โควิดทุบรายได้ กทม.วูบ ดึงเงินสะสม 1.2 หมื่นล้านโปะ

พิษโควิด กทม.จัดเก็บรายได้ปี’64 ต่ำเป้า 7.55 หมื่นล้าน คาดลดลง 8,000 ล้าน ขอสภาดึงเงินสะสมจ่ายขาด 1.2 หมื่นล้าน ยังไม่มีการตั้งงบฯจ่ายหนี้บีทีเอส เดินหน้าโครงการแก้ปัญหาจราจร การศึกษา ระบายน้ำ น้ำท่วม ระบบสาธารณสุข เตรียมเปิดช่อง PPP กระตุ้นการลงทุนโปรเจ็กต์เกิน 500 ล้าน นำร่องรถไฟฟ้าสายสีเทา โรงบำบัดน้ำเสีย

แหล่งข่าวจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ยังรุนแรง กระทบต่อปัญหาเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และการปรับลดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ทำให้ในปี 2564 กทม.จะเก็บรายได้ต่ำเป้าประมาณ 7,000-8,000 ล้านบาท จาก 75,500 ล้านบาท คาดว่าจะจัดเก็บได้ประมาณ 67,555 ล้านบาท เท่ากับปี 2563 ขณะนี้จัดเก็บได้แล้วกว่า 35,673 ล้านบาท

“เมื่อจัดเก็บรายได้น้อยลงมีผลกระทบการลงทุนโครงการใหม่ โครงการไหนที่ยังไม่จำเป็นต้องดำเนินการจะชะลอไว้ก่อน เพราะจากโควิดทำให้รัฐจัดเก็บรายได้ลดลง เป้าปีนี้จะต้องเก็บรายได้ 75,500 ล้านบาท แยกเป็นรายได้ กทม.จัดเก็บเอง 12,000 ล้านบาท ส่วนราชการอื่นจัดเก็บให้ 63,500 ล้านบาท เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ดูแล้วจะลดลงตามสภาวะเศรษฐกิจ”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ปัจจุบัน กทม.อยู่ระหว่างขออนุมัติจากสภา กทม.อนุมัติร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 พ.ศ. … โดยจ่ายขาดจากเงินสะสมของ กทม.รวมงบประมาณกว่า 12,190 ล้านบาท เนื่องจากมีความจำเป็นในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในด้านต่าง ๆ

ได้แก่ ด้านการโยธาและระบบจราจร การศึกษา ระบายน้ำ บำบัดน้ำเสีย และแก้ไขปัญหาน้ำท่วม สาธารณสุข ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน และด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมทั้งการส่งเสริมความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง ซึ่งเป็นโครงการที่ถูกตัดงบประมาณปี 2563 ที่มีความจำเป็นและเป็นโครงการใหม่ของปี 2565

“ปีนี้ กทม.ขอดึงเงินสะสมที่มีอยู่ 66,305 ล้านบาทมาใช้แบบจ่ายขาดมากกว่าทุกปี เพราะยังมีโครงการที่จำเป็นจะต้องเดินหน้าต่อ แต่ยังไม่รู้ว่าจะได้รับอนุมัติเท่าไหร่ เนื่องจากยังไม่ผ่านการพิจารณาจากสภา กทม.”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ในส่วนของงบประมาณปี 2565 ตั้งเป้าไว้ 78,000 ล้านบาท เนื่องจากสำนักการคลัง กทม.คาดการณ์จะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ประมาณ 2,000 ล้านบาท โดยมีงบฯสำหรับงานด้านลงทุนใหม่ประมาณ 11,700 ล้านบาท ขณะที่เงินเดือนบุคลากรอยู่ที่ 29,040 ล้านบาท

“ปี 2565 ยังมีภาระที่จะต้องชำระคืนเงินสะสมที่ยืมมาจำนวน 6,000 ล้านบาท อาจจะทำให้รายได้ที่จะรับจริงลดลงไปอีก อาจจะต้องนำเงินสะสมมาใช้ในการดำเนินการโครงการต่าง ๆ”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม กทม.ได้ปรับรูปแบบการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ มูลค่าเกิน 500 ล้านบาท จะพึ่งพางบประมาณ กทม.อย่างเดียวคงไม่ได้ ต้องให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนด้วยในรูปแบบ PPP เพื่อให้การผลักดันโครงการเป็นไปตามเป้า

ขณะนี้มีหน่วยงานเสนอโครงการมาบ้างแล้ว คิดเป็นมูลค่าการลงทุนรวม 114,500 ล้านบาท ได้แก่ สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) เสนอโครงการ PPP รถไฟฟ้ารางเบาสายบางนา-สุวรรณภูมิ วงเงิน 27,000 ล้านบาท และสายสีเทาวัชรพล-พระราม 9-ทองหล่อ-ท่าพระ วงเงิน 45,000 ล้านบาท

จะเริ่มดำเนินการเฟสแรกจากวัชรพล-พระราม 9-ทองหล่อ ระยะทาง 16.25 กม. จำนวน 15 สถานี และสำนักการระบายน้ำเสนอโครงการบำบัดน้ำเสียที่คลองเตย วงเงิน 18,000 ล้านบาท บึงหนองบอน 10,000 ล้านบาท เคหะชุมชนร่มเกล้า 1,500 ล้านบาท และธนบุรี 13,000 ล้านบาท

แหล่งข่าวยังกล่าวถึงการตั้งงบประมาณเพื่อชำระคืนหนี้กว่า 30,000 ล้านบาท ให้ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) กทม.ไม่ได้มีการจัดสรรงบประมาณประจำปีไว้ทั้งในปี 2564-2565 ล่าสุดสภา กทม.ไม่อนุมัติให้นำเงินสะสมมาชำระคืนได้ตามที่ กทม.ยื่นเสนอขอไปประมาณ 9,000 ล้านบาท


ทางออกต้องรอการอนุมัติสัมปทานจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เอกชนจะรับภาระหนี้ต่าง ๆ ให้ กทม.ไปก่อน แลกกับการขยายสัญญาสัมปทานให้เดินรถสายสีเขียวทั้งโครงการ 30 ปี