการจริง ๆ ใช้เวลาประมาณ 30 นาทีเท่านั้น

หลังจบทริป “พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวด้วยความภาคภูมิใจว่า โครงการนี้ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งใช้เวลาลงทุนก่อสร้างยาวนาน รัฐบาลคิดเสมอว่าทำอย่างไรประชาชนจะได้ประโยชน์ ทุกสิ่งได้วางยุทธศาสตร์ชาติไว้หมดแล้ว โดยการขนส่งทางรางรัฐบาลนี้เน้นเป็นพิเศษ เพื่อความสะดวกในการเดินทางของประชาชน และเกิดการเชื่อมโยงการเดินทางในภูมิภาคอาเซียน

“รัฐบาลเร่งรัดระบบรางทั้งในเขตเมือง รถไฟฟ้าสายสีเขียว สีน้ำเงิน สีม่วง สีเหลือง สีชมพู และสายสีส้ม รถไฟความเร็วสูง 2 สาย กรุงเทพฯ-นครราชสีมา และรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เราทำหมด ซึ่งทั้งหมดถือเป็นก้าวแรกเท่านั้น มีอีกหลายก้าวที่ต้องไปต่อ”

 

สำหรับ “สถานีกลางบางซื่อ” พลเอกประยุทธ์ย้ำว่า ถือเป็นศูนย์กลางเดินทางด้วยรถไฟยุคใหม่ของประเทศไทย ถ้าเทียบกับรถไฟชั้นนำของโลก ไม่ว่าจะเป็นของกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ หรือกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ถือว่าไทยไม่ได้ด้อยไปกว่าเขาเลย

ย้อนดูงานก่อสร้าง “สถานีกลางบางซื่อ” รวมอยู่ในสัญญาที่ 1 ของรถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต ใช้เงินก่อสร้างไปกว่า 34,000 ล้านบาท จากเริ่มต้นตอกเข็มต้นปี 2556 ถึงวันนี้ งานก่อสร้างเสร็จแล้ว 100% แต่ในช่วงเปิดให้บริการแรก ๆ ในเดือน ก.ค. 2564 จะยังไม่มีร้านค้าเชิงพาณิชย์เปิดให้บริการ มีเพียงการจ้างแม่บ้าน-รปภ.เท่านั้น

ซึ่งค่าบริหารจัดการนี้ “ร.ฟ.ท.” คิดเป็นต้นทุนต้องจ่ายประมาณ 50 ล้านบาท/เดือน หรือปีละ 600 ล้านบาท ส่วนจะมีพื้นที่เชิงพาณิชย์เมื่อไหร่นั้น ต้องรอสรุปผลศึกษารูปแบบการลงทุน PPP ที่กระทรวงคมนาคมมีนโยบายจะเปิดให้เอกชนรับสัมปทานเดินรถสายสีแดงทั้งโครงการรวมถึงพื้นที่สถานีในแนวเส้นทางและสถานีกลางบางซื่อด้วย

แหล่งข่าวจาก ร.ฟ.ท.กล่าวว่า แม้งานโยธาจะเสร็จ 100% แต่ยังต้องเก็บงานเพิ่มเติม โดยเฉพาะระบบจ่ายไฟฟ้าที่ยังไม่เพียงพอ เพราะนอกจากการใช้ไฟฟ้าภายในสถานีกลางบางซื่อแล้ว ต้องเผื่อกระแสไฟฟ้าสำหรับใช้ในการเดินรถไฟชานเมืองสายสีแดงด้วย โดยอยู่ระหว่างการหารือและแก้ปัญหาร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) คาดว่าน่าจะแก้ปัญหานี้ได้ทันพอดีกับช่วงเดือน ก.ค. 2564 จะเปิดให้บริการ

สำรวจภายในพื้นที่สถานีกลางบางซื่อพบว่า เนื้องานภายในแล้วเสร็จทั้งหมด เหลือเพียงการตกแต่งพื้นที่บางส่วนเล็กน้อย ทั้งหมดมี 5 ชั้น รวมชั้นใต้ดินและชั้นลอย มีพื้นที่ใช้สอยรวม 274,192 ตร.ม. ชั้นใต้ดินเป็นที่จอดรถ จำนวน 1,624 คัน

“พื้นที่ชั้น 1” เป็นชั้นจำหน่ายบัตรโดยสาร โถงพักคอย ร้านค้า ศูนย์อาหาร ห้องน้ำ และจะมีทางเดินไปยังจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน

เมื่อขึ้นไปจะเป็น “ชั้นลอย” เป็นพื้นที่พาณิชยกรรม มีร้านค้า และห้องควบคุม ถัดไปเป็น “ชั้น 2” เป็นชานชาลาของรถไฟชานเมืองสายสีแดงและรถไฟทางไกล ปัจจุบัน ร.ฟ.ท.นำขบวนรถไฟฟ้ามาทดสอบระบบเป็นระยะ ๆ

สุดท้าย “ชั้นที่ 3” เป็นชานชาลารถไฟความเร็วสูง 4 สาย เชื่อม 4 ภูมิภาคของประเทศไทย ได้แก่ กรุงเทพฯ-โคราช, รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา), กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ-หัวหิน โดยพื้นที่บริเวณนี้จะยังไม่เปิดให้บริการจนกว่าจะมีรถไฟความเร็วสูงเปิดบริการ ยังไม่รู้จะเป็นปีไหน

เมื่อเลาะดูภายนอกสถานีกลางบางซื่อ บริเวณด้านหน้าทางเข้า มีติดตั้ง “นาฬิกาเลข ๙” เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตัวนาฬิกามีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 6 เมตร ติดตั้งบนผนังกระจกของทางเข้าสถานี สูงจากระดับพื้นดิน 21 เมตร ถือเป็นแลนด์มาร์กใหม่ของที่นี่เลยก็ว่าได้

ขณะที่ลานกว้างและน้ำพุซึ่งอยู่ถัดไปนั้น จะเป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะนี้ยังไม่ได้มีการนำพระบรมราชานุสาวรีย์มาประดิษฐานแต่อย่างใด

ทั้งหมดเป็นเพียงการสแกนด้วยตาเปล่าจากภาพที่เห็น รอลุ้นหลังเปิดใช้จริงในเดือน พ.ย. 2564 จะใหญ่สุดหรูสมกับที่รอคอยกันหรือไม่