เปิดคำวินิจฉัยกลางศาลรัฐธรรมนูญฉบับเต็มพลิก “คดีค่าโง่โฮปเวลล์”

ศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่คำวินิจฉัยกลางกรณีผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นวินิจฉัยมติที่ประชุมใหญ่ตุลาใหญ่ศาลปกครองสูงสุดขัดรัฐธรรมนูญ เหตุไม่ทำตามมาตรา 5 และมาตรา 6 วรรคหนึ่งพ.ร.บ.จัดตั้งปี 42 ส่อพลิกคดีโฮปเวลล์ ย้อนท่าทีบิ๊กรัฐบาลชี้สัญญาณดีจ่อรื้อคดีโฮปเวลล์ใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2564 เว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญ เผยแพร่คำวินิจฉัยกลาง

คำวินิจฉัยที่ 5/2564 ลงวันที่ 17 มี.ค. 2564 เรื่อง ผู้ตรวจการแผ่นดิน (ผู้ร้อง) โดยการร้องเรียนของกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับคดีค่าโง่โฮปเวลล์ มีสาระสำคัญมีดังนี้

สรุปวินิจฉัย 2 ปม

ผู้ตรวจการแผ่นดินรับเรื่องมาจากกระทรวงคมนาคมและ ร.ฟ.ท. และศาลปกครองสูงสุดได้ส่งเอกสารชี้แจงมาแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญสรุปประเด็นที่วินิจฉัย​ได้ 2 ประเด็นคือ

1. มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 เรื่อง ปัญหากับระยะเวลาฟ้องคดีทางปกครอง ขัดหรือแย้งกับพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณา​คดีปกครอง 2542 หรือไม่ และ

2.หากมติดังกล่าวเป็นการออกระเบียบ จะต้องทำตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณา​คดีปกครอง 2542 มาตรา 5 และ 6 วรรคหนึ่ง​หรือไม่ และเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ​มาตรา 3 วรรคสอง, มาตรา 25 วรรคสาม, มาตรา 188 และมาตรา 197 หรือ​ไม่

มติตุลาการศาลสูงเป็นไปตามพ.ร.บ.ปี’42

ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ในประเด็นที่ 1 มติที่ประชุมใหญ่ดังกล่าวเป็นการออกตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณา​คดีปกครอง 2542 เพราะมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 เป็นการพิจารณาปัญหาที่เกี่ยวกับที่เกี่ยวกับระยะเวลาฟ้องคดีในกรณีที่เหตุแห่งการฟ้องคดีเกิดขึ้นก่อนศาลปกครองเปิดทำการ

ประกอบกับ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ ไม่ได้บัญญัติบทเฉพาะกาลนับระยะเวลาฟ้องคดีในช่วงเปลี่ยนผ่านในการใช้กฎหมายไว้ จึงมีการนำปัญหาดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมตุลาการใหญ่ศาลปกครองสูงสุด ซึ่งถือว่าเป็นการกำหนดแนวทางแห่งการวินิจฉัยปัญหา มิได้กล่าวถึงข้อเท็จจริงถึงคดีใดคดีหนึ่งเป็นการเฉพาะ เป็นการกำหนดวิธีการดำเนินการทั้งปวงเกี่ยวกับการฟ้องคดีตามมาตรา 44 แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ

มติศาลสูงไม่ทำตามมาตรา 5-6 พ.ร.บ.ปี’42

ส่วนประเด็นที่ 2 แม้มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 เรื่อง ปัญหากับระยะเวลาฟ้องคดีทางปกครอง จะเป็นการออกระเบียบหลักเกณฑ์ตามอำนาจที่มีของมติที่ประชุมใหญ่ของตุลาการศาลปกครองสูงสุด แต่ก็ต้องปฏิบัติตามมาตรา 5 และมาตรา 6 วรรคหนึ่ง

ดั่งเช่น”ระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาคดีปกครองที่โอนมาจากเรื่องร้องทุกข์ตามกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกา 2544″ ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2544

จึงถือว่ามติที่ประชุมใหญ่ดังกล่าว ไม่ได้ออกตามความในมาตรา 5 และมาตรา 6 วรรคหนึ่ง จึงพิจารณาต่อไปว่า มติที่ประชุมใหญ่ดังกล่าวขัดหรือแย้งกับมาตรา 3 วรรคสอง, มาตรา 25 วรรคสาม, มาตรา 188 และมาตรา 197 ของรัฐธรรมนูญหรือ​ไม่

มติที่ประชุมใหญ่ขัดรัฐธรรมนูญ

วินิจฉัยแล้วเห็นว่า จากกระบวนการออกมติที่ประชุมใหญ่ข้างต้น เป็นการออกระเบียบโดยไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติ จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญตามมาตรา 3 วรรคสองและ มาตรา 197 วรรคสี่ ส่วนมาตราอื่นๆไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย

ดังนั้น มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 เรื่อง ปัญหากับระยะเวลาฟ้องคดีทางปกครอง เป็นการออกระเบียบตามมาตรา 44 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณา​คดีปกครอง 2542 แต่ไม่ได้ดพเนินการตามมาตรา 5 และมาตรา 6 วรรคหนึ่ง จึงขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมาตรา 3 วรรคสองและมาตรา 197 วรรคสี่

วิษณุ-ศักดิ์สยาม ชี้สัญญาณดี”รื้อคดีใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับแนวทางการรื้อคดีโฮปเวลล์ขึ้นมาพิจารณาใหม่ ก่อนหน้านี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เคยให้สัมภาษณ์ว่า คำวินิจฉัยดังกล่าวถือว่าเป็นคุณ เป็นสัญญาณบวก ซึ่งหลังจากนี้กระทรวงคมนาคมจะเป็นเจ้าของเรื่อง อย่างไรก็ดีหากต้องการความคิด ความเห็นเรื่องใด สามารถเชิญหน่วยงานต่าง ๆ มาระดมความเห็นได้

ขณะที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เคยระบุไว้ว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนับว่าเป็นสัญญาณที่ดี ทำให้คมนาคมและ ร.ฟ.ท.มีแนวทางต่อสู้คดีต่อไป

นอกจากนี้กระทรวงคมนาคมจะมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนความผิดทางอาญาเพิ่มเติม โดยมี นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน ซึ่งเรื่องนี้มีรายละเอียดมากต้องใช้เวลาพิจารณา

และขณะนี้คณะกรรมการสอบสวนความผิดในการละเมิด อยู่ระหว่างการส่งรายชื่อคณะกรรมการ เพื่อแต่งตั้งสอบสวนหาความผิดดังกล่าวมาที่เรา ให้พิจารณา เนื่องจากเรื่องที่เกิดขึ้นเราไม่ได้เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ ซึ่งเป็นอำนาจที่เราสามารถแต่งตั้งได้ หากเราเกี่ยวข้อง จะเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี(ครม.)เป็นผู้พิจารณา

ย้อนรอยปมต่อสู้คดี

อนึ่ง ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาข้อพิพาทโครงการโฮปเวลล์เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2562 ให้บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ชนะคดีตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ให้ภาครัฐโดยกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จ่ายค่าชดเชยรวม 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี หรือประมาณ 25,000 ล้านบาท ภายใน 180 วันนับคดีถึงที่สุด

ต่อมาคมนาคมและ ร.ฟ.ท. ยื่นผู้ตรวจการแผ่นดิน ถึงมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 วันที่ 27 พ.ย. 2545 ไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายไม่ได้ส่งให้สภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบและไม่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา มองว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่สามารถใช้บังคับได้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 มาตรา 5 มาตรา 6 และมาตรา 44

รวมถึงการกำหนดให้เริ่มนับอายุความคดีปกครองตั้งแต่วันที่ศาลปกครองเปิดทำการตั้งแต่วันที่ 9 มี.ค. 2544 ผิดไปจาก พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 มาตรา 51 ให้เริ่มนับระยะเวลาอายุความคดีปกครองตั้งแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี

โดยผู้ตรวจการแผ่นดินได้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเมื่อปลายปี 2563 และมีคำวินิจฉัยวันที่ 17 มี.ค. 2564 ที่ผ่านมา