พญ.ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ “โควิดเซตสแตนดาร์ดใหม่แคมป์คนงาน”

พญ.ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์
สัมภาษณ์พิเศษ
เมตตา ทับทิม

คลัสเตอร์โควิดในแคมป์คนงานก่อสร้าง ดูเหมือนจะเป็นโจทย์ใหม่ให้กับผู้บริหาร “กทม.-กรุงเทพมหานคร” จากการมีไซต์ก่อสร้างขึ้นทะเบียนจำนวน 447 แห่ง กระจายในพื้นที่ 50 เขต 180 แขวง

“ประชาชาติธุรกิจ” ขอสัมภาษณ์พิเศษปลัดกรุงเทพมหานคร (นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์) ซึ่งได้มอบหมายให้ทางผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. “พญ.ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์” เป็นผู้ให้สัมภาษณ์แทน ในฐานะเป็นหนึ่งในหน่วยงานหลักที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าในสถานการณ์โควิด

Q : บทบาทหลักของสำนักอนามัยฯ

สำนักอนามัยฯเป็นหนึ่งในหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบการปฏิบัติหน้าที่ภาคสนาม ภารกิจคือการตรวจเฝ้าระวัง ดูสัญญาณการติดเชื้อ อันไหนมีความสุ่มเสี่ยง เช่น ตลาด ซึ่งเป็นสถานที่มีคนจำนวนมาก ถ้าไม่ทำตามมาตรการป้องกันและควบคุมโควิดเลย และมีคนต่างด้าวเข้าไปอยู่ในสถานที่ก็มีความเสี่ยงแล้ว เรามีบอดี้กองสุขาภิบาลอาหาร สิ่งแวดล้อมไปตรวจ เราเป็นคนออกกติกาแล้วให้ผู้ประกอบการ เจ้าของหรือผู้ทำการแทนรับไปทำ

พอถึงการระบาดก็ต้องมีการควบคุมมาตรการสาธารณสุข มาตรการสิ่งแวดล้อม มาตรการส่วนบุคคล งานส่วนนี้ต้องบูรณาการรวมกันระหว่างสำนักงานเขต

ถามว่าพื้นที่เป้าหมายตรวจโรคมีที่ไหนบ้าง ต้องบอกว่าตอนนี้ดูจากการระบาดก็คือมีทั่วไปหมดแล้ว แน่นอนว่าพื้นที่เป้าหมายของเราต้องเป็นเขตที่มีคนรวมกันเยอะ ๆ อย่างสถานประกอบการซึ่งเราทำไปเยอะแล้ว ที่เหลือมีโรงงาน ชุมชน แคมป์ก่อสร้าง 447 แห่ง ตลาดมี 480 แห่ง

เบสแคมป์คือศูนย์บริการสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร 69 ศูนย์ทั่วกรุงเทพฯ ตอนนี้ 1 ศูนย์อาจดูแลพื้นที่ 1 เขตหรือครึ่งเขต และมีทีมสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว กำลังของบประมาณเพื่อจ้างนักศึกษาจบใหม่ด้านสาธารณสุขเพิ่มให้มี 140 ทีม เจ้าหน้าที่ทีมละ 3 คน

Q : ACF กับการสอบสวนโรคต่างกันยังไง

การตรวจคัดกรองโควิด ถ้ายังไม่มีผู้ติดเชื้อเรียกว่า การเฝ้าระวัง คือการไปเฝ้าดูว่าคนนั้นมีโอกาสติดเชื้อไหม ส่วนการสอบสวนโรคคือ สอบสวนคนที่ติดเชื้อโควิดแล้ว ไปสอบให้ได้ว่าต้นเหตุ สาเหตุของการติดโรค ไทม์ไลน์เป็นยังไง

ขณะที่ ACF-active case finding อยู่ในกระบวนการค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติม หลังจากที่มีการระบาด มีโอกาสระบาดเป็นวงกว้างด้วย ซึ่งการสอบสวนโรคเพื่อให้รู้ว่าโอกาสติดเชื้อมาจากตรงไหน มีคนเสี่ยงเท่าไหร่ อะไรคือปัจจัยเสี่ยง

และต้องให้นักวิชาการดูว่าขนาดนี้ควรจะต้องมีการไปสอบสวนโรคและค้นหาเชิงรุกเพิ่มเติมไหม เช่น ตลาด ชุมชน เพราะอาจไม่ได้อยู่ในครอบครัวแล้ว อาจกระจายไปที่อื่นแล้ว มีจุดศูนย์กลางระบาดใหม่ใช่ไหม ถ้าระบาดหลายจุดก็ต้องไปค้นหาเพิ่มเติมไว้ก่อน เพราะเราไม่สามารถซีลคนพวกนี้ได้ ถ้าเอาเชื้อไปแพร่เราก็ต้องหาเชื้อไว้ก่อน เป็นกระบวนการหนึ่งในการควบคุมโรค

สำนักอนามัยฯวางแผนจัดทีมลงพื้นที่เสี่ยงเพื่อทำ ACF ต่อเนื่องถึง 30 กันยายน 2564 โดยกำหนดลงพื้นที่ 6 กลุ่มเขต

Q : คอลเซ็นเตอร์ติดโผด้วย

กรณี call center ไม่ได้มีปัญหากลุ่มก้อนใหญ่รุนแรงอะไร เพียงแต่รูปแบบทำงานมีการเปิดปาก (ไม่ได้ใส่แมสก์) นั่งใกล้กัน มีความแออัด เพราะฉะนั้น ถ้ามีคนติดโควิดขึ้นมาจะระบาดต่อได้ง่ายเพราะไม่มีหน้ากาก แถมนั่งในห้องทำงานที่มีการกระจุกตัว

ก็เลยคิดว่าต้องเฝ้าระวัง หากไปเจอลักษณะคล้ายกันก็สามารถนำโมเดลมาตรการควบคุม call center ไปปรับใช้ได้เลย ทำให้ประกาศ กทม.ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2564 สาระสำคัญจึงมีมาตรการควบคุม 3 เรื่อง คือ มาตรการควบคุมตลาด แคมป์คนงานก่อสร้าง และ call center

Q : แคมป์คนงานก่อสร้างมีปัญหารุนแรงแค่ไหน กทม.เอาอยู่ไหม

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ทฤษฎีการควบคุมโรคเป็นสามเหลี่ยม คือ “คน เชื้อโรค สภาพแวดล้อม” ถ้าองค์ประกอบอะไรบกพร่องก็สร้างปัญหาได้แล้ว ยิ่งถ้าบกพร่องทั้งสามเหลี่ยมก็กลายเป็นโรคระบาดที่มีความรุนแรง

เพราะฉะนั้น คนมักจะคิดว่าเมื่อติดโรคแล้วก็พุ่งมาเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เป็นความเข้าใจผิด ต้องปรับพื้นฐานกันก่อนว่าโรคระบาดไม่ได้มีผลกระทบแค่ความเจ็บป่วยแต่มีผลกระทบด้านเศรษฐกิจ เช่น เมื่อมีผู้ติดเชื้อแล้วปิดตลาด ปิดบริษัท ปิดไซต์ก่อสร้าง ปิดแคมป์คนงาน ผลกระทบเป็นยังไง ฯลฯ

ถ้าไม่เข้าใจตั้งแต่จุดเริ่มต้นก็จะเจอแต่จุดยาก ๆ ในการควบคุมและป้องกัน ซึ่งการควบคุมโรคทุกอย่างต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชน และสถานประกอบการเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญที่สุด

ฉะนั้น คำว่าเอาอยู่ ถ้าแรงงานต่างด้าวที่เป็นแรงงานก่อสร้าง ร่างกายแข็งแรง เวลาติดเชื้ออาการจะไม่รุนแรง วิธีการดูแลถ้าสามารถควบคุมเขาอยู่โดยไม่ไปไหน ก็จะสามารถทำงานต่อไปได้ด้วยกรณีเจอผู้ป่วยโควิด 5% 10% จะมีมาตรการปิดไซต์ 3 วันเพื่อดึงคนป่วยออกมารักษาเท่านั้น

ทั้งนี้ทั้งนั้น การตรวจหาเชื้อครั้งที่ 1-ครั้งที่ 2 เราสามารถแยกเขาได้ไหมว่าติดหรือไม่ติด วันนี้ตรวจไม่เจอเพราะยังไม่แสดงอาการ พรุ่งนี้อาจป่วยแล้วก็ได้ วิธีการก็เลยให้ตรวจแบบสุ่มตรวจได้ เฝ้าระวังเมื่อเจอเคสผู้ป่วย ดูแลสุขาภิบาลภายในแคมป์

Q : เอกชนอยากให้ฉีดวัคซีนคนงานทุกคน

ไม่ได้เด็ดขาด ถ้าฉีดวัคซีนให้คนงานก่อสร้างโดยที่เราไม่รู้ว่ามีผู้ติดเชื้อหรือไม่ แล้วไปฉีดให้หมดทุกคน 100% กรณีมีผู้ป่วยโควิดรวมอยู่ด้วย จุดอันตรายคือจะทำให้มีความเสี่ยงเกิดปัญหาโรคกลายพันธุ์ได้ ดังนั้น จึงไม่แนะนำเพราะแคมป์คนงานอยู่อาศัยเป็นคลัสเตอร์ใหญ่

Q : การปิดแคมป์กับทำบับเบิล & ซีล

สองอย่างนี้ไม่เหมือนกัน สำนักอนามัยฯเราตรวจเพื่อจับการระบาด แคมป์คนงานก่อสร้าง 447 แคมป์ มีนโยบายสุ่มตรวจเฉพาะแคมป์ที่มีคนงาน 100 คนขึ้นไป และเน้นตรวจแรงงานต่างด้าวมากกว่าแรงงานไทย ถ้าตรวจเจอผู้ป่วยโควิด 5% เท่ากับมีการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนหรือมีการระบาดแล้ว

ถ้าเจอเราต้องเข้าไปจัดการให้แคมป์มีระบบสุขาภิบาลถูกสุขลักษณะ เช่น ที่อยู่ที่กิน ห้องน้ำ ที่ทำอาหารไปจนถึงดูน้ำทิ้ง หากพบผู้ติดเชื้อจะส่งต่อให้สำนักงานเขตประสานงานแยกผู้ติดเชื้อ รักษา กักกันผู้มีความเสี่ยงสูง และถ้าเจอผู้ติดเชื้อมากกว่า 10% มีมาตรการทำ bubble & seal ควบคู่กับ camp isolation ก็คือไม่ให้ไปไหน ไม่ให้ไปรักษาข้างนอก มีโรงพยาบาลสนามในแคมป์

คำว่า bubble & seal มีการตรวจเจอผู้ติดเชื้อแล้วประกาศเป็นเขตพื้นที่ห้ามการเข้า-ออก โดยไซต์ก่อสร้างสามารถทำงานต่อได้ แต่ถ้าปิดแคมป์ก็คือหยุดหมด ทำงานต่อไม่ได้ มีผลกระทบด้านเศรษฐกิจของโครงการ

ที่ผ่านมาเมื่อเจอผู้ติดเชื้อเราจะให้ปิดแคมป์ 3 วัน เหตุผลหลักเพื่อทบทวนมาตรการควบคุมและป้องกันโควิดมีความเข้มข้นไหม และเพื่อตรวจสอบระบบสุขาภิบาลในแคมป์โดยเฉพาะ มีอะไรต้องปรับปรุงแก้ไข หรือมีอะไรที่ต้องทำเพิ่มเติม ถ้าเป็นแคมป์คนงานที่สะอาดมักไม่ค่อยมีปัญหา ส่วนใหญ่แคมป์ขนาดเล็ก อยู่แบบชาวบ้าน ๆ และอยู่กันมานานก็ไม่ค่อยมีปัญหาเช่นกัน

การปิดแคมป์ทำ bubble & seal นอกจากได้เข้ามาดูแลสุขาภิบาลภายในแคมป์แล้ว ถือว่าเป็นโอกาสที่เข้ามาช่วยดูแลคุณภาพชีวิตแรงงานได้ด้วย เพราะถ้าสถานประกอบการหรือเจ้าของไม่ทำให้ดีตั้งแต่ต้น มีการติดเชื้อมีคลัสเตอร์เกิดขึ้นในแคมป์คุณก็เป็นผู้สูญเสียโดยตรง

Q : แนะนำเจ้าของแคมป์ยังไงบ้าง

เรื่องแรกเลยต้องดูแลสุขาภิบาลในแคมป์ให้ดีเยี่ยม อีกเรื่องเวลาคุณรับคนงานเข้ามาคุณมั่นใจได้ยังไงว่าเขาคุยกันรู้เรื่อง ต้องแยกเขาไหม สำหรับแรงงานต่างด้าวที่รับใหม่ (ที่พัก) อย่าไปรวมกับคนที่อยู่เดิม เพราะไม่รู้ที่มาที่ไป อาจจะรับเชื้อมาจากไหนก็ไม่รู้ เพราะการตรวจหาเชื้อวันแรกก็ไม่รู้หรอก สมมุติตรวจ 5 วันเชื้อยังไม่แสดง ใจพี่คิดนะถ้ารับคนงานมาใหม่ควรแยกกักตัวเลย 14 วัน ปลอดภัยสุด

อยากให้เจ้าของแคมป์เห็นและตระหนักว่าผลกระทบที่จะได้รับคืออะไร แค่นั้นเอง รู้ถึงความเสี่ยงของคุณถ้าไม่ทำแบบนี้แล้วจะต้องเจออะไร

Q : โควิดเซตสแตนดาร์ดแคมป์ก่อสร้างเหมือนกัน

ถูกต้อง พี่ว่ามันเป็นการเซตสแตนดาร์ดทุกชนิด ทุกแคมป์ที่มีคนอยู่รวมกันจำนวนมาก