ในหลวง พระราชินี ทรงรับทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์

ในหลวง พระราชินี ทรงรับทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์

วันที่ 19 พฤษภาคม 2565 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์นายกสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และองค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พร้อมด้วยผู้บริหารราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปริญญาแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ พร้อมฉลองพระองค์ครุย  แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
 

ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ ด้วยพระวิริยะเพื่อประโยชน์สุขของราษฎรมาโดยตลอด ตั้งแต่เมื่อครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร มาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการแพทย์และการสาธารณสุข อันเป็นรากฐานสำคัญของประเทศ พระวิสัยทัศน์ที่ทรงตั้งมั่นที่จะทรงสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชกรณียกิจด้านการแพทย์และการสาธารณสุขของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเสริมสร้างและสนับสนุนความยั่งยืนอย่างต่อเนื่องของระบบการแพทย์และการสาธารณสุขไทย

และทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์และองค์ประธานหน่วยงานและมูลนิธิต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนภารกิจด้านการแพทย์และการสาธารณสุขของไทยให้สำเร็จตามพระราชปณิธาน ทั้งยังพระราชทานพระบรมราโชบาย และพระราชทานพระราชทรัพย์ในการพระราชทานความช่วยเหลือแก่ประชาชนในทุกมิติ เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่แพร่กระจายไปทั่วโลก (Pandemic) ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนไทยในทุกระดับ

จากพระราชกรณียกิจด้านการแพทย์และสาธารณสุขอันมีคุณประโยชน์ต่อประเทศอย่างอเนกอนันต์ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น สภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จึงมีมติขอพระราชทานทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปริญญาแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ต่อมาเวลา 17.46 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้คณะบุคคล นายสรจักร เกษมสุวรรณ อุปนายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน เฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาเทคโนโลยีสิ่งทอและการออกแบบแฟชั่น แด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี

  

ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระปรีชาสามารถที่เป็นเลิศและทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเป็นที่ประจักษ์ชัดโดยทรงสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยทรงตั้งมั่นในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างมั่นคง ยั่งยืน และบริบูรณ์ในทุกด้าน เพื่อประโยชน์สุขของอาณาประชาราษฎร์ ทรงมีพระปรีชาญาณยิ่งในศาสตร์ด้านวิศวกรรมศาสตร์ และด้านการเกษตรผ่านโครงการตามพระราชดำริต่าง ๆ อีกทั้งในช่วงที่ประเทศต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแนวพระราชดำริในการพัฒนาเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งเป็นนวัตกรรมทางวิศวกรรมเวชศาสตร์

รวมถึงพระราชทานรถตรวจโรคติดเชื้อชีวนิรภัย รถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่าง ๆ แก่บุคลากรทางการแพทย์และโรงพยาบาลทั่วประเทศ เพื่อใช้ตรวจหาและรักษาพยาบาล ผู้ติดเชื้อ รวมทั้งเพื่อป้องกันบุคลากรทางการแพทย์จากโรคโควิด-19 นอกจากนี้ ทรงสนพระราชหฤทัยและมุ่งมั่นศึกษาศาสตร์ด้านการควบคุมยานยนต์ การควบคุมการบินและอากาศยาน ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของวิศวกรรมเครื่องกล โดยทรงเข้ารับการศึกษาหลักสูตรการฝึกบินอากาศยานประเภทต่าง ๆ ทั้งทางทหารและการพาณิชย์จนทรงเชี่ยวชาญเป็นที่ประจักษ์ และทรงนำความรู้และประสบการณ์ทางด้านการบินมาก่อให้เกิดประโยชน์แก่กองทัพอากาศ และประเทศชาติ โดยทรงปฏิบัติหน้าที่นักบิน ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ราษฎรในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ

ด้วยพระราชกรณียกิจนานัปการอันเปี่ยมล้นด้วยพระปรีชาญาณยังประโยชน์อย่างหาที่สุดมิได้แก่ปวงพสกนิกรชาวไทย และด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอย่างหาที่สุดมิได้ สภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน จึงมีมติขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ส่วนสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงประกอบพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่เป็นที่ประจักษ์ ทรงพระปรีชาสามารถเป็นเลิศ และทรงมีพระราชหฤทัยมุ่งมั่นที่จะสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานด้านการพัฒนาผ้าไหมไทย และผ้าพื้นเมืองของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรผลิตภัณฑ์ด้านหัตถกรรมในภูมิภาคต่างๆ และพระราชทานพระราชดำริเพื่อให้ราษฎรสามารถผลิต พัฒนา และจำหน่ายสินค้าหัตถกรรมได้อย่างแพร่หลาย โดยทรงเป็นแบบอย่างในการฉลองพระองค์ด้วยผ้าไหม และผ้าพื้นเมือง ในงานพระราชพิธีและในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ฉลองพระองค์ที่ออกแบบอย่างงดงามนั้น นอกจากจะสื่อความหมายถึงแหล่งผลิตผ้าไหมและผ้าพื้นเมือง

ตลอดจนสถานที่ที่เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรแล้วนั้น ยังสะท้อนให้เห็นถึงน้ำพระราชหฤทัยอันลึกซึ้ง ที่ทรงเห็นคุณค่าของผ้าไหมไทย และผ้าพื้นเมือง ด้วยทรงสนับสนุนการทอผ้าไหม การพัฒนาผ้าไหมไทย และผ้าพื้นเมืองต่าง ๆ ให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ในด้านการบรรเทาทุกข์แก่ราษฎรในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พระราชทานความช่วยเหลือแก่ราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อน และทรงมีพระราชดำริให้จัดถุงพระราชทานพร้อมบรรจุเครื่องอุปโภคบริโภค และเข็มกลัด “พระราชทานกำลังใจ” ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงออกแบบและทรงเย็บเข็มกลัดให้ติดกับถุงพระราชทานด้วยพระองค์เอง พร้อมข้อความ “พระราชทานกำลังใจ” แก่บุคลากรทางการแแพทย์ และทรงเย็บหน้ากากผ้า สำหรับเป็นตัวอย่างในการผลิตเพื่อพระราชทานแก่ข้าราชบริพารและราษฎร ทั้งยังทรงถวายหน้ากากผ้าฝีพระหัตถ์ แด่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก และพระราชทานแก่พระบรมวงศ์และประชาชนทั่วไป

ด้วยพระราชกรณียกิจนานัปการอันเปี่ยมล้นด้วยพระปรีชาญาณและยังประโยชน์อเนกอนันต์แก่ราษฎรด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอย่างหาที่สุดมิได้ สภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน จึงได้มีมติทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาเทคโนโลยีสิ่งทอและการออกแบบแฟชั่น แด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี

ต่อจากนั้น พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏที่ชนะเลิศการแข่งขันการเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ ประจำปีการศึกษา 2559-2560 เฝ้าฯ รับพระราชทานถ้วยรางวัล ประกอบด้วย รางวัลที่ 1 รางวัลที่ 2 รางวัลชมเชย และรางวัลอ่านดี โดยแบ่งออกเป็น 4 ภาค ดังนี้

– ภาคกลาง

1. มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา
2. มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์
3. มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี
4. มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

– ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

1. มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ
2. มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม
3. มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์
4. มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์

– ภาคเหนือ

1. มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง
2. มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
3. มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์
4. มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร

– ภาคใต้

1. มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต
2. มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช
3. มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา
4. มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา

ในโอกาสนี้ นายสว่าง ภู่พัฒนวิบูลย์ ประธานคณะกรรมการดำเนินงานในงานพิธีพระราชทานปริญญาบัตรมหาวิทยาลัยราชภัฏ พร้อมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ร่วมเข้าเฝ้าฯด้วย