“ศักดิ์สยาม” เดินหน้าซิ่งรถ 120 กม./ชม. เฟสสาม 8 ถนนหลัก

มาแล้ว โผถนน 8 สายทางรับนโยบาย 120 เฟส 3 “ศักดิ์สยาม” ขีดเส้น มี.ค.65 ได้ใช้ ก่อนเผยแผนยาวปูพรม 12,000 กม.ทั่วประเทศใช้ 120 กม./ชม. ออกสตาร์ทลุยปี 66

วันที่ 15 กันยายน 2564 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนระหว่างกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) สาระสำคัญมีการกำหนดอัตราความเร็วสูงสุดได้ไม่เกิน 120 กม./ชม.ในช่องทางขวาสุดเพิ่มเติมในระยะที่ 3 

สำหรับบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ ทั้ง 3 กรม จะแบ่งหน้าที่กันช่วยส่งเสริมให้การใข้ความเร็วใหม่มีความปลอดภัยและสะดวกสบายมากขึ้น  โดยกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท จะพิจารณาเส้นทางที่จะปรับความเร็วใหม่ระยะที่ 3 ร่วมกัน จำนวน 8 เส้นทาง ระยะทางรวม 152.072 กิโลเมตร โดยจะได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อปรับปรุงและเสริมสภาพถนนให้รองรับการใช้ความเร็วสูงสุด 120 กม./ชม. จากกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน  โดยแบ่งเป็น เส้นทางของกรมทางหลวง 6 เส้นทาง ได้แก่ 


เส้นทางที่ 1 ทางหลวงหมายเลข 1 ช่วงหนองแค-หินกอง-ปากข้าวสาร-แยกสวนพฤกษศาสตร์พุแค กม.79+000 – 105+000 ระยะทางรวมประมาณ 26.000 กิโลเมตร 

เส้นทางที่ 2 ทางหลวงหมายเลข 9 ช่วงบางแค-คลองมหาสวัสดิ์ กม.23+000 – 31+872 ระยะทางรวมประมาณ 8.872 กิโลเมตร 

เส้นทางที่ 3 ทางหลวงหมายเลข 347 ช่วงเทคโนโลยีปทุมธานี-ต่างระดับเชียงรากน้อย กม.1+000 – 10+000 ระยะทางรวมประมาณ 10.000 กิโลเมตร 

เส้นทางที่ 4 ทางหลวงหมายเลข 35 ช่วงนาโคก-แพรกหนามแดง กม.56+000 – 80+600 ระยะทางรวมประมาณ 24.600 

เส้นทางที่ 5 ทางหลวงหมายเลข 4 ช่วงเขาวัง-สระพระ กม.160+000 – 167+000 ระยะทางรวมประมาณ 7.000 กิโลเมตร 

เส้นทางที่ 6 ทางหลวงหมายเลข 4 ช่วงเขาวัง-สระพระ กม.172+000 – 183+500 ระยะทางรวมประมาณ 11.500 กิโลเมตร 

และเส้นทางของกรมทางหลวงชนบท 2 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางที่ 1 นบ.3021 (ถนนราชพฤกษ์) ตลอดเส้นทาง ระยะทางรวมประมาณ 51.700 กิโลเมตร 

เส้นทางที่ 2 นบ.1020 (ถนนนครอินทร์) ตลอดเส้นทาง ระยะทางรวมประมาณ 12.400 กิโลเมตร

ทั้งนี้ ถนนทั้ง 8 เส้นทางคาดว่าจะใช้ความเร็วสูงสุด 120 กม./ชม. ได้ประมาณเดือนมีนาคม 2565 โดยกรมทางหลวงกับกรมทางหลวงชนบทจะดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย อุปกรณ์ที่ช่วยลดความรุนแรงของอุบัติเหตุ เช่น ปรับปรุงเครื่องหมายจราจรบนผิวทาง ติดตั้งป้ายจราจร ป้ายเตือน ป้ายจำกัดความเร็ว ก่อสร้างกำแพงคอนกรีต (Barrier) และแถบชะลอความเร็ว (Rumble Strip) ตลอดจนติดตั้งระบบขนส่งอัจฉริยะ (Intelligent Transportation System) และระบบอื่นที่เกี่ยวข้อง    ซึ่งจะช่วยให้สามารถบริหารจัดการการจราจร และสามารถควบคุม กำกับ ดูแลการใช้ความเร็วของผู้ใช้รถใช้ถนนได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า สำหรับนโยบายนี้มีแผนดำเนินการในเส้นทางของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบททั้งหมด 12,000 กิโลเมตร โดยเริ่มของบประมาณดำเนินการในปี 2566 เป็นต้นไป เนื่องจากงบใยปี 2565 เสนอไปแล้วถูกตีตก เนื่องจากต้องเอาเม็ดเงินไปช่วยเหลือและเยียวยาในสถานการณ์โควิด-19 ระบาด ซึ่งจะรวมไปถึงการทำนโยบายแบริเออร์ยางพาราและเสาหลักนำทางยางพาราด้วย

สำหรับประเภทถนนที่สามารถใช้ความเร็วดังกล่าวได้ ต้องเป็นทางหลวงแผ่นดินและทางหลวงชนบทที่มีช่องเดินรถทิศทางเดียวกันตั้งแต่ 2 ช่องขึ้นไป (4 ช่องจราจรไป–กลับ) มีเกาะกลางถนนแบบกำแพงกั้น (Barrier Median) และไม่มีจุดกลับรถเสมอระดับถนน

กรณีที่มีเครื่องหมายจราจรกำหนดอัตราความเร็วไว้ให้ผู้ขับขี่รถทุกประเภทขับขี่ในอัตราที่กำหนดไว้ในเครื่องหมายจราจร ทล. และ ทช. จะติดตั้งเครื่องหมายจราจรระบุว่าบริเวณใดใช้ความเร็วได้ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 500 เมตร เพื่อให้ประชาชนรับทราบว่าเข้าพื้นที่กำหนดความเร็วแล้ว