โละหนี้แอร์พอร์ตลิงก์ 2 หมื่นล้านให้รัฐ

แอร์พอร์ตลิงก์

ซี.พี.จ่ายค่าใช้สิทธิระบบแอร์พอร์ตลิงก์ 10,671 ล้าน “คมนาคม” ขอแก้มติ ครม.ปลดแอกหนี้ค่าก่อสร้างกว่า 2.2 หมื่นล้าน ให้รัฐแบกแทน หลัง “รถไฟ” กู้เงินจ่ายดอกเบี้ยนาน 10 ปี เร่งเคลียร์พื้นที่ไฮสปีด 3 สนามบิน เวนคืนแล้ว 75% กว่า 2 พันล้าน ขอ ครม.อัดเพิ่ม 2.1 พันล้าน พร้อมส่งมอบพื้นที่เฟสแรก “สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา” ทันเดดไลน์ ต.ค.นี้

นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2564 ได้ประชุมหาแนวทางการรับภาระหนี้โครงการรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (แอร์พอร์ตเรลลิงก์) โดยเป็นการดำเนินการหลังจากที่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา)

มีมติให้กระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) หารือร่วมกันเกี่ยวกับต้นทุนเงินกู้ที่ดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี 2550 และโครงการนี้เป็นโครงการแรกที่ไม่มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเรื่องการให้รัฐบาลรับภาระด้านโครงสร้างพื้นฐาน

โดยภาระหนี้ของแอร์พอร์ตเรลลิงก์อยู่ที่ประมาณ 33,000 กว่าล้านบาท แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก ค่างานโยธา วงเงิน 22,588 ล้านบาท และงานจัดหาขบวนรถรวมถึงงานระบบ วงเงิน 10,680 ล้านบาท โดยในวงเงินงานระบบคาดว่าจะได้รับการชำระจากการจ่ายค่าใช้สิทธิแอร์พอร์ตเรลลิงก์ โดย บจ.รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน (ซี.พี.) คู่สัญญาสัมปทานโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินภายในเดือน ต.ค. 2564 นี้

สำหรับวงเงินหนี้ค่างานโยธา ที่ผ่านมารัฐบาลให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กู้เพื่อผ่อนชำระดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว แต่เงินต้นยังไม่ได้มีการชำระแต่อย่างใด เนื่องจาก ร.ฟ.ท.ยังไม่มีศักยภาพที่จะหาเงินมาชำระเงินต้นดังกล่าวได้

“มติ ครม.ปี 2550 ก็ให้ไปเคลียร์เงินก้อนนี้ ซึ่งที่ประชุมมีแนวคิดว่ารถไฟฟ้าสายนี้ก็ควรจะปฏิบัติให้เหมือนสายอื่น ๆ คือ รัฐบาลต้องรับภาระเงินต้นของงานโยธาด้วย แต่ก็ต้องสอบถามนโยบายกับนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ก่อนจะให้ดำเนินการอย่างไรต่อไป”

แหล่งข่าวจาก ร.ฟ.ท. เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การโยกหนี้งานโยธากว่า 22,000 ล้านบาท ที่ประชุมสรุปว่าจะขอทบทวนมติ ครม.เมื่อ 16 ต.ค. 2550 ที่รัฐบาลให้ ร.ฟ.ท.รับภาระดังกล่าวไปก่อน จะขอเปลี่ยนเป็นให้รัฐรับภาระแทน ขณะนี้ ร.ฟ.ท.ทำหนังสือถึงคมนาคมเพื่อหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณ ในรายละเอียดก่อนเสนอ ครม.ทบทวนมติเดิม คาดว่าจะเสนอ ครม.และมีผลได้ก่อนวันที่ 24 ต.ค. 2564 ซึ่งเป็นวันที่ ซี.พี.จ่ายค่าใช้สิทธิระบบแอร์พอร์ตเรลลิงก์ 10,671 ล้านบาท

นายสุจิตต์ เชาว์ศิริกุล รองผู้ว่าการกลุ่มบริหารรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.กล่าวว่า แผนการส่งมอบแอร์พอร์ตลิงก์และพื้นที่ก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินให้กลุ่ม ซี.พี.ยังคงเป็นภายในกรอบเวลา 2 ปี นับจากเซ็นสัญญาวันที่ 24 ต.ค. 2562 คือภายในเดือน ต.ค. 2564 นี้

“กลุ่ม ซี.พี.ส่งแผนการปรับปรุงแอร์พอร์ตลิงก์มาให้แล้ว เช่น ปรับขบวนรถตู้ขนกระเป๋าเป็นตู้รับผู้โดยสาร ติดป้ายบอกทาง และการบริการต่าง ๆ ซึ่งเอกชนสามารถรับมอบโครงการได้ก่อนวันที่ 24 ต.ค.ก็ได้”

นายสุจิตต์กล่าวอีกว่า วันที่ 25 มี.ค.นี้คณะทำงานส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงมีปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน จะประชุมติดตามความคืบหน้าและปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ขณะนี้ ร.ฟ.ท.เคลียร์เวนคืนที่ดินเฟสแรกช่วงสุวรรณภุมิ-อู่ตะเภาได้แล้ว 75-76% จ่ายค่าเวนคืนไปแล้วกว่า 2,000 ล้านบาท ส่วนการรื้อย้ายผู้บุกรุกเสร็จแล้ว พร้อมจะส่งมอบพื้นที่ให้กลุ่ม ซี.พี.ตามกำหนด

“สิ้นเดือน มี.ค.นี้จะขอ ครม.อนุมัติวงเงินเวนคืนเพิ่ม 2,100 ล้านบาท จ่ายค่าเวนคืนเฟสแรก 600 ล้านบาท ที่เหลือจะเป็นค่าใช้จ่ายช่วงพญาไท-ดอนเมือง จะมีปัญหาบุกรุกมากกว่า 300 ราย”

ทั้งนี้ ร.ฟ.ท.ร่วมกับการเคหะแห่งชาติ (กคช.) จะพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยให้เช่าเป็นทางเลือกให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบเวนคืนรถไฟความเร็วสูง จะนำที่ดินบนถนนกำแพงเพชร 6 ตรงดอนเมือง ใกล้สายสีแดงสถานีหลักหก ตลาดสี่มุมเมือง 6 ไร่ ให้ กคช.เช่ายาว สร้างอาคาร 8 ชั้น รวม 300-500 ห้อง ขนาด 33-35 ตร.ม. คิดค่าเช่าในอัตราผู้มีรายได้น้อย