เปิดแผนเวนคืนก่อสร้างทั่วกรุง ทะลวงรถติด-น้ำท่วมซ้ำซาก

รถติด

จากการระบาดของโควิด-19 ที่รุมเร้า และจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่ได้เต็ม 100% ทำให้รายได้ปี 2563 ของ “กทม.-กรุงเทพมหานคร” หลุดเป้า 15,444 ล้านบาท จาก 83,000 ล้านบาท เหลือ 67,555 ล้านบาท ที่นำไปบริหารจัดการภารกิจแต่ละด้าน

จึงไม่สามารถดำเนินการได้เต็มที่ โดยเฉพาะปัญหาการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภค โครงข่ายถนน จะมาช่วยบรรเทาเรื่องการจราจร น้ำท่วม ซึ่งในรอบปี 2563 ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นการสางงานเก่าให้แล้วเสร็จเปิดใช้ และเริ่มต้นนับหนึ่งเดินหน้าก่อสร้างได้

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง

ได้นั่งรถไฟฟ้าสีเขียว-สีทอง

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. เปิดผลงานส่งท้ายปี สามารถเปิดให้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายหมอชิต-สะพานใหม่-คูคตและช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ครบทั้ง 62 สถานี กับรถไฟฟ้าไร้คนขับสายสีทองช่วงกรุงธนบุรี-คลองสาน มี 3 สถานี โดยทั้ง 2 สายจะเปิดฟรีไปถึงวันที่ 15 ม.ค. 2564 ทำให้การเดินทางเชื่อมต่อกรุงเทพฯ ปทุมธานี สมุทรปราการ ไร้รอยต่อ และบรรเทาการจราจรติดขัด

ยังมีฟีดเดอร์รองรับรถไฟฟ้าสายหลัก เป็นรถ shuttle bus รับ-ส่งผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า BTS กับแอร์พอร์ตลิงก์ 2 เส้นทาง จากดินแดง-BTS สนามเป้า และจากชุมชนเคหะร่มเกล้า-แอร์พอร์ตลิงก์ลาดกระบัง, ปรับปรุงป้ายรถเมล์ให้เป็น Smart Bus Shelter, เปิดบริการเรือไฟฟ้าในคลองผดุงกรุงเกษม

เปิดใช้ถนน-ทางลอดแก้รถติด

นอกจากนี้ ปีที่ผ่านมามีโครงการถนนที่สร้างเสร็จเปิดใช้ ช่วยลดปัญหาการจราจรโซนตะวันออก ตะวันตก มีถนนกรุงเทพกรีฑา-ร่มเกล้า, ทางลอดถนนพัฒนาการ-รามคำแหง-ถาวรธวัช และทางลอดแยกมไหสวรรย์, ถนนเชื่อมต่อศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะกับถนนกำแพงเพชร 6, ขยายซอยพระรามที่ 2 ซอย 82, ขยายผิวจราจรของถนนสุทธาวาสและสะพานข้ามถนนจรัญสนิทวงศ์และสะพานข้ามแยก ณ ระนอง

ขณะเดียวกัน เดินหน้าปรับภูมิทัศน์เมือง ด้วยการนำสายสื่อสารลงดินเสร็จแล้ว 3 แห่ง ช่วงถนนราชดำริ-สถานีย่อยคลองเตย, ถนนจรัญสนิทวงศ์-แยกท่าพระ และถนนพระราม 3-ถนนนราธิวาสราชนครินทร์, ปรับพัฒนาคลองโอ่งอ่าง สะพานด้วนและถนนข้าวสารให้เป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ส่งเสริมการท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน

ส่วนโครงการที่จะเปิดให้บริการภายในปี 2564 “พล.ต.อ.อัศวิน” กล่าวว่า มีปรับปรุงถนนศาลาธรรมสพน์ จากถนนพุทธมณฑลสาย 2 ถึงคลองทวีวัฒนา, ถนนต่อเชื่อมกาญจนาภิเษก-ถนนพุทธมณฑลสาย 2 และต่อขยายสะพานอรุณอมรินทร์ พร้อมทางขึ้น-ลง และทางยกระดับข้ามแยกศิริราช, ทางลอดรัชดา-ราชพฤกษ์ และทางลอดถนนจรัญสนิทวงศ์กับถนนพรานนก หรือแยกไฟฉาย

เช็กชื่อโครงการใหม่ปี’64

ขณะที่ในปี 2564 กทม.ตั้งงบประมาณรายจ่ายไว้ 75,500 ล้านบาท พัฒนาภารกิจในแต่ละด้าน ซึ่งการแก้ปัญหาจราจรจะเป็นส่วนหนึ่ง โดย “พล.ต.อ.อัศวิน” กล่าวว่า มีโครงการจะเริ่มก่อสร้างในปี 2564 อยู่โซนกรุงเทพฯตะวันออก มีปรับปรุงถนนรามคำแหง 24 และถนนหัวหมาก 2, ปรับปรุงถนนไมตรีจิต จากซอยไมตรี 38 ถึงถนนคลองเก้า, ปรับปรุงสะพานข้ามแยกบางกะปิ ช่วงสะพานลาดพร้าว-เสรีไทย และสร้างทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง

โซนกรุงเทพฯเหนือ ก่อสร้างถนนเชื่อมถนนวิภาวดีรังสิตกับถนนพหลโยธิน, ถนนเชื่อมต่อศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 กับถนนประชาชื่น หรือถนนหมายเลข 10 เพื่อช่วยแก้ปัญหาจราจรโดยรอบศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ และโซนกรุงธนเหนือ จะก่อสร้างถนนเชื่อมต่อพุทธมณฑลสาย 2-ถนนพุทธมณฑลสาย 3

ยังมีขยายการเดินเรือคลองแสนแสบวัดศรีบุญเรือง-มีนบุรี ระยะทาง 10.5 กม. ซื้อเรือไฟฟ้า 12 ลำ สร้างท่าเทียบเรือคลองแสนแสบ 8 ท่า ติดตั้งป้ายรถเมล์อัจฉริยะครบ 100 แห่ง

ผุดอุโมงค์ยักษ์แก้ท่วมซ้ำซาก

โครงการที่ไม่กล่าวถึงเลยคงไม่ได้ “การบริการจัดการน้ำท่วมซ้ำซากเมืองกรุง” ที่ผู้ว่าฯ กทม.ต้องเผชิญกับดราม่าทุกครั้งเมื่อฝนถล่มหนัก ซึ่ง กทม.เองก็ยอมรับว่า ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ 100%

ในปี 2564 เตรียมสร้างเขื่อนคลองเปรมประชากร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ป้องกันน้ำท่วม และน้ำหลากจากตอนบนของกรุงเทพฯ ในช่วงหมู่บ้านแกรนด์คาแนล ถึงถนนสรงประภา ยาว 5 กม. จะเริ่มปี 2564-2566, ช่วงถนนสรงประภาถึงถนนแจ้งวัฒนะ ยาว 10 กม.จะเริ่มปี 2564-2565 และจากถนนแจ้งวัฒนะถึงถนนเทศบาลสงเคราะห์ ยาว 10.7 กม. จะเริ่มปี 2564-2565

และสร้างอุโมงค์ระบายน้ำเพิ่ม 3 แห่ง ได้แก่ อุโมงค์คลองเปรมประชากร เป็นส่วนต่อขยายคลองแสนแสบ และคลองทวีวัฒนา ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำบริเวณที่มีปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯโซนเหนือ ใจกลางเมือง ย่านลาดพร้าว และพื้นที่ฝั่งธนบุรี จะเริ่มปี 2564-2569

ยังมีก่อสร้างท่อขนส่งน้ำใต้ถนนพระราม 6 จากคลองสามเสนลงสู่อุโมงค์ใต้คลองบางซื่อ ก่อสร้างท่อระบายน้ำขนาด 3 เมตร ช่วยป้องกันน้ำท่วมขังในพื้นที่ชั้นใน เริ่มปี 2564-2566 ปรับปรุงและพัฒนาคลองยายสุ่น บริเวณซอยชานเมืองถึงถนนรัชดาภิเษก ระยะทาง 1.38 กม.

ลุยสะพานเกียกกาย

อีกโครงการที่เป็นไฮไลต์ คือ สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณเกียกกาย และถนนต่อเชื่อม ใช้เงินก่อสร้างประมาณ 12,717.4 ล้านบาท ล่าสุดเริ่มขยับเขยื้อน ในปี 2564 กทม.ได้งบฯอุดหนุนจากรัฐ จำนวน 1,318 ล้านบาท และปี 2563 จำนวน 1,793 ล้านบาท จ่ายค่าเวนคืนที่ดิน

ส่วนการก่อสร้างรอได้รับงบประมาณ จะแบ่งสร้าง 5 ช่วง ได้แก่ 1.ทางยกระดับและถนนฝั่งธนบุรี จาก ถ.เลียบทางรถไฟสายใต้-ถ.จรัญสนิทวงศ์ 1.05 กม. วงเงิน 4,015 ล้านบาท รอเวนคืนที่ดินเอกชน 152 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 308 รายการ

2.สะพานข้ามแม่น้ำ จาก ซ.จรัญสนิทวงศ์ 93-วัดแก้วฟ้าจุฬามณี 480 เมตร วงเงิน 1,350 ล้านบาท กำลังจัดทำราคากลาง ซึ่งได้รับงบฯจากรัฐปี 2563 เป็นค่าก่อสร้าง 135 ล้านบาท

3.ทางยกระดับและ ถ.ฝั่งพระนคร จากแม่น้ำเจ้าพระยา-สะพานแดง 1.350 กม. วงเงิน 980 ล้านบาท 4.ทางยกระดับและ ถ.ฝั่งพระนคร จากแยกสะพานแดง-ถ.กำแพงเพชร 1.4 กม. วงเงิน 1,100 ล้านบาท รอเวนคืนที่ดินเอกชน 90 แปลง และสิ่งปลูกสร้าง 90 รายการ

และ 5.ทางยกระดับและ ถ.ฝั่งพระนคร จาก ถ.กำแพงเพชร-ถ.พหลโยธิน 1.6 กม. วงเงิน 1,025 ล้านบาท รอเวนคืนจะขอใช้ที่ดินรถไฟ 37 แปลง และสิ่งปลูกสร้างเอกชน 71 รายการ


ปี 2564 กทม.น่าจะเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่น่าจับตาของวงการรับเหมาก่อสร้าง เพราะมีงานรอประมูลอยู่หลายโครงการ หลังเริ่มมีการขยับ ท่ามกลางนับถอยหลังการเปลี่ยนผ่านไปสู่ “พ่อเมืองคนใหม่” ที่มาจากการเลือกตั้ง