ผลตอบแทนเงินบำเหน็จ ประกันสังคม ประกาศทุกปี ไม่เกี่ยว “บำนาญ”

ประกันสังคม บำนาญ บำเหน็จ เงิน

สำนักงานประกันสังคม แจงอัตราผลประโยชน์ตอบแทน เงินบำเหน็จชราภาพ ผู้ประกันตน ม.33-ม.39-ม.40 ประกาศทุกปี คนละส่วนกับ “บำนาญชราภาพ”

ตามที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสำนักงานประกันสังคม (สปส.) 2 ฉบับ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2568 ประกอบด้วย เรื่อง กำหนดอัตราผลประโยชน์ตอบแทนเงินบำเหน็จชราภาพของผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ประจำปี พ.ศ. 2567 และเรื่อง กำหนดผลประโยชน์ตอบแทนเงินบำเหน็จชราภาพของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และมาตรา 39 ซึ่งลงนามโดยนางมารศรี ใจรังษี เลขาธิการ สปส.ทั้ง 2 ฉบับ มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไปนั้น

เมื่อวันที่ 14 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประกาศสำนักงานประกันสังคมทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว ได้สร้างความสับสนให้กับผู้ประกันตนจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่เข้าใจผิดคิดว่าเป็นการออกประกาศบำนาญชราภาพ ที่บอร์ดประกันสังคมมีมติเห็นชอบในหลักการให้ปรับสูตรคำนวณใหม่ เมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา โดยสงสัยว่าเหตุใดถึงรีบเร่งออกประกาศ เพราะยังอยู่ในช่วงรอทำประชาพิจารณ์ภายในกรอบ 90 วัน

ล่าสุด นางนิยดา เสนีย์มโนมัย โฆษก สปส. เปิดเผยว่า ประกาศสำนักงานประกันสังคมที่ออกมาทั้ง 2 ฉบับ เป็นการประกาศให้ผู้ประกันตนทราบถึงดอกผลที่ประกันสังคมนำเงินที่ผู้ประกันตนจ่ายสมทบไปลงทุนว่าได้ผลตอบแทนเท่าไรในแต่ละปี โดยในปี 2567 อยู่ที่อัตราร้อยละ 2.81 ของเงินสมทบสุทธิ และผลประโยชน์ตอบแทนสะสมรวมกัน เมื่อผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรือมาตรา 39 ยื่นขอรับสิทธิประโยชน์จะได้รับทราบว่า ในปีนั้นจะได้รับผลตอบแทนเท่าไร

“ซึ่งในปัจจุบัน กฎหมายประกันสังคมยังไม่ให้ผู้ประกันตนเลือกว่าจะรับบำเหน็จ หรือบำนาญ ตามที่ผู้ประกันตนต้องการ แต่การเกิดสิทธิจะเป็นไปตามการส่งเงินสมทบของผู้ประกันตนแต่ละราย หากส่งเงินสมทบไม่ครบ 180 เดือน กฎหมายกำหนดให้รับเป็นเงินบำเหน็จ 1 ก้อน พร้อมดอกผล ซึ่งจะใช้ประกาศตัวนี้มากำหนดดอกผลที่ได้รับในปีนั้น ๆ” นางนิยดากล่าว

โฆษก สปส.กล่าวอีกว่า ในกรณีที่ผู้ประกันตนส่งเงินสมทบ 180 เดือนขึ้นไป กฎหมายกำหนดให้รับเป็นเงินบำนาญไปตลอดชีวิต โดยจะใช้สูตรการคำนวณจากอัตราค่าจ้าง 60 เดือนสุดท้ายของผู้ประกันตน ซึ่งปัจจุบันยังใช้อัตราสูงสุดที่ 15,000 บาท เป็นฐานในการคำนวณเงินบำนาญชราภาพ ส่วนสูตรการคำนวณใหม่ที่คณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม) มีมติเห็นชอบให้ปรับจาก 60 เดือนสุดท้าย ไปเป็นเฉลี่ยตลอดอายุการทำงาน เมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างรอทำประชาพิจารณ์ภายใน 90 วัน

ADVERTISMENT

“ประกาศฉบับนี้ได้ส่งไปลงราชกิจจานุเบกษานานแล้ว แต่เพิ่งออกมาในช่วงนี้ จึงอาจทำให้ผู้ประกันตนเข้าใจผิด ซึ่งประกาศนี้ไม่ได้เกี่ยวกับการรับบำนาญชราภาพที่จะมีการปรับสูตรคำนวณใหม่แต่อย่างใด แต่เป็นการประกาศเรื่องผลตอบแทนที่เป็นดอกผลในแต่ละปีของบำเหน็จชราภาพ เหมือนที่ธนาคารมีการออกประกาศทุกปี โดยมาตรา 33 และมาตรา 39 มีผลตอบแทนร้อยละ 2.81 ส่วนมาตรา 40 มีผลตอบแทนร้อยละ 4.19 ซึ่งมีผลตอบแทนสูงกว่า เพราะในปี 2567 มีการปรับพอร์ตการลงทุนสูงขึ้น” นางนิยดากล่าว

เงินบำเหน็จชราภาพ มีเงื่อนไข-คำนวณอย่างไร ?

หากส่งเงินสมทบประกันสังคมน้อยกว่า 180 เดือน จะได้รับเป็นเงินบำเหน็จชราภาพ เป็นเงินก้อน โดยมี 2 เงื่อนไข

ADVERTISMENT
  • กรณีส่งเงินสมทบต่ำกว่า 12 เดือน (ต่ำกว่า 1 ปี) : ได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับเงินสมทบเฉพาะส่วนของผู้ประกันตน
  • กรณีส่งเงินสมทบ 12-179 เดือน (1 ปี-14 ปี 11 เดือน) : ได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ เท่ากับเงินสมทบที่ผู้ประกันตนและนายจ้างจ่ายสมทบ พร้อมผลประโยชน์ตอบแทนตามที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด

ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคม จะมีการประกาศอัตราผลประโยชน์ตอบแทนเงินบำเหน็จชราภาพ ในราชกิจจานุเบกษา โดยอัตราผลประโยชน์ตอบแทนเงินบำเหน็จชราภาพล่าสุด สำหรับผู้ประกันตน ม.33-ม.39 อยู่ที่ 2.81% ต่อปีของเงินสมทบสุทธิ (ประกาศ ณ วันที่ 13 มีนาคม 2568)

วิธีคำนวณ

กรณีส่งเงินสมทบต่ำกว่า 12 เดือน : เงินสมทบของผู้ประกันตน x จำนวนเดือน (1-11 เดือน) = จำนวนเงินบำเหน็จชราภาพ

ตัวอย่าง : ผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบได้ 9 เดือน เดือนละ 300 บาท จะได้รับเงินบำเหน็จเท่ากับ 300×9 = 2,700 บาท

กรณีส่งเงินสมทบ 12-179 เดือน (1 ปี-14 ปี 11 เดือน) : เงินสมทบของผู้ประกันตน+เงินสมทบของนายจ้าง+ผลประโยชน์ตอบแทน = จำนวนเงินบำเหน็จชราภาพ

ทั้งนี้ “ผลประโยชน์ตอบแทน” เงินบำเหน็จชราภาพของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และ 39 คือ เงินปันผลที่จ่ายให้แก่ผู้ประกันตนจากการที่สำนักงานประกันสังคมนำเงินสมทบไปลงทุน โดยแต่ละปีจะมีอัตราที่แตกต่างกัน ตามที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด