“ธรรมชาติสามัคคี” โครงการพัฒนาป่าไม้ตามแนวพระราชดำริภูหินร่องกล้า จ.พิษณุโลก

ตลอดระยะเวลา 70 ปีที่ทรงครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขของมหาชนชาวสยาม ไม่เพียงแต่พสกนิกรชาวไทย แต่ยังทรงมีแนวพระราชดำริแนวทางแก้ไขพัฒนาป่าไม้อย่างยั่งยืนให้คนอยู่กับป่า และป่าอยู่กับคนได้อย่างสมดุล เกิดเป็นโครงการพระราชดำริมากมายนับไม่ถ้วน

“…เจ้าหน้าที่ป่าไม้ควรจะปลูกต้นไม้ในใจคนเสียก่อน แล้วคนเหล่านั้นก็จะพากันปลูกต้นไม้ลงบนแผ่นดิน และรักษาต้นไม้ด้วยตนเอง…” พระราชดำรัสตอนหนึ่ง เมื่อครั้งเสด็จฯไปยังหน่วยงานพัฒนาต้นน้ำทุ่งจ๊อ พ.ศ.2519

อีกทั้งยังทรงให้แนวทางการปลูกป่าไม้ที่สำคัญอย่างการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง

“…การปลูกป่าถ้าจะให้ราษฎรมีประโยชน์ ให้เขาใช้วิธีปลูกไม้ 3 อย่าง แต่มีประโยชน์ 4 อย่าง คือ ไม้ใช้สอย ไม้กินได้ ไม้เศรษฐกิจ โดยปลูกรองรับการชลประทาน ปลูกรับซับน้ำ และปลูกอุดช่วงไหล่ตามร่องห้วยโดยรับน้ำฝนอย่างเดียว ประโยชน์อย่างที่ 4 คือสามารถช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำ…”

โดยหนึ่งในโครงการที่น้อมนำศาสตร์พระราชาด้านการพัฒนาป่าไม้ของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาใช้คือ โครงการพัฒนาป่าไม้ตามแนวพระราชดำริภูหินร่องกล้า จ.พิษณุโลก”

ศุภกุล จันทร์ลา หัวหน้าโครงการพัฒนาป่าไม้ตามแนวพระราชดำริภูหินร่องกล้า กล่าวกับประชาชาติธุรกิจออนไลน์ว่า ในอดีตพื้นที่บริเวณนี้เป็นจุดยุทธศาสตร์สมรภูมิรบ ซึ่งทำให้ป่าแถบนี้เป็นภูเขาหัวโล้น ประกอบกับปัญหาความขัดแย้งของป่ากับคน ชาวม้งที่อาศัยอยู่ในละแวกนี้มักจะบุกรุกพื้นที่ป่าจากการทำอาชีพปลูกฝิ่น และกะหล่ำปลี

เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ให้หมดไปกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืชจึงได้นำแนวทางพระราชดำริมาใช้ก่อตั้งให้เกิดโครงการพัฒนาป่าไม้ตามแนวพระราชดำริภูหินร่องกล้า จ.พิษณุโลก ขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2552

“การปลูกไม้ผลเป็นทางแก้ที่ในหลวงทรงตระหนักถึง ซึ่งหากเราปลูกไม้ผล แล้วชาวบ้านเอาผลที่ได้ไปขาย ก็จะไม่เกิดการบุกรุกป่า ซึ่งเราจะต้องทำให้เขาเห็นประโยชน์จริงๆ พวกเขาถึงจะเชื่อ”

หัวหน้าโครงการฯ ยังเล่าต่อว่า โครงการฯนี้สนับสนุนให้ชาวม้งลดการปลูกฝิ่น และกะหล่ำปลี เพราะนอกจากจะทำลายธรรมชาติจากการรุกป่าแล้ว ยังทำให้ดินเสียจากการใช้สารเคมี โดยเราจะให้ความรู้ และสร้างอาชีพใหม่ด้วยการแนะนำให้ชาวม้งหันมาปลูกกาแฟอราบิก้า และสตรอว์เบอร์รี พันธุ์พระราชทาน 80 และชาพันธุ์อัสสัมแทน

“ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมองการณ์ไกล เพราะคนไทยชอบดื่มกาแฟ การปลูกกาแฟอราบิก้านั้น ต้นกาแฟอยู่ได้เป็นร้อยปี และสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตลอด เราใช้วิธีการให้ความรู้และชักชวนห้ชาวม้งรุ่นพ่อแม่เข้ามาเป็นลูกจ้าง เมื่อคนกลุ่มนี้ทำแล้วประสบความสำเร็จ เขาก็จะไปบอกลูกหลานต่อ” ศุภกุล ระบุและว่าตามความเชื่อว่าใต้ต้นสนปลูกอะไรก็ไม่ขึ้น แต่ที่นี่เป็นที่แรกและแห่งเดียวของประเทศไทยที่สามารถปลูกต้นกาแฟอราบิก้าใต้ต้นสน แล้วเกิดผลผลิตได้อย่างงดงาม

ต้ากาแฟพันธุ์อราบิก้า

นอกจากโครงการพัฒนาป่าไม้ตามแนวพระราชดำริภูหินร่องกล้าจะมาช่วยพัฒนา เปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตของชาวม้ง และทำให้คนอยู่กับป่าได้อย่างแท้จริงแล้ว ที่แห่งนี้ยังเป็นอีกสถานที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาชมความงามของธรรมชาติอย่างทุ่งดอกกระดาษ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งจุดเด่นของอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้อย่างยั่งยืน

นับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่มีต่อปวงชนชาวไทยทุกคน