ถามมา-ตอบไป 13 ข้อชี้แจง ประมูลทางคู่เหนือ-อีสาน 1.28 แสนล้าน

การประมูลรถไฟทางคู่ “สายเหนือ-สายอีสาน” กลายเป็นประเด็นเมกะโปรเจ็กต์ในหม้อน้ำเดือดในรอบเดือนมิถุนายน 2564 ที่มีการออกมาชี้แจงเป็นทางการอย่างน้อย 3 ครั้งด้วยกัน

ไทม์ไลน์การประมูลที่เปิดให้รับเหมาเอกชนยื่นซองประกวดราคาเดือนพฤษภาคม, มิถุนายนพิจารณา และประกาศผลผู้ชนะประมูลในเดือนกรกฎาคม 2564 ในระหว่างนี้จึงเป็นช่วงตะลุมบอนจากผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนอย่างเข้มข้น เพราะถือว่าตราบใดที่ยังไม่ประกาศเป็นทางการ ก็ยังไม่ปิดเกม

ทั้งนี้ เป็นการประมูลรถไฟทางคู่ 2 เส้นทาง “สายเหนือ-สายอีสาน” ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323 กิโลเมตร ราคากลาง 72,918 ล้านบาท ราคาประมูล 72,858 ล้านบาท

กับ “สายอีสาน” ช่วงบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กิโลเมตร ราคากลาง 55,456 หมื่นล้านบาท ราคาประมูล 55,410 ล้านบาท

e-Bidding โปร่งใสที่สุด

งานนี้ “ราชรถ 1-ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุว่า ต้นเรื่องมาจากการเปิดประมูลรถไฟทางคู่ 2 เส้นทาง “สายเหนือ-สายอีสาน” คำชี้แจงเริ่มต้น ณ บัดนี้ว่า

1.ขั้นตอนการประมูลโครงการ หน่วยงานเจ้าภาพคือ “ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย” ดำเนินการประกวดราคาตามระเบียบพัสดุที่เรียกว่า e-Bidding

“e-Bidding เป็นเรื่องของทางกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังเป็นผู้ดำเนินการ ทุกกระทรวงใช้ระบบนี้เหมือนกัน เพราะเป็นระบบที่คิดว่าดีที่สุดในการประมูลงานของประเทศไทยในขณะนี้”

2.ก่อนหน้านั้น มีการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนปี 2555 ต่อมามีการอนุมัติราคากลางในปี 2561, ปรับปรุงราคากลางปลายปี 2563, เปิดประมูล 25 พฤษภาคม 2564

3.รอยต่อเวลาปลายปี 2563 จนถึงการประมูลกลางปี 2564 ราคาวัสดุหลักคือเหล็กเส้นราคาแพงขึ้น 50% แต่ราคากลางประมูลรถไฟทางคู่ 2 สายทางนี้ยืนราคาเดิม เท่ากับรักษาผลประโยชน์ของรัฐ

4.มีการชี้แจงในรอบการพิจารณางบประมาณปี 2565 ตรวจสอบโดยสภาผู้แทนราษฎร

5.การชี้แจง 4.0 เปิดเวทีสนทนาในห้องคลับเฮาส์ โดยเชิญผู้ร่วมสนทนาจากองค์กรต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ, อธิการบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ ลาดกระบัง, ตัวแทนสื่อมวลชน และทีดีอาร์ไอเข้าร่วม

“แนวนโยบายกระทรวงคมนาคมต่อจากนี้จะประมูลอะไรก็ตาม นอกจากต้องทำตามระเบียบคือนำ TOR รับฟังความคิดเห็นก่อน ให้ทำคลับเฮาส์เชิญผู้สงสัยเข้ามาร่วมด้วย ส่วนจะมีการตรวจสอบอะไรเป็นเรื่องปกติ ไม่ได้เป็นประเด็นอะไรที่จะทำให้โครงการนี้มีปัญหาในการไม่สามารถดำเนินการได้” คำชี้แจงของ “ศักดิ์สยาม”

สัญญา “น้อยดีกว่ามาก”

ถัดมา ร.ฟ.ท.ได้เผยแพร่คำชี้แจงเพิ่มเติม ดังนี้ 6.มีการเปรียบเทียบงานประมูลทางคู่สายใต้ที่ต่ำกว่าราคากลาง 5.66% ขณะที่สายเหนือ-อีสาน ต่ำกว่าราคากลาง 0.08%

คำชี้แจงคือ “สายเหนือ” จาก 7 สัญญาเหลือ 3 สัญญา “สายอีสาน” จาก 5 สัญญาเหลือ 2 สัญญา เพราะมีตัวอย่างผลประมูลในอดีตการแบ่งสัญญาจำนวนน้อย มีผลลัพธ์ดีกว่าทำสัญญาย่อยหลายสัญญา ได้แก่ สัญญาย่อยทำให้แมเนจเมนต์เกิดการทับซ้อนกัน

ในประเด็นการขออนุมัติขั้นตอนก่อสร้าง, การควบคุมงานอาจวินิจฉัยสัญญาแตกต่างกันในหัวข้อเดียวกัน, สัญญาใหญ่ทำให้ประหยัดงบฯวัสดุงานถมเพราะรับเหมาคนเดียวกัน, ประหยัดค่าใช้จ่ายดำเนินการคุมงาน-เครื่องจักร-ยานพาหนะ-จ้างที่ปรึกษา รวมทั้งประหยัดเวลา เป็นต้น

7.การกำหนดคุณสมบัติผู้รับเหมาต้องมีผลงานก่อสร้างสัญญาเดียว 10% ของมูลค่างาน ทำให้ล็อกสเป็กรายใหญ่ คำชี้แจงคือ กรมบัญชีกลางกำหนดผลงานมีมูลค่าไม่เกิน 50% ของมูลค่างาน ร.ฟ.ท.กำหนดผลงานผู้ประมูลทางรถไฟ 15% ของมูลค่างานทำตามระเบียบ และคำนึงการเปิดโอกาสผู้มีสิทธิประกวดราคา

8.งานระบบอาณัติสัญญาณ ล็อกสเป็กให้รับเหมารายใดรายหนึ่งหรือไม่ คำชี้แจงคือผู้ผลิตที่มีคุณสมบัติตามเงื่อนไข ร.ฟ.ท.มีหลายราย และเงื่อนไขประกวดราคาไม่ได้กำหนดให้ผู้ผลิต ออกหนังสือรับรองให้แก่ผู้รับเหมาเพียงรายเดียวแต่อย่างใด

9.ผู้รับเหมาขนาดกลางเข้าประมูลได้หรือไม่ คำชี้แจงคือ การประมูลทางคู่ก่อนหน้านี้กำหนดเงื่อนไขสูงที่ 25% แต่ครั้งนี้ลดเหลือ 15% เป็นการเปิดกว้างให้รับเหมารายย่อย-รายกลางมีโอกาสขึ้นทะเบียนกับกรมบัญชีกลางได้มากขึ้น

ยึดชาตินิยม “Thai First”

ล่าสุด “สุรณเดช ธูปะวิโรจน์” วิศวกรใหญ่ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ชี้แจงเพิ่มเติม ดังนี้

10.กติกาถูกเปลี่ยนก่อนการประมูล สายเหนือจาก 6+1 สัญญาเหลือ 3 สัญญารวมติดตั้งอาณัติสัญญาณ คำชี้แจงคือมีการเปรียบเทียบประสบการณ์ประมูล สัญญาใหญ่ทางคู่ชุมทางจิระ-แก่งคอย สำเร็จใกล้เคียงเป้าหมายสร้างช้าเพียง 6 เดือน เทียบกับเฟส 1 3 สายทางที่ไม่รวมอาณัติสัญญาณสร้างช้ามากกว่า 2 ปี จากหลายปัจจัย สรุปได้ว่า การแบ่งสัญญาใหญ่รวม SNL มีผลกับความสำเร็จในการดำเนินงานมากกว่าการแบ่งเป็นสัญญาย่อย

11.มีการแบ่งเค้ก-ฮั้วราคาหรือไม่ คำชี้แจงคือ การกล่าวหาว่ามีการแบ่งเค้กและฮั้วราคา เป็นเรื่องของการคาดเดาและเป็นเพียงข้อสันนิษฐานของผู้กล่าวหา การรถไฟฯดำเนินการทุกขั้นตอนตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 อย่างเคร่งครัด

12.กลุ่มผูกขาด ไม่เชิญต่างชาติเข้าแข่งขัน คำชี้แจงคือ การรถไฟฯดำเนินการตามนโยบาย “Thai First ไทยทำ ไทยใช้ คนไทยต้องได้ก่อน” เป็นการสนับสนุนการจ้างงานในประเทศไทย จึงกำหนดให้ถ้ามีบริษัทคนไทยสามารถยื่นประมูลได้ แต่หากยื่นเป็นกลุ่ม ผู้นำกลุ่มต้องเป็นคนไทย

13.ถูกกฎหมายแต่ขัดใจประชาชน คราวนี้ไม่ได้ชี้แจงแต่ออกมายืนยันว่า ทุกขั้นตอนการประมูลทำตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด “ใคร ๆ ก็ดูและดาวน์โหลดเอกสารได้” และย้ำว่าประชาชนในเส้นทางรถไฟทางคู่รอคอยใช้บริการมานานหลายสิบปีตั้งแต่ริเริ่มโครงการ