โคก หนอง นา ปฏิวัติพื้นที่สีเขียวทั่วประเทศ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน

“การน้อมนำตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา มาใช้ เปรียบเสมือนการปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ ที่ประชาชนจะอยู่รอดปลอดภัย มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ และนี่เป็นคำตอบสำคัญสำหรับอนาคตคนไทย” นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) เปิดเผยถึงหัวใจสำคัญของโครงการที่จะเป็นการปฏิวัติเขียว พาให้ประชาชนรอดพ้นจากทุกวิกฤต

อธิบดี พช. ขยายความการปฏิวัติเขียวครั้งใหญ่ เพราะการน้อมนำตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา นอกจากจะเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวทั่วประเทศแล้ว โครงการนี้ยังช่วยตอบโจทย์การแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 และสภาวะโลกร้อน (Global warming) ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (climate change) ที่กระทบทุกประเทศทั่วทั้งโลกอย่างรุนแรง

หัวใจสำคัญด่านแรก คือการมุ่งเน้นประชาชนที่เข้าร่วมฝึกอบรมต้องมีความรู้ความเข้าใจและสามารถบริหารจัดการเรื่องต่างๆได้ด้วยตนเอง เริ่มตั้งแต่การออกแบบพื้นที่ได้เองภายใต้ “หลักภูมิสังคม” ซึ่งเป็นคำศัพท์ที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานไว้ ว่าการพัฒนาใดๆ ต้องคำนึงถึงสภาพภูมิประเทศบริเวณนั้นว่าเป็นอย่างไร ตลอดจนวัฒนธรรมประเพณีในแต่ละท้องถิ่นที่มีความแตกต่างกัน ในแง่ของภูมิศาสตร์ สภาพพื้นที่จริงของแต่ละจังหวัดแต่ละภูมิภาคไม่เหมือนกัน เช่นเดียวกับในแง่ของสังคมวิทยา แต่ละแห่งมีความชอบ ความเชื่อที่หลากหลาย ยึดถือขนบธรรมเนียมแตกต่างกัน เราเลยอนุญาตให้ออกแบบพื้นที่เองได้ภายใต้คำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญอาจารย์มหาวิทยาลัย จากภาคีเครือข่ายของเราที่อาสา มาให้คำปรึกษาแก่ชาวบ้าน

ประการต่อมาที่เราเรียกว่าเป็นการปฏิวัติปฏิรูปที่สำคัญเพราะว่าการน้อมนำตามหลักทฤษฎีใหม่มาปรับใช้ในพื้นที่ของแต่ละคนนั้นจะแตกต่างกับการจัดการแบบเดิม ตามความเชื่อที่เป็นแบบตะวันตก กระแสหลักตามแบบเดิมที่ว่าก็คือ ในอดีตต้องมีระบบชลประทานขนาดใหญ่เป็นส่วนกลาง แล้วทำคลองส่งน้ำ ไปสู่สวน ไร่ นา ซึ่งเราค้นพบว่าวิธีนี้มันได้ผลไม่เต็มที่ เมื่อเทียบกับปริมาณเงินที่ต้องลงทุน เพราะว่าเราไม่สามารถทำคลองซอยย่อย ๆ จำนวนมาก เพื่อส่งน้ำไปถึงที่ดินของทุกคนได้หมดทุกแห่ง เพราะฉะนั้นสภาพที่เกิดขึ้นเวลาจะใช้น้ำ จะต้องสูบจากคลองส่งน้ำที่อยู่ไกลจากพื้นที่ตัวเองและเมื่อยามเข้าสู่หน้าแล้งส่วนใหญ่น้ำไม่ค่อยมีใช้ แล้วเกิดกรณีตามมาคือแย่งน้ำหรือเรียกร้องให้ชลประทานปล่อยน้ำบ้าง ขอให้เปิดประตูระบายน้ำบ้าง ในอดีตเราจะได้ยินกันอยู่บ่อย ๆ แต่ว่าคราวนี้ระบบบริหารจัดการเราน้อมนำตามหลักทฤษฎีใหม่มาดำเนินการ เช่น ทฤษฎีหลุมขนมครก คือการมีที่กักเก็บน้ำ เป็นจุดกระจายอยู่เต็มพื้นที่ให้มากที่สุด ซึ่งจะช่วยให้การบริหารจัดการน้ำได้ดีกว่า วิธีนี้จะทำให้แต่ละพื้นที่มีแหล่งน้ำของตัวเอง มีหนองมีคลองไส้ไก่ในพื้นที่ตัวเอง เพื่อกักเก็บน้ำในหน้าฝนให้มาก แล้วสามารถบริหารจัดการในหน้าแล้งให้มีน้ำใช้ได้ เป็นเหมือนระบบชลประทานประจำพื้นที่ประจำแปลงของชาวบ้านเลย เพื่อลำเลียงน้ำไปยังพื้นที่ต่างๆ ถามว่าทำไมเราไม่เรียกสระ ที่เรียกหนองเพราะว่าทฤษฎีหรือองค์ความรู้ที่พระเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้ระบบของนิเวศทางน้ำที่เหมาะสม จะต้องมีตะพักหรือชาน ขอบสระ ขอบหนอง เพื่อให้แสงแดดส่องถึง ปลา หรือสัตว์น้ำใช้เป็นที่อยู่อาศัย วางไข่ แพร่พันธุ์ได้ แต่ว่าระบบการขุดที่เป็นกระแสหลักของตะวันตก มักจะขุดเป็นรูปสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ มีความชันลึก ทำให้สัตว์น้ำหรือพืชน้ำมีความยากลำบากในการเจริญเติบโตหรือขยายพันธุ์ ผิดกับหลักการทฤษฎีใหม่ที่เราทำในรูปแบบ Free from เป็น รูปทรงอิสระ ลักษณะความลึกความตื้นมีชานขอบแตกต่างกันไปให้สัตว์น้ำมีที่อยู่อาศัย

อธิบดี พช.เผยว่าที่สำคัญที่สุด คือการให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้น้อมนำตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นพื้นฐานสำคัญในปฏิรูประบบเกษตรกสิกรรมนี้ เพราะเรามีเจตนามุ่งเน้นที่จะให้แต่ละครอบครัวสามารถพึ่งพาตนเองได้ มีความพอกิน พอใช้ พออยู่ และพอร่มเย็น เพื่อทำให้มีความสุข ซึ่งเกษตรในกระแสหลักไม่ใช่แบบนี้ เพราะในกระแสหลักเราจะเห็นรูปแบบของการปลูกพืชเชิงเดี่ยวในพื้นที่ขนาดใหญ่ แต่การน้อมนำตามหลักทฤษฎีใหม่มาประยุกต์สู่โคก หนอง นา เป็นการย้อนกลับไปสู่ยุคบรรพบุรุษของเรา คือ ในพื้นที่เรามีทุกสิ่งทุกอย่างที่เราต้องกินต้องใช้และค้าขาย เพราะฉะนั้น พื้นที่ ของโคก หนอง นา ก็จะกลายเป็นพื้นที่ป่า 5 ระดับ ได้แก่ต้นไม้ที่มีความสูง ต้นไม้ที่มีระดับกลาง ระดับเตี้ย ระดับเรี่ยดิน แล้วก็ไม้หัวที่อยู่ใต้ดิน

ดังที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ได้ทรงมีพระราชดำรัสเรื่อง “อารยเกษตร” เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2564 ว่า “โคก หนอง นา นอกจากเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ทางด้านเกษตรกรรม แล้วยังเป็นศิลปะ เป็นแบบฝึกหัดที่ดี ในการที่จะรวมเกษตรที่หลากหลายให้มาอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ในเวลาเดียวกันรักษาความหลากหลาย แต่ความหลากหลายนั้น ก็เกื้อกูลซึ่งกันและกัน”
สำหรับคุณค่าของการปลูกต้นไม้ 5 ระดับก็คือ ป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง เป็นการผสมผสาน ที่เล็งเห็นถึงปัจจัย 4 ทั้งหมด เช่นการมีไม้ เพื่อใช้ในการทำที่อยู่อาศัย ไว้ใช้สอย ไว้ทำเครื่องมืออุปกรณ์ทางการเกษตร และการปลูกที่มีไว้ใช้สำหรับเป็นอาหารและยารักษาโรค รวมถึงมีส่วนที่ไว้ค้าขายผลิตผลทางเกษตร และอีกส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญเหมือนการปฏิวัติครั้งใหญ่เลย คือทุกพื้นที่จะเป็นกสิกรรมธรรมชาติ ไม่มีการใช้ปุ๋ยเคมี ไม่มีการใช้ยาฆ่าแมลง และไม่มีการเผาทำลายซากเศษใด ๆ ทั้งสิ้น แต่เราจะเอาส่วนนั้นมาประยุกต์ใช้ในการทำน้ำหมัก ปุ๋ยหมัก ใช้ประโยชน์ให้มากที่สุดบริหารจัดการไม่ให้เหลือเป็นเศษขยะ เป็นการลดภาวะฝุ่นควันปัญหา PM2.5 ได้ตั้งแต่ต้นเหตุ นี่จึงเป็นการปฏิรูปที่สำคัญมาก

หากดำเนินการได้ตามแผนที่กรมการพัฒนาชุมชนมุ่งเน้นเรื่อง ต้นไม้ 5 ระดับนี้เราจะมีไม้ยืนต้นมากกว่า 10 ล้านต้น ที่จะช่วยทำให้สภาพดินฟ้าอากาศทำให้โลกของเราร่มเย็น ทำให้สภาวะโลกร้อนเบาบางลง ซึ่งสิ่งนี้มีความหมายอย่างมาก เพราะจะเป็นการสร้างนวัตกรรมใหม่ในการฟื้นฟูป่าและพื้นที่สีเขียวที่หวังผลได้เต็มเกือบ 100% เนื่องจากเจ้าของพื้นที่จะเป็นผู้ปลูกและดูแลด้วยตัวเอง นี่คือการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ พัฒนาคุณภาพชีวิตให้มีมิติใหม่ ไม้ยืนต้นไม้มีค่าทั้งหลายก็จะรอดตาย

สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้จะทำให้ทุกพื้นที่มีความร่มเย็น มีร่มเงาจากไม้ใหญ่ในพื้นที่ของตนเองได้ แล้วจะมีการปลูกทดแทนต่อเนื่อง เพื่อความยั่งยืนอันจะส่งผลถึงระบบนิเวศ นี่จึงเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ทำให้ฝนฟ้าตกตามฤดูกาล ช่วยต่ออายุโลกของเรา สร้างโลกที่น่าอยู่ ควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญเรื่องปากท้อง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน…