ขสมก.-ช ทวี ฟ้องกันอุตลุด มหากาพย์เลิกสัญญา E-Ticket-จัดหารถเมล์ NGV 489 คัน

“ขสมก.-ช ทวี” ฟ้องกันอุตลุด มหากาพย์เลิกสัญญา “E-Ticket” – “จัดหารถเมล์ NGV 489 คัน”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2564 บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) หรือ CHO แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ว่า ตามที่บริษัทได้ทำสัญญาให้เช่าระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมอุปกรณ์ E-Ticket กับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ติดตั้งระบบฯ อุปกรณ์ บนรถโดยสารประจำทาง จำนวน 2,600 คัน มีกำหนดระยะเวลาการเช่า 5 ปี มูลค่าโครงการรวม 1,665,000,000 บาท

โดยบริษัทได้ส่งมอบงานระบบฯตามสัญญา แต่ ขสมก.ได้ปฏิเสธการรับมอบงานระบบฯ และมีหนังสือยกเลิก
สัญญามายังบริษัท ต่อมาบริษัทได้เชิญสถาบันผู้เชี่ยวชาญจำนวน 2 แห่งเข้าตรวจทดสอบการทำงานได้ของระบบฯ ตามข้อกำหนด TOR แล้วผลปรากฏว่าผลการทดสอบตรงกัน และหรือสอดคล้องกันถึงการทำงานได้ของระบบเป็นไปตามข้อกำหนด TOR ทุกประการ

โดยเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2562 บริษัทจึงได้ยื่นฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจากการลงทุน และสิทธิในค่าเช่าอันควรจะได้รับตามสัญญาเช่าฯ เป็นเงินจำนวน 1,556,074,766.36 บาท พร้อมให้ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนถึงวันชำระแล้วเสร็จ และให้ ขสมก. คืนหลักประกันสัญญาฯ จำนวนเงิน 166,500,000 บาท ศาลได้พิจารณาคำฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูลจึงได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2562 รับคำฟ้องไว้พิจารณาแล้วเป็นคดีหมายเลขดำที่ 1998/2562 ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลปกครองกลาง นั้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2564 ขสมก.ได้ยื่นฟ้องบริษัทเป็นคดีใหม่ ต่อศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดำที่ 410/2564 เรียกค่าเสียหายเป็นค่าปรับตามสัญญาและค่าชดเชยรายได้ค่าโดยสารจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและดอกเบี้ยผิดนัด รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 109,924,281.33 บาท ซึ่งคดีดังกล่าวถือเป็นคดีโครงการเดียวกันกับคดีซึ่งบริษัทได้ยื่นฟ้องไว้ก่อนแล้วดังกล่าวข้างต้น

บริษัทจึงได้มอบหมายให้สำนักงานกฎหมายดำเนินการ อยู่ระหว่างเตรียมยื่นคำให้การต่อศาลตามขั้นตอน
นอกจากนี้ ในปี 2559 หลังจาก ขสมก. ได้มีหนังสือยกเลิกการลงนามสัญญาซื้อขายและซ่อมบำรุงรักษารถยนต์โดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) จำนวน 489 คัน ครั้งที่ 3/2558 ภายหลังจากที่บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมประมูลในนามกิจการร่วมค้า เจวีซีซี ได้รับการประกาศให้ชนะการประกวดราคาเสนอขายจำนวนเงิน 1,735.6 ล้านบาท

และจ้างเหมาซ่อมแซมบำรุงรักษารถโดยสาร NGV จำนวนเงิน 2,446.35 ล้านบาท กิจการร่วมค้า เจวีซีซีจึงได้ยื่นฟ้อง ขสมก. เป็นคดีหมายเลขดำที่ 294/2559 ลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2559

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564 ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาเป็นคดีหมายเลขแดงที่ 424/2564
ให้เพิกถอนประกาศยกเลิกการประกวดราคาและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการ ขสมก. โดยให้มีผลย้อนหลังนับตั้งแต่วันที่มีประกาศยกเลิกการประกวดราคาและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว และให้ ขสมก. ชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 265,842 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่ผู้ฟ้องคดี โดยชำระให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด

พร้อมกันนี้ให้ยกฟ้องคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์และกระทรวงการคลัง และให้คืนค่าธรรมเนียมศาลบางส่วนตามส่วนของการชนะคดีแก่กิจการร่วมค้าฯ ด้วยเหตุผลสำคัญว่ากิจการร่วมค้าฯ ได้ทราบข้อกำหนดใน TOR ถึงสิทธิที่ ขสมก.สามารถยกเลิกสัญญาเมื่อใดก็ได้โดยอีกฝ่ายไม่มีสิทธิเรียกร้องใดๆ ถือว่ากิจการร่วมค้าฯ เสี่ยงภัยเข้าทำสัญญาเอง จึงกำหนดค่าเสียหายจำนวนค่อนข้างน้อยดังกล่าว

ทั้งนี้ บริษัทเห็นว่าเหตุผลดังกล่าวของศาลฯ ไม่เป็นธรรมจึงได้ดำเนินการยื่นอุทธรณ์เพื่อโต้แย้งและเรียกค่าเสียหายเพิ่มต่อศาลปกครองสูงสุดแล้ว เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2564

นอกจากนี้ บริษัท ช.ทวี ดอลลาเซียน จํากัด (มหาชน) ที่ได้ร่วมกับกิจการร่วมค้า เจวีซีซี ได้เข้าประกวดราคาในโครงการจัดซื้อรถโดยสารปรับอากาศ NGV)จํานวน 489 คัน ซึ่งบริษัทฯ ชนะการประมูลและได้รับหนังสือแจ้งการเป็นผู้ชนะประมูล ต่อมาได้รับหนังสือจากหน่วยงานรัฐขอยกเลิกการทําสัญญาซื้อรถโดยสารใช้ก๊าชธรรมชาติ NGV จํานวน 489 คัน วงเงิน 1,784.85 ล้านบาท และสัญญาจ้างซ่อมแซมบํารุงรักษารถโดยสารดังกล่าวระยะเวลา 10 ปี วงเงิน 2,446.35 ล้านบาท

ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีมติอนุมัติให้ยื่นอุทธรณ์ ต่อคณะกรรมการของหน่วยงานรัฐ โดยหน่วยงานรัฐได้ยืนยันมติยกเลิก คณะกรรมการบริษัทจึงมีมติให้ยืนคําร้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ศาลปกครองเพิกถอนคําสั่งยกเลิกและเรียกร้องค่าเสียหาย รวมเป็นเงินประมาณ 1,500 ล้านบาท


นอกจากนี้ กรณีมีความจําเป็น อาจจะต้องยื่นขอคุ้มครองชั่วคราวต่อศาล เพื่อทุเลาการบังคับตามคําสั่งยกเลิกโครงการ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันความเสียหายแก่กิจการร่วมค้าฯ และบริษัทฯ ต่อไป