เกษียร เตชะพีระ ทัวร์ลงไม่รู้ตัว แต่ถึงรู้ “ผมก็ไม่แคร์”

ไทม์ไลน์ ชาวเน็ตวิจารณ์ความเห็น “เกษียร เตชะพีระ” เป็นนักวิชาการสายทุ่งลาเวนเดอร์ หลังเจ้าตัวโพสต์เตือนม็อบให้ระวัง อย่าไปทำลายแนวร่วม

วันที่ 18 พ.ย.63 กลุ่มราษฎร ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ สาดสีและใช้ปืนฉีดน้ำ ฉีดน้ำข้ามรั้วใส่แนวตำรวจชุดควบคุมฝูงชน ที่อยู่ด้านในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยก่อนยุติการชุมนุม แกนนำประกาศนัดรวมตัวกันอีกครั้งวันที่ 25 พ.ย. 63 ไปสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์

วันที่ 19 พ.ย.63 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เผยแพร่ แถลงการณ์นายกรัฐมนตรี ระบุว่า รัฐบาลและหน่วยงานด้านความมั่นคง จำเป็นต้องเพิ่มความเข้มข้นในการปฏิบัติ โดยจะบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับ ทุกมาตราที่มีอยู่ ดำเนินการต่อผู้ชุมนุมที่กระทำความผิด ฝ่าฝืนกฎหมาย เพิกเฉยต่อการเคารพสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น โดยจะดำเนินคดีต่างๆ ให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมของประเทศ ที่สอดคล้องกับหลักการสากล

วันที่ 20 พ.ย.63 ศ.ดร.เกษียร โพสต์ข้อความว่า การเมืองคือการหาพวกหาเพื่อน ไม่ใช่การระบายความโกรธแค้นหรือเอาคืน โดยไม่เลือกวิธีการ เป้าทางการเมืองต้องชัดเจนและเป็นตัวนำกำกับการต่อสู้ แน่นอนการระบายความโกรธแค้นหรือเอาคืนเป็นเรื่องเข้าใจได้และก็คงมีในฐานะมนุษย์ปุถุชน แต่ถ้ากำลังต่อสู้ทางการเมือง ก็ควรระมัดระวังไม่ให้มันไปทำลายแนวร่วม โดดเดี่ยวตัวเอง บ่อนเบียนความชอบธรรมของวิธีการต่อสู้ของคนนับหมื่นนับแสนคนที่ร่วมกันช่วยกันยึดมั่นมา

ทุนที่คนไม่มีอาวุธ ไม่มีอำนาจรัฐ ไม่มีอำนาจทุน ก็คือความชอบธรรมทางการเมือง ซึ่งฝ่ายอำนาจรัฐไม่มี เพราะได้อำนาจมาและรักษาอำนาจไว้โดยไม่ชอบธรรม อย่าทำลายจุดแข็งของตัวเองให้ลงไปอ่อนแอเท่าคู่ต่อสู้ อย่าทำลายทุนทางการเมืองที่มีในขณะที่ยังขาดแคลนทุนด้านอื่นๆ

หลังข้อความของ ศ.ดร.เกษียร ถูกแชร์ไปอย่างแพร่หลาย ปรากฏว่ามีทั้งฝั่งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

ฝั่งที่ไม่เห็นด้วยอย่าง “ลักขณา ปันวิชัย” พิธีกรและนักเขียนเจ้าของนามปากกา “คำ ผกา” เริ่มต้นความเห็นว่า…

Handle with care (ปฏิบัติด้วยความระมัดระวัง) แล้วมีคนตายเป็นร้อยกลางเมืองในปี 53 เพื่อจะบอกว่า เสื้อแดงทำทุกอย่างผิด! เราหยาบคาย เราสะเพร่า เราโอบอุ้ม embrace คนอื่นๆ ในสังคมน้อยเกินไป เราสื่อสารกับชนชั้นกลางบกพร่อง จะร้องไห้แล้วนะ ต้องการอะไรคะ

ทั้งยังบอกว่า ตัวเองไม่ใช่ดาวพระศุกร์ (นางเอก) ช่วยไปดูดน้ำส้มไกลๆ

ปล.ไม่ใช่เราที่จะน้อยลง แต่เป็นรัฐบาลที่จะต้องเคารพประชาชนให้มากขึ้น ไม่ใช่เราที่จะน้อยลง แต่เป็นสลิ่มที่ต้องหุบปาก

ปิดท้ายว่า วันนี้ ที่เด็กอายุ 16-18 ปี อย่างกลุ่มนักเรียนเลว มีหมายเรียกไปถึงบ้าน คุณยังคิดว่าเราสุภาพไม่พอ รักษาแนวร่วมไม่พอ เอาใจสลิ่มไม่พอ

หลัง “คำ ผกา” โพสต์ข้อความนี้ ปรากฏว่ามีคนเข้ามาแสดงความเห็นในทำนองเดียวกันจำนวนมาก

บางความเห็นบอกว่า การเมืองไม่ได้มีแต่เรื่องใน “ทุ่งลาเวนเดอร์”  และสถานการณ์ขณะนี้คือ หมดยุคของ ศ.ดร.เกษียร ที่เคยหาสหายแล้วหนีเข้าป่า แล้ว
บางความเห็นบอกว่า ข้อความของ ศ.ดร.เกษียร เป็นวาทกรรม “บั่นทอนกำลังใจ” และทำให้คน “แตกความสามัคคี” ซึ่งขั้วตรงข้ามก็จะคล้อยตาม

“กลุ่มราษฎรที่ออกมาวันนี้ยังคงใช้หลักสันติ มือไม่มีอาวุธ แต่หลักสันติก็ไม่ได้หมายความว่าเราต้องนั่งยอมให้มันเอาน้ำสารเคมีมาฉีด เอาปืนมายิง ความสันติก็มีระดับของมัน การใช้สีก็ไม่ใช่การแก้แค้น เอาคืน  ประชาชนต้องการให้ตำรวจและรัฐออกมารับผิดชอบต่อการใช้ม็อบชนม็อบ ใช้อาวุธเคมี กระสุนจริงหรือกระสุนยาง สิ่งที่เกิดขึ้น แต่ก็ไม่มีใครออกรับผิดชอบอย่างจริงใจ อาวุธที่มีคือความคิดและการแสดงของกลุ่มราษฎร ซึ่งเป็นสิ่งร้ายแรงที่สุดสำหรับกลุ่มเผด็จการ และอยู่เหนือกฎหมายทั้งหลาย…” เจ้าของความเห็นเดียวกันนี้กล่าว

ส่วนฝั่งที่เห็นด้วยส่วนใหญ่มองว่า ความเห็นของ ศ.ดร.เกษียร แสดงถึงเจตนาดีและเป็นข้อคิดที่น่ารับฟัง โดยเฉพาะ “รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์” อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่แสดงความเห็นต่อโพสต์ของ ศ.ดร.เกษียร ว่า

เราเห็นด้วยกับ อ.เกษียร นี่คือหลักการสำคัญที่ต้องคำนึงถึง บางครั้งอาจจะลื่นไหลจนเส้นแบ่งของสันติวิธีและความรุนแรงชักจะพร่าเลือนจะด้วยเหตุใดก็แล้วแต่ แต่ถ้าเรายึดหลักตรงนี้ไว้ ก็ตั้งหลักใหม่ ไม่มีสงครามครั้งสุดท้าย เรายังต้องสู้กันอีกหลายยก การรักษาความชอบธรรมระยะยาว ๆ จึงสำคัญมาก

แม้ว่าเราจะไม่มีปัญหากับคำหยาบและการสาดสี แต่ฝ่ายประชาชนก็ต้องระวังที่จะไม่เชียร์กันเองให้ใช้วิธีการที่แข็งกร้าวมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะอาจทำให้ไหลลื่นออกจากปริมณฑลของการต่อสู้แบบสันติวิธีโดยไม่รู้ตัว

คำหยาบไม่มีปัญหา การสาดสีกับสถานที่ราชการไม่มีปัญหา การผลักดันกับเจ้าหน้าที่รัฐไม่มีปัญหา แต่การสาดสีใส่สถานที่ของเอกชนที่เขาไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม ต้องห้ามต้องเตือนกัน มันไม่ควรเกิดขึ้น

การทุบกระจกร้านค้าเอกชนแบบที่ฝรั่งชอบทำ ไม่ได้แปลว่าเมื่อฝรั่งทำแล้ว เราก็น่าจะทำตามอย่างได้ เหตุผลว่าฝรั่งก็ทำ ไม่ใช่เหตุผลเลยสักนิด

การเผาผิดแน่ๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ของรัฐหรือเอกชน เมื่อคราวที่เสื้อแดงถูกฟ้องข้อหาเผาบ้านเผาเมือง ทั้งในกทม.และต่างจังหวัด รายงานของ ศปช. ได้ตอบโต้เรื่องนี้ ไม่ใช่ด้วยเหตุผลว่าการเผาไม่ผิด แต่ ศปช. โต้ว่าหลักฐานหลายกรณีอ่อนปวกเปียก บางกรณีเจ้าหน้าที่สร้างหลักฐานขึ้นมา บางกรณีมีหลักฐานชัดเจนว่าคนที่ถูกฟ้อง คือคนที่เข้าไปช่วยดับไฟที่ศาลากลาง แต่ศาลก็ละเลยหลักฐานนี้ แต่ก็มีบางกรณีที่ ศปช. ไม่มีข้อมูล แต่เมื่อกระบวนการยุติธรรมโดยรวมไม่ยุติธรรม คนบริสุทธิ์กลายเป็นเหยื่อการเมือง เราจึงเรียกร้องให้มีการนิรโทษกรรม

ขณะที่ “อธึกกิต แสวงสุข” คอลัมนิสต์และอดีตผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ เจ้าของนามปากกา “ใบตองแห้ง” แสดงความเห็นกรณีนี้ว่า

มีบางคนก่นด่าว่า การเตือนให้หาแนวร่วม แสวงจุดต่าง สร้างศัตรูให้น้อยที่สุด เป็นความคิดแบบคนรุ่นเก่าตกยุค อย่าเอาเพดานคนรุ่นเก่ามาจำกัดคนรุ่นใหม่ที่ทะลุเพดานแล้ว

ข้อแรก ย้ำว่าที่ผมท้วงติงการพ่นสีด่ากราดด้วยถ้อยคำรุนแรง บนเสาบนกำแพง นั้นคือการกระทำที่เลยเถิดจากเจตจำนงของแกนนำ ซึ่งต้องการให้ไปแสดงออกแค่สาดสีป้าย สตช.เอาคืนตำรวจ

ทำไมต้องปกป้องกันว่านั่นเป็นการกระทำที่สมควรแล้ว แม้เข้าใจกันว่าโกรธ ที่ถูกสลาย ให้ความเข้าใจความรู้สึกหัวอกเดียวกันได้ แต่ต้องยอมรับว่าเป็นผลเสียต่อภาพรวมของการต่อสู้

ที่จริงเป็นผลร้ายต่อตัวแกนนำด้วย เพราะเขาเป็นเป้าความเกลียดชัง ไม่ใช่พวกที่ไปพ่นสีซึ่งนิรนาม

อ้อ ถามด้วยว่าที่ผมยกตัวอย่างเด็กกลุ่มหนึ่งไปพ่นสีเกษรพลาซ่า แล้วคนไปม็อบด้วยกันช่วยกันลบ กลับด่าว่าปัญญาชนเป็นอะไร ใครคิดว่าเด็กกลุ่มนี้ทำถูก ยกมือขึ้น

(เอ๊ะงั้นคุณชื่นชมม็อบคนรุ่นใหม่เก็บขยะไปทำไม)

ข้อสอง ทฤษฎีการเคลื่อนไหว “หาเพื่อน” หาพวกให้มากที่สุด สร้างศัตรูให้น้อยที่สุด ไม่ใช่เรื่องตกยุค หรือเรื่องของคนรุ่นเก่า มันเป็นหลักการที่ใช้ได้ทุกยุค อันนี้คนมีสติที่ไหนๆ ก็เข้าใจได้ เว้นแต่พวกนักเคลื่อนไหวสะเปะสะปะ ไม่เคยทำอะไรสำเร็จเป็นชิ้นเป็นอัน หรือพวกอยากเป็นนางเอกโหนคนรุ่นใหม่ทำถูกไปเสียทุกอย่าง (ที่จริงก็ไม่ใช่คนส่วนใหญ่ด้วย เป็นแค่คนกลุ่มหนึ่ง)

การที่ม็อบคนรุ่นใหม่สามารถเรียกร้อง “ปฏิรูปสถาบัน” ต้องเข้าใจว่า มันอยู่บนสถานการณ์ที่มีความเห็นต่าง ไม่เป็นหนึ่งเดียว ของฝ่ายอนุรักษ์นิยมเอง พูดง่ายๆ คือบางส่วนยังหัวปักหัวปำ บางส่วนมีปัญหากับตัวบุคคลแต่ยังลึกซึ้งผูกพันกับคนก่อน กับโครงสร้าง บางส่วนก็เห็นด้วยกับข้อเสนอบางข้อแต่ไม่ทั้งหมด

ท่าทีการแสดงออกจึงสำคัญ การ Parody เสียดสี ในสิ่งที่สลิ่มก็นินทา เผลอๆ พวกนั้นแอบหัวเราะไปด้วย แต่การด่าหยาบด่าเหมา จะทำให้พวกเขาสะดุ้ง โกรธ และจะพาลปฏิเสธ หวนไปผนึกกำลังกัน อย่าลืมว่าแกนนำก็ตอกย้ำ ปฏิรูปคือการทำให้อยู่ยั่งยืน

แม้การเคลื่อนไหวของแกนนำแหลมคม ท้าทาย แต่อย่าลืมว่าเขาเน้นตรงจุดที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็แอบตั้งคำถาม เช่น ไปสถานทูตเยอรมัน ไปสำนักงานทรัพย์สิน

สาม เมื่อใดที่ม็อบถูกกระทำ การแสดงออกมีสองด้าน คือหนึ่งแสดงพลังตอบโต้เพื่อให้เห็นว่าไม่ยอมสยบ กับสอง การประจานความอยุติธรรมเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมเรียกร้องการสนับสนุนจากสังคม การแสดงอารมณ์มีได้ไม่ใช่พระอิฐพระปูนแต่ต้องไม่ล้ำจนเสียแรงสนับสนุน

การเคลื่อนไหวต้องคำนึงถึงความเห็นคนตรงกลางๆ เสมอ แต่คนที่ต่อสู้มักเชื่อว่าคนตรงกลางไม่มีหรอก มีแต่แดงกับเหลือง มีแ่ต่พวกเรากับฝ่ายตรงข้าม แต่ต่อให้เชื่อว่าไม่มีคนตรงกลางๆ อยู่จริง ก็ต้องคำนึงถึงความเห็นคนตรงกลางๆ เพราะคนแต่ละสีก็มีหลายสเปคตรัม ซึ่งเปลี่ยนได้หรือเห็นด้วยเห็นต่างเฉพาะเรื่อง

ไม่ใช่เอาแค่ความเห็นฝ่ายเราหรือหลงคิดว่าฝ่ายขวาโง่ล้าหลังแบบอีแวนโก๊ะไปเสียหมด พวกที่เป็นพลังเงียบจับจ้องอยู่ก็เยอะ

สี่ อันที่จริงแกนนำม็อบชุดนี้ฉลาดและเป็นธรรมชาติคนรุ่นใหม่ด้วย การจัดม็อบนักเรียนเลว ม็อบเฟสค์ ม็อบงานวัด ล้อเลียนเสียดสี ร้องรำทำเพลงเต้นสนุกสนาน (แถมรุ้ง ไผ่ แอมมี ยังไปขึ้นเวทีคอนเสิร์ต) มันสลับบรรยากาศระหว่างความร้อนแรงกับความมุ้งมิ้ง (แต่แสบ) เสาร์ที่แล้วก็ม็อบเฟสต์ แต่พอวันอังคารไปสภา ถูกสลายถูกฉีดแก๊สน้ำตาก็สู้ไม่ถอย วันพุธสาดสี สถานการณ์ดูตึงเครียด เสาร์อาทิตย์กลับมาจัดเวทีอีกแบบ ที่ตำรวจก็ไม่่สามารถห้ามได้ไม่สามารถใช้กำลังได้แต่ยืนดูตาปริบๆ อ้าว แล้ววันพุธจะไปทรัพย์สินอีก

ลองนึกภาพอดีตแบบม็อบเสื้อแดง พอสถานการณ์มาคุแล้วเปลี่ยนบรรยากาศไม่ได้ ยุคนี้ตีกลับได้ ทำให้กระแสที่รัฐโหมกระหน่ำเรื่องสาดสีพ่นสีกล่าวหาว่าม็อบใช้ความรุนแรง ถูกกลบไป

ผมว่าแกนนำม็อบน่ะเข้าใจยุทธศาสตร์พอตัว แต่กองเชียร์นี่สิ

ห้า อ่านคอมเมนท์แล้วไม่ค่อยมีใครเถียง อ.เกษียรเรื่องหาแนวร่วมสงวนจุดต่าง แต่ไปแซะเกษียรเรื่องอื่นแทน

ต่อมาวันที่ 21 พ.ย.63 ศ.ดร.เกษียร โพสต์เล่าถึงประสบการณ์รุ่นตัวเอง พร้อมตบท้ายถึงคำว่า “นางเอก” และ “ทุ่งลาเวนเดอร์” ดังนี้

ประสบการณ์

ประสบการณ์ของคนรุ่นผมซึ่งจำกัดด้วยบริบททางประวัติศาสตร์และก็ไม่แน่ว่าจะใช้ได้กับคนรุ่นอื่นคือ แรงที่สุดที่เราตอบโต้ได้คือ ตาต่อตา ฟันต่อฟัน ปืนต่อปืน สงครามต่อสงคราม

ในกระบวนการตอบโต้นั้น ได้เกิดอาชญากรรมและโศกนาฏกรรมขึ้นไม่น้อยที่เรายืนดูหรือกระทั่งร่วมลงมือด้วยความรู้สึกว่ามันชอบธรรมแล้ว เพราะเราถูกกระทำมาก่อน

มโนธรรมสำนึกเราทนได้เพราะมันเป็นอัมพาต ถูกแช่แข็งเย็นชาด้วยความป่าเถื่อนโหดร้ายทารุณที่เพื่อนพี่น้องมิตรสหายของเราได้รับมาอย่างอยุติธรรมคาตาคาหูของเรา

ผมคิดว่านี่เป็นบทเรียน (ในความพ่ายแพ้ ก็มีบทเรียน ใครว่าไม่มี?) ที่อาจข้ามบริบทไปถึงคนต่างรุ่นได้ เท่าที่เรายังเป็นมนุษย์ปุถุชนที่มีจิตตารมณ์ ความอ่อนแอ เข้มแข็งและสามารถเรียนรู้ได้และไม่ยอมเรียนรู้ได้เหมือนกัน

ลำพังความสะใจไม่อาจรักษาบาดแผล การข่มเหงรังแกและอยุติธรรมที่เพื่อนเราได้รับ การชดเชยที่คู่ควรคือทำให้ความจริง ความยุติธรรมเป็นจริงขึ้นมา และคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้กับสังคมโดยรวม

ถ้าคิดว่านี่เป็นบทนางเอกละครทีวีน้ำเน่าหรือทุ่งลาเวนเดอร์ก็แล้วไปนะครับ

ล่าสุด วันนี้ (23 พ.ย.63) ศ.ดร.เกษียร โพสต์ข่าวของ “คมชัดลึก” ที่พาดหัวว่า “ทัวร์ลง เกษียร พิษโรคไร้เดียงสา” โดย ศ.ดร.เกษียร์ โพสต์ข้อความระบุว่า

…เอาเข้าจริงผมไม่รู้นะครับว่าทัวร์ลง และถึงรู้ผมก็คงไม่แคร์

“ทัวร์ลง” ที่ผมไม่รู้หนแรกสุด (ถ้าใช้คำ ๆ นี้ย้อนเวลา) คือเมื่อผมเขียนบทความ “ปรากฏการณ์ม็อบพันธมิตรฯ” ลงมติชนรายวันเมื่อปี ๒๕๕๑ แล้วสักสองสามสัปดาห์ให้หลัง ก็ได้อีเมล์จากเพื่อนเก่าแก่จากอเมริกาว่าบทความนั้นของผมถูกส่งกระจายข้ามแดนไปทั่วในเส้นสายนักกิจกรรมเก่าที่สนับสนุนพันธมิตรฯพร้อมคำวิพากษ์แบบด่าแหลก เพื่อนผมคนนั้นเห็นเข้าทนไม่ไหวก็เลยโต้ไปให้และบอกข่าวให้ผมทราบ

มาหนนี้ก็เช่นกัน ผมก็ไม่รู้หรอกครับว่าทัวร์ลงจนมีสำนักข่าวออนไลน์บางแห่งรายงาน และเพื่อน ๆ บางท่านเขียนแสดงความเห็นด้วย และอธิบายเพิ่มเติม แล้วผมได้อ่านเข้าต่อมา

ถ้าจะพูดอย่างรูปธรรม ผมไม่มีปัญหากับเรื่องคำหยาบหรือการสาดสีทาสีอะไรโดยตัวมันเอง ขอแต่ยึดกุมเป้าการเมืองให้ชัดเจนและทำอย่างเข้าใจผลกระทบ แต่สิ่งที่กระตุกผมให้เขียนโพสต์นั้นคือคำบอกเล่าจากเพื่อนบางคนว่ามีการเสนอให้ “looting” (ปล้นชิงร้านรวง) อันนี้ผมคิดว่าถ้าเกิดก็แย่มากและทำลายขบวนการเคลื่อนไหวที่ผ่านมาให้ด่างพร้อยไปหมด จึงเขียนแสดงความเห็นตรงไปตรงมา แต่ก็เสนอเชิงหลักการกว้าง ๆ เพื่อเคารพผู้อ่านที่จะไปตีความประยุกต์กันเองตามสภาพการณ์จริงเฉพาะหน้า

คนรุ่นผมนั้นถูกขัดเกลาและผ่านประสบการณ์ของการวิจารณ์และวิจารณ์ตนเองตามสูตรประธานเหมาเจ๋อตงมา สรุปก็คือ “เมื่อรู้ก็พูด เมื่อพูดก็พูดให้หมดเปลือก”, “ผู้พูดไม่ผิด ผู้ฟังพีงสังวรณ์”, “ถ้าผิดก็แก้ ถ้าไม่ผิดก็ถือเป็นข้อเตือนใจ”, “เข้มงวดตัวเอง ผ่อนปรนคนอื่น” เป็นต้น

เมื่อปรับประยุกต์และตีความแบบผมก็คือ เวลาผมวิจารณ์คนอื่น ผมพยายามยึดถือหลัก ๒ ข้อ ๑) ผมรักและหวังดีต่อผู้นั้นพอที่ผมจะลงทุนลงแรงไปทำงานความคิดในการวิจารณ์ ๒) ผมไม่มีผลประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องโดยส่วนตัว จึงสามารถพูดได้เต็มที่ เพื่อให้แก่ผู้ถูกวิจารณ์ อย่างไม่หวังผลตอบแทน

ผมคิดว่าหนนี้ผมก็ยึดหลักนั้นเช่นกัน เมื่อยึดแล้ว ผลลัพธ์ตอบสนองจะเป็นอย่างไร ทัวร์ลงหรือไม่ ผมไม่แสวงหาที่จะไปรับรู้และพูดให้ถึงที่สุดผมก็ไม่ได้แคร์ เพราะผมเข้าใจว่าอะไรที่คนอื่นให้กับเรามาเช่นลาภ ยศ สรรเสริญนั้น ไม่อยู่กับเรายั่งยืน เขาจะเรียกกลับคืนเมื่อไรก็ได้ สิ่งที่อยู่กับเรายั่งยืน คือผลงานของเราที่ทรงคุณค่ากับตัวเราเองเท่านั้น