ปรับสูตรธุรกิจ SCG “ลดเรื่องที่จะทำ ทำทีละเรื่องให้เสร็จ”

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส

โควิดปี 2564 ประเทศไทยถูกคลัสเตอร์โควิดโจมตีอย่างหนักจนต้องมีประกาศล็อกดาวน์ 14 วัน (12-25 กรกฎาคม 2564) “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส” กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ภายใต้สถานการณ์โควิดที่หนักหน่วงจนทำให้ระบบสาธารณสุขเริ่มรองรับไม่ไหว SCG คาดการณ์ว่าต้องใช้เวลา 3-4 เดือนกว่าจะคลี่คลาย

โฟกัสและจัดลำดับความสำคัญ

เคล็ดลับการนำพาเอสซีจีก้าวผ่านวิกฤตในช่วงครึ่งปีหลัง 2564 “รุ่งโรจน์” ระบุว่า SCG มีความพยายามที่จะทำอะไรหลาย ๆ อย่างไปพร้อมกัน เพราะมีความกังวลหลายเรื่อง

ทั้งกลัวตัวเองจะติดเชื้อโควิด-19 กลัวลูกน้องติดด้วย ห่วงลูกค้าไปจนถึงห่วงผลประกอบการของบริษัท และอยากทำทุกเรื่องให้ประสบความสำเร็จ ช่วงแรก ๆ จึงทำให้เกิดความสับสน ซึ่งอาจจะทำให้ทำอะไรไม่สำเร็จสักอย่าง

จึงกลับมาคิดว่า “…เราต้องลดเรื่องที่จะทำ และทำทีละเรื่องให้สำเร็จ แล้วจึงค่อยไปทำเรื่องอื่นต่อ”

ภูมิคุ้มกัน ศก. “R&D-ผลิตวัคซีนใน ปท.”

สถานการณ์โควิดมีหลายมิติ ทั้งมิติด้านการป้องกันการระบาด ความมีวินัย การมีเจ้าหน้าที่ อสม. การล็อกดาวน์ และมิติการบริหารจัดการวัคซีน แบ่งเป็น 1.ความพร้อมด้านการพัฒนาวัคซีน 2.มีฐานการผลิตในประเทศ และ 3.การซื้อ ซึ่งประเทศไทยอยู่ในกลุ่มกลาง คือ มีการวิจัยพัฒนาและมีฐานการผลิต อาจจะต้องใช้เวลากว่าจะเห็นผล ส่วนการจัดหา ต้องบอกว่าไม่ง่าย เพราะทุกประเทศมีความต้องการวัคซีน ประเทศที่ผลิตได้ เขาต้องเก็บไว้ใช้ก่อนจนกว่าคนของเขาจะได้รับวัคซีน 50% ของประชาชน จึงจะส่งออกไปช่วยเหลือประเทศอื่น

ดังนั้น สถานการณ์ครึ่งปีหลังของไทยเป็นช่วงที่สำคัญ และยังคงน่าเป็นห่วง เห็นด้วยให้มีการนำวัคซีนเข้ามาได้ เพื่อให้มีวัคซีนทางเลือกสำหรับประชาชน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการอำนวยความสะดวกของภาครัฐในการนำเข้า การกระจายให้ทั่วถึงกับประชากร หากทำได้ตามแผนที่ตั้งไว้จะช่วยให้เราเริ่มเปิดประเทศ และติดต่อกับประเทศอื่น ๆ ได้ เศรษฐกิจจะฟื้นกลับมา

ช่วยคู่ค้าที่กระทบปิดแคมป์คนงาน

ทุกวันนี้มีคู่ธุรกิจที่ทำงานกับเอสซีจีค่อนข้างมาก และได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะ developer 34 ราย ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการปิดแคมป์ก่อสร้าง เอสซีจีพยายามจะช่วยลูกค้า-คู่ธุรกิจในซัพพลายเชนให้ได้มากที่สุด เท่าที่เราจะช่วยได้ เช่น ยืดเวลาให้เครดิตกับลูกค้าชั้นดี

สำหรับกลุ่มวัสดุก่อสร้าง มีสัดส่วนรายได้ 20% ช่วงที่ผ่านมาได้รับทราบผลกระทบจากคู่ธุรกิจ เช่น เรื่องความต่อเนื่องการทำงาน สัญญาก่อสร้างต่าง ๆ การเยียวยา เป็นต้น ซึ่งเอสซีจีมองว่าจะทำอย่างไรให้ดีที่สุดกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่

โดยรัฐ-เอกชนต้องคุยและหาทางออกเพื่อสร้างความเข้าใจให้ตรงกัน ทำงานได้รวดเร็ว เพราะเหตุการณ์นี้น่าจะยืดเยื้อ เช่น ร่วมกันกำหนดกฎระเบียบ กรณีแคมป์ก่อสร้างที่เป็นแคมป์ปลอดโควิด ก็อาจเริ่มงานได้เร็วกว่าแคมป์อื่น

ตอนนี้มี 500-600 ไซต์ก่อสร้าง มีแรงงาน 7-8 หมื่นคน เกินครึ่งเป็นแรงงานต่างชาติ บางส่วนอาจไม่มีทะเบียน จึงน่าจะใช้ครั้งนี้เป็นโอกาสให้แรงงานจดทะเบียน นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ให้ง่ายและสะดวก เพื่อให้สามารถติดตามแรงงาน และช่วยควบคุมการระบาดในระยะยาว โดยฉีดวัคซีนให้แรงงานและครอบครัวเพื่อให้สามารถควบคุมโควิดได้

ยกระดับ BCP-บริหารความต่อเนื่องธุรกิจ

เอสซีจีมองว่าธุรกิจจะอยู่ได้ พนักงานต้องปลอดภัย คู่ธุรกิจในซัพพลายเชนต้องอยู่ได้ ปัจจุบันเอสซีจีมีพนักงานในไทย 35,000 คน ถ้ารวมกับซัพพลายเชนและคู่ค้าก็เกือบ 100,000 คน ยังไม่รวมครอบครัวพนักงานอีกหลาย ๆ หมื่นคน

ดังนั้น ธุรกิจจึงต้องยกระดับ BCM-business continuity management โดยเน้นการสื่อสารกับพนักงานว่า ทุกคนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา ต้องยกการ์ดสูง ดูแลตัวเอง หลีกเลี่ยงสถานที่คนหมู่มาก เน้นประชุมออนไลน์ โดยเอสซีจี work from home ไปถึงไตรมาส 4/64

ในด้านการปฏิบัติงาน มีมาตรการ “ไข่ขาว-ไข่แดง” เพื่อแยกพนักงานที่อยู่ในสายการผลิต-ซ่อมบำรุง ไม่ให้สัมผัสกับกลุ่มพนักงานทั่วไป และด้วยความเข้มงวดของการบังคับใช้มาตรการด้านความสะอาดและความปลอดภัย ทำให้พนักงานของเอสซีจีติดเชื้อโควิด-19 ในจำนวนที่น้อยมาก

ผลิตสินค้าป้อนส่งออกเพิ่ม 20-40%

เอสซีจีมี 3 ธุรกิจ ผลกระทบก็แตกต่างกัน “ธุรกิจแพ็กเกจจิ้ง” ได้อานิสงส์จากสถานการณ์โควิด ขณะที่ “ธุรกิจเคมิคอล” ในช่วงแรกได้รับผลกระทบมาก แต่ปัจจุบันเริ่มดีขึ้นแล้ว ซึ่งเราต้องเตรียมพร้อมรับกับความต้องการที่มีสูงขึ้น

และ “ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง” ได้รับผลกระทบมากที่สุด จึงต้องปรับตัวให้เร็วที่สุด โควิด-19 สอนให้เรารู้ว่า ความต้องการของลูกค้าคืออะไร เช่น ไม่ได้ต้องการแค่บ้านหรือปูน แต่ต้องการอยู่อาศัยอย่างมีความสุข สุขภาพดี โดยเฉพาะชีวิตวิถีใหม่ work from home

ลูกค้าจะพบว่าความสะดวกสบายบางอย่างหายไป และต้องเผชิญกับปัญหามากมาย เช่น แอร์ไม่เย็น หลังคารั่ว จึงต้องกลับมาดูแลและซ่อมแซมบ้าน ดังนั้นการใช้จ่ายจะเป็นไปเพื่อการซ่อมแซม-ปรับปรุง เพื่อให้การทำงานที่บ้านสะดวกสบายขึ้น เราในฐานะผู้ผลิตสินค้าต้องปรับตัวให้ทันต่อความต้องการของลูกค้า

ต่อจิ๊กซอว์ลงทุน 6.5-7.5 หมื่นล้าน

ในปี 2564 เอสซีจีตั้งงบฯ 65,000-75,000 ล้านบาท สำหรับการลงทุนปิโตรเคมีครบวงจร LSP-Long Son Petrochemicals Company Limited และการลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันและสร้างการเติบโตระยะยาว ได้แก่

1.นวัตกรรม Circular Economy พัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลโดยเปลี่ยนพลาสติกใช้แล้วเป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับโรงงานปิโตรเคมี ล่าสุดเพิ่งลงนามในสัญญาซื้อหุ้นบริษัท ซีพลาสต์ (Sirplaste) ผู้นำด้านพลาสติกรีไซเคิลในโปรตุเกส เพื่อพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีรีไซเคิลในอาเซียน และขยายตลาดยุโรป

ขณะเดียวกัน Green Construction Solution ของ CPAC ช่วยยกระดับมาตรฐานงานก่อสร้างของไทยให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในทุกกระบวนการ เช่น CPAC BIM, CPAC Drone, CPAC 3D Printing และ CPAC Smart Structure ตั้งเป้าเปลี่ยนของเสียจากงานก่อสร้างให้เกิดประโยชน์คืนกลับสู่สังคม (waste to wealth) ในอุตสาหกรรมการก่อสร้าง 10-20%

บุกหนัก EV Solution Platform

2.นวัตกรรมลดการใช้พลังงานโซลาร์รูฟโซลูชั่น ตอบโจทย์ความต้องการลดรายจ่ายค่าไฟฟ้า ทั้งลูกค้าเจ้าของบ้านและผู้ประกอบการ เพิ่มการใช้พลังงานสะอาดภาคประชาชนให้สูงขึ้น

ควบคู่กับ EV Solution Platform ตามแนวคิด “Smart Clean Mobility” ครบวงจร ให้บริการตั้งแต่การคัดสรรผู้ผลิต บริการจัดหาอุปกรณ์ charger ระบบกักเก็บพลังงาน และสรรหาเทคโนโลยีใหม่ ๆ จัดเตรียมศูนย์กระจายชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ไฟฟ้า การประกอบรถยนต์ การซ่อมบำรุง การพัฒนาระบบ IOT ในรถยนต์ไฟฟ้า สร้างเครือข่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้า และนำเสนอรูปแบบทางการเงินที่หลากหลาย เพื่อรองรับการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย

ล่าเทรนด์โลก Medical & Healthcare

3.นวัตกรรม medical & healthcare เทรนด์โลกที่มาแรงในยุคโรคระบาด มีทั้งอุปกรณ์ติดตามสุขภาพทางไกล (tele-monitoring) เครื่องวัดอุณหภูมิร่างกาย เครื่องวัดความดัน เครื่องวัดระดับออกซิเจนในเลือดที่เชื่อมต่อกับบลูทูท โดยข้อมูลสุขภาพจะแสดงผลผ่านคอมพิวเตอร์หรือแท็บเลต แจ้งเตือนไปยังพยาบาลหรือผู้ดูแลเมื่อเกิดความผิดปกติผ่านทาง LINE App เพื่อให้ทีมแพทย์เข้าไปดูแล ลดการสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง

นอกจากนี้มีบริการทางการแพทย์ออนไลน์ครบวงจร พูดคุยกับแพทย์หรือพยาบาลเพื่อประเมินความเสี่ยงผ่านวิดีโอคอล และจองคิวเพื่อเข้ารับการตรวจ หากตรวจแล้วพบว่าเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงก็จะมีการเชื่อมต่อการรักษาตัวกับโรงพยาบาลใกล้บ้านที่เลือกรับบริการได้ทันที

เอสซีจีโชคดีที่ไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมาก ดังนั้น ต้องสื่อสารให้เห็นโอกาสว่า เราไม่ได้อยู่ในวิกฤต เอสซีจียังคงส่งออกสินค้าได้ โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์อาหารเพราะตลาดฟื้น และตลาดยังมีความต้องการเพิ่มขึ้นเดือนละ 20-40%


ซึ่งการส่งออกเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยให้ภาพรวมในเชิงเศรษฐกิจของประเทศยังไปได้ในระยะยาว