รพ.นพรัตน์คนไข้ล้น รับผลกระทบ สปสช.ยกเลิกบัตรทอง 9 รพ.เอกชน

คนไข้หลั่งไหลไปรพ.นพรัตน์ รามอินทรา จนตกค้างอยู่ราว 70 คน เหตุเกิดหลังจาก สปสช. ยกเลิกสัญญา บัตรทองรพ.อื่นๆ อีก 9 แห่ง

จากกรณี สปสช.ยกเลิกสัญญาบัตรทอง รพ.เอกชน 9 แห่ง และเพจ Nurses Connect เผยแพร่ข้อความ ชวนจับตา โรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง แถวรามอินทรา ในกรุงเทพมหานคร เกิดปัญหาการขาดแคลนบุคลากรอย่างหนัก หลังการประกาศยกเลิกและเปลี่ยนสิทธิบัตรทอง ทำให้มีผู้มารับบริการเป็นจำนวนมาก และบุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอต่อการรับรองผู้ป่วยและให้บริการ

วันที่ 28 ตุลาคม 2565 นพ.เกรียงไกร นามไธสง ผอ.รพ.นพรัตนราชธานี กล่าวว่า เป็นเรื่องจริงที่คนไข้มาใช้บริการจำนวนมากกว่าปกติ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.เป็นต้นมา ขณะนี้มีคนไข้ตกค้างอยู่ที่ประมาณ 50-70 คน เพราะคนไข้ที่มาก็หวังพึ่งพาคุณหมอ

นพ.เกรียงไกร นามไธสง ผอ.รพ.นพรัตนราชธานี

“จริงๆ รพ.นพรัตนราชธานี เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา เป็นยอดภูเขาน้ำแข็งอันหนึ่ง เพราะโรงพยาบาลในเครือกรมการแพทย์ใน กทม. รับผลกระทบเรื่องนี้หมด แม้แต่โรงพยาบาลในสังกัด กทม.” นพ.เกรียงไกรกล่าว พร้อมให้ข้อมูลว่า

ปกติ รพ.นพรัตนฯ รับสิทธิบัตรทอง 2 แสนราย และตัวเลขกลม ๆ ที่ต้องรับคนไข้บัตรทองเพิ่มขึ้นจากปกติ เนื่องจากคนไข้ถูกยกเลิก รพ.เอกชนอีก 140,000 ราย จึงต้องรับคนไข้ที่เทมาหาเรา เพราะเราเป็นรพ.รัฐบาล คนไข้มาเราจะปฏิเสธไม่ได้ เรารับได้เท่าไรก็ต้องรับ เพียงแต่จะมีปัญหาทางบุคลากรสาธารณสุข

นพ.เกรียงไกรกล่าวว่า รพ.พยายามรองรับอย่างดีที่สุด แต่ยอมรับว่า บุคลากรมีจำกัด เตียงต่างๆ จึงทำให้มีความแออัด เกิดการรอคิว โดยเฉพาะผู้ป่วยในที่ต้องนอน รพ. ซึ่งได้พยายามปรับเกลี่ยมาโดยตลอด

รพ.นพรัตนราชธานี

“จริงๆ เราแก้ไขตลอด เสริมเตียงในวอร์ดคนไข้ที่เสริมได้ บริหารจัดการคนไข้ได้รับการบริการอย่างรวดเร็ว หากกลับบ้านได้ให้กลับ ปรับเกลี่ยงาน ดึงคนจากวอร์ดที่งานอาจไม่หนักมากในตอนนั้นมาช่วย จ้างนอกเวลา ทั้งแพทย์ พยาบาล ตามระเบียบ เพราะไม่สามารถจ้างแพงเกินอัตราราชการได้” นพ.เกรียงไกรกล่าว

ด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ภาพใหญ่ก่อนจะยกเลิกสัญญา มีการประสานกับ สธ.และ กทม.ว่า เมื่อยกเลิกสัญญา รพ.เอกชน ต้องมีการกระจายประชากร ประชากรที่จะได้รับผลกระทบมี 2 กลุ่ม คือ

1.เข้ารับบริการยังหน่วยบริการปฐมภูมิ มี 2 แสนกว่าราย มาใช้บริการจริง 45% หรือราว 1 แสนคน ให้สิทธิ์ป่วยไปที่ไหนก็ได้ เจ้าภาพหลักเป็น กทม. ซึ่งให้สำนักอนามัยที่มีศูนย์บริการสาธารณสุขรับผู้ป่วยกลุ่มนี้หมด ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น กลุ่มปฐมภูมิที่ต้องรับยาเป็นประจำต่อเนื่องจะมีตรงนี้มารองรับ

2.กลุ่มใหญ่ประมาณ 7 แสนคน เป็นเรื่องของหน่วยรับส่งต่อ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยบริการ กทม.หรือ สธ.จะช่วยรับตรงนี้ก่อน ดังนั้น รพ.นพรัตนฯ จึงเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ สธ.มอบหมายให้ดำเนินการ

แน่นอนว่า คนไข้มาเยอะ จนมีปัญหา สปสช.ไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามหาหน่วยบริการ รพ.เอกชนอื่นๆ มาเสริม ซึ่งกำลังเจรจา หากสำเร็จจะเร่งประกาศทันที และจะโอนประชากรกลับทันที แต่ต้องขอบคุณ รพ.รัฐที่มาช่วยตรงนี้

Nurses Connect

“จริงๆ เราพยายามขยายไปที่คลินิกเวชกรรม ร้านยา ที่เงื่อนไขอาจไม่เท่าคลินิกชุมชนอบอุ่น จะมาช่วยมาเติมในระบบกรณีผู้ป่วยอาการเล็กน้อย ระดับปฐมภูมิ ส่วนหน่วยรับส่งต่อแม้จะไกลออกไป แต่ต้องเข้าใจก่อนว่าหน่วยรับส่งต่อ คนไข้จะมีอาการมาก และระบบจะส่งต่อไปรักษาเฉพาะทาง ซึ่งการส่งต่อนั้นเมื่อมาถึงจะไปแอดมิดหรือนอน รพ. เมื่อรักษาหายก็จะเดินทางกลับ ซึ่งการเดินทางจะ 2 รอบ คือ ไปและกลับ จะไม่เดือดร้อนเหมือนต้องเดินทางไปรักษาบ่อยๆ” รองเลขาธิการ สปสช.กล่าว

ทพ.อรรถพรกล่าวด้วยว่า เลขาธิการสปสช. ตามเรื่องนี้ทุกวัน เราพยายามทำทุกวิถี ประสานรพ.ต่างๆ ไม่ได้นิ่งนอนใจเลย เมื่อถามว่าภายใน 1 เดือนจะดีขึ้นหรือไม่ ทพ.อรรถพร กล่าวว่า เลขาฯ อยากให้พรุ่งนี้ดีขึ้นด้วยซ้ำไป สปสช.พยายามเร่งมือที่สุด

จากสถานการณ์โควิดที่ผ่านมามีตัวอย่าง เช่น ทางรพ.เอกชน ประสานให้ทาง สปสช.ปรับเงื่อนไขการจ่าย ระยะเวลาให้สั้นลง ซึ่งทางสปสช.ก็ดำเนินการ ดังนั้น รพ.เอกชนสามารถเสนอเข้ามากับทางสปสช.ว่า ต้องการให้ปรับเกณฑ์อย่างไร หากทำได้ ไม่ขัดกับระเบียบ ไม่ขัดกฎหมาย ก็พร้อมจะหารือและพิจารณาต่อไป