อแมนด้า : ดราม่าครั้งล่าสุด ซ้อมตอบคำถาม เลือกผู้นำประเทศ

เผยแพร่ครั้งแรก เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2564
ปรับปรุงครั้งล่าสุดเมื่อ 18 พฤษภาคม 2564

 

“อแมนด้า ชาลิสา ออบดัม” มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2020 ต้องพบกับดราม่าครั้งใหญ่อีกครั้ง หลังพบคลิปตอบคำถามที่ให้เลือกระหว่าง “ผู้นำที่ฉลาดแต่โกง” กับ “ผู้นำไร้ความสามารถแต่มือสะอาด”

แม้การประกวด Miss Universe 2020 ครั้งที่ 69 ซึ่งจัดขึ้นที่ฮาร์ดร็อกไลฟ์ ภายในเซมิโนลฮาร์ดร็อกโฮเท็ลแอนด์คาสิโน ฮอลลีวูด รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ได้จบลงแล้ว ซึ่ง “อแมนด้า ชาลิสา ออบดัม” มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2020 ทำดีที่สุดด้วยการเข้ารอบ 10 คนสุดท้าย ทำได้เพียงเดินในรอบชุดราตรี (Evening Gown) เท่านั้น และพลาดการเข้ารอบ 5 คนสุดท้ายเพื่อเข้าไปตอบคำถามอย่างน่าเสียดาย

“ประชาชาติธุรกิจ” นำเสนอลีลาการตอบคำถามของตัวแทนสาวไทย “อแมนด้า ชาลิสา ออบดัม” อีกครั้งดังนี้

ย้อนดราม่า ตอบคำถามเลือกผู้นำประเทศ

ย้อนกับไปเมื่อ (29 เม.ย.) โลกออนไลน์มีการแชร์คลิปที่ “อแมนด้า ชาลิสา ออบดัม” มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2020 ถูกถามว่า “ถ้าคุณจะต้องเลือกผู้นำ ระหว่างผู้ที่มีความสามารถในการบริหารประเทศแต่มีเรื่องคอรัปชั่นเล็กน้อย กับผู้นำที่ค่อนข้างไม่มีความสามารถในการบริหารประเทศ แต่ไม่มีเรื่องคอรัปชั่นเลย คุณจะเลือกผู้นำแบบไหน”

“อแมนด้า” ตอบคำถามดังกล่าวว่า “คอรัปชั่นไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องโดยประการทั้งปวง และไม่ควรเกิดขึ้น ไม่ว่าบนแผ่นดินประเทศใดก็ตาม ถ้าฉันจะต้องเลือกผู้นำ ฉันจะขอเลือกผู้นำที่มีความสามารถที่จะนำพาประเทศชาติไปได้ แม้ว่าเขาอาจจะมีเรื่องคอรัปชั่นอยู่บ้าง เพราะฉันเชื่อเสมอว่าประเทศจะรุ่งเรืองขึ้นได้ ถ้าเราเดินหน้าไปในทิศทางที่ถูกต้อง และถ้าเรามีผู้นำที่คอยพยุงพัฒนาเศรษฐกิจได้ จะทำให้เกิดสิ่งดี ๆ กับทุกคนได้และประชาชนก็จะศรัทธาในตัวท่านเอง”

เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นเมื่อมีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งโพสต์คลิปดังกล่าวพร้อมข้อความว่า “ปังมาก ปังปินาดมาก…ที่อแมนด้า ตัวแทนประเทศไทยไปประกวด Miss Universe 2020 ตอบคำถามกรรมการเช่นนั้น”

เมื่อมีการชี้เป้าว่าอแมนด้าแสดงมุมมองการเมืองบนเวทีระดับโลก ชาวเน็ตที่ไม่เห็นด้วยกับคำตอบแห่เข้าไปคอมเมนต์บนบัญชีเฟซบุ๊กของผู้ใช้งานรายนี้กว่า 166 ครั้ง และมีการส่งต่อมากกว่า 3.2 พันครั้ง นำไปสู่ดราม่าครั้งใหญ่อีกครั้งของตัวแทนสาวงามจากประเทศไทย “อแมนด้า ชาลิสา ออบดัม”

ขณะที่ดราม่ากำลังเข้มข้น ฝั่งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยสาดวาทกรรมการเมืองใส่กันชุลมุน เพจดังอย่าง Drama-addict พยายามออกมาห้ามทัพโดยบอกว่าคลิปต้นเรื่อง อแมนด้าไม่ได้ไปพูดบนเวทีประกวด Miss Universe 2020 เพราะกว่าการประกวดจะเริ่มก็วันที่ 16 พฤษภาคม และอแมนด้าเองก็เพิ่งจะแลนด์ดิ้งที่สหรัฐอเมริกา

อีกเพจดังอย่าง “Poetry of Bitch” มาช่วยยืนยันอีกแรงว่า กรณีการแชร์ข้อความที่อ้างว่าเป็นการตอบคำถามของ “อแมนด้า” ในการประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2020 ทำให้มีหลายคนหลงเชื่อและโจมตีอแมนด้า เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง อแมนด้าเพิ่งเดินทางไปถึงไมอามี สหรัฐอเมริกา (สถานที่จัดประกวด) เช่นกัน

ดราม่านี้ไม่ได้มีแค่ที่เมืองไทย เพราะหลังคลิปนี้ถูกโพสต์ใน El Tocuyo Award ซึ่งเป็นเพจมอบรางวัลแก่นางงามตัวเต็ง ที่ตกรอบจากการประกวด Miss Universe ผู้ใช้เฟซบุ๊กนานาชาติก็หลั่งไหลมาแสดงความเห็นต่อคำตอบของอแมนด้า จนทางเพจต้องออกมาชี้แจง ดังนี้

ขณะนี้มีปัญหาบางอย่างในรัฐบาลของประเทศไทย ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เราเห็นว่าแฟน ๆ ชาวไทยบางคน ไม่พอใจคำตอบของอแมนด้าที่เกี่ยวกับการคอร์รัปชั่น เราได้โพสต์วิดีโอถามตอบของอแมนด้าเพื่อแสดงให้เห็นว่า คำถามใด ๆ ก็ตาม สามารถตอบได้อย่างแตกต่าง ตราบใดที่เธอยังยึดมั่นในจุดยืนของตัวเอง

จำได้ไหมว่าตอนที่แคทรีโอนาตอบคำถามเกี่ยวกับกัญชา ซึ่งเป็นหัวข้อที่มีการถกเถียงกัน เธอชี้ให้เห็นโดยตรงถึงการใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ และไม่ได้เน้นเรื่องการใช้งานด้านสันทนาการ คำถามทางการเมืองเป็นคำถามที่ยากและน่ากลัวที่สุด ซึ่งควรจะตอบอย่างดีที่สุดเท่าที่คุณจะตอบได้ โดยไม่ทำให้ผู้อื่นขุ่นเคืองใจ

อแมนด้าได้ตอบคำถามซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่ยอมรับเถอะ เจ้าหน้าที่ของรัฐส่วนใหญ่มักเกี่ยวข้องกับการทุจริต มันเป็นเรื่องจริงและกำลังเกิดขึ้นจริง ๆ เราสามารถสัมผัสได้ถึงจุดยืนของเธอและเข้าใจว่าเหตุใดเธอจึงพูดแบบนั้น แต่เธอต้องทำให้มันดูน่าเชื่อถือกว่านี้ เนื่องจากหัวข้อดังกล่าวเกี่ยวข้องกับค่านิยมและศีลธรรม ราเบียก็เคยถูกทุบตีจากการแสดงจุดยืนเรื่องความเป็นผู้นำของผู้หญิง แต่เธอเพียงแค่พูดความจริง ซึ่งทำให้เธอเป็นที่ชื่นชอบและชื่นชมเป็นอย่างมากจากผู้ที่สนับสนุนเธอ

อแมนด้าต้องเลือกคำที่เหมาะสมในการตอบคำถามที่มีข้อโต้แย้ง ตอนที่เธอได้สวมมงกุฏ เธอเป็นผู้เข้าประกวดท็อปทรีสำหรับเรา เราโพสต์วิดีโอนี้ไว้ก่อน เราจึงไม่สามารถปฏิเสธความจริงนี้ได้ แต่ตอนนี้เราคิดว่าเธอน่าจะไปได้ไกลสุดที่ท็อปไฟว์ เพราะผู้เข้าประกวดหลายคนในปีนี้เป็นนักพูดที่ยอดเยี่ยม

แล้วอแมนด้ามีโอกาสจะชนะไหม? แน่นอน! หากเธอได้คำถามที่ตรงตามที่เธอซักซ้อมมาและเตรียมตัวมาอย่างดี เธอจึงจะผ่านรอบถามตอบไปได้ เราอาจได้เห็นคำตอบที่อึกอักจากเธอเร็ว ๆ นี้ แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่าเธอสามารถตอบคำถามอื่น ๆ ได้ดี เพราะการฝึกตอบคำถามของเธอ

ถามคำถามที่ดีที่เธอรู้และหากเธอตอบได้ดี ประเทศไทยก็จะมีมิสยูนิเวอร์สคนที่สาม เราไม่เคยฟันธงว่าเธอจะติดท็อปไฟว์ แต่เรายังคงเห็นศักยภาพของเธอในการตอบคำถาม โดยพิจารณาจากลักษณะและการนำเสนอโดยรวมของเธอ

ในช่วงเวลาที่มีการแชร์คลิปอย่างแพร่หลาย ผู้สื่อข่าวตรวจสอบไปที่เฟซบุ๊กของอแมนด้าพบว่าเจ้าตัวเพิ่งเดินทางไปถึงสหรัฐอเมริกาเมื่อช่วงเช้าตามเวลาประเทศไทย พร้อมกล่าวทักทายส่งตรงจาก “ไมอามี” โดยทวีตถึงกรณีดราม่าในประเทศไทยเป็นภาษาอังกฤษ “I am against corruption in every form” ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “ฉันต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ”

ย้อนเส้นทางดราม่า-มุมมองทางการเมือง

โพสต์ไอจีสตอรีหนุนประชาธิปไตย

หลังคว้าตำแหน่งมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2020 ไปครองได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2563 คล้อยหลังได้ไม่ถึง 1 สัปดาห์ นางงามลูกครึ่งไทย-แคนาดา ก็ออกตัวสนับสนุนประชาธิปไตย ด้วยการโพสต์ข้อความในไอจีสตอรี่

“อแมนด้า” ได้ระบุสิ่งที่ตนสนับสนุน ได้แก่ 1.ประชาธิปไตย 2.หลักการสิทธิมนุษยชนคือหัวใจหลักในการปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์ 3.ต่อต้านการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ 4.เสรีภาพในการพูดบนพื้นฐานความจริง 5.ความเท่าเทียมกันของทุกคน Be safe everyone

โดยในวันที่ 14-15 ตุลาคม 2563 คณะราษฎร ได้มีการชุมนุมต่อเนื่อง โดยมีมวลชนปักหลักอยู่ที่บริเวณด้านหน้าทำเนียบรัฐบาลถึงเช้ามืดวันที่ 15 ตุลาคม ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะกระชับพื้นที่และยึดพื้นที่ทั้งหมดคืน ต่อมาจึงมีการควบคุมตัวแกนนำ

#ทรงผมบังเพื่อน

(25 พ.ย.) อแมนด้า ออบดัม มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2020 ได้ทวีตข้อความพร้อมแฮชแท็ก #ทรงผมบังเพื่อน ว่า ผมยาวเป็นศอก และได้เกียรตินิยมจากแคนาดา”

    

ประเด็นดังกล่าวเกิดขึ้น ภายหลังจาก นายวีระ แข็งกสิการ ร่วมดีเบตถึงประเด็นต่าง ๆ กับตัวแทนจากกลุ่มนักเรียนเลว ในรายการ ถามตรง ๆ กับจอมขวัญ ทางไทยรัฐทีวี เมื่อ 23 พ.ย. ว่า ประเด็นที่อยากให้ดูคือในรัฐธรรมนูญน่าจะไม่ได้กำหนดเรื่องสิทธิอย่างเดียว แต่ได้พูดถึงหน้าที่ด้วย รัฐธรรมนูญเองก็เหมือนศีลที่ทำให้คนอยู่ร่วมกันในสังคม เพื่อให้อยู่ได้อย่างปกติสุข ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน หลายเรื่องที่ทำแล้วทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ประเด็นที่เกี่ยวข้องด้วย ขอยกตัวอย่างเรื่องทรงผม

“สมมุติว่าถ้าน้องจะทำผมยาวสักศอกหนึ่ง คนที่เดือดร้อนคือพ่อแม่ ต้องซื้อยาสระผมมาสระให้นักเรียน เวลาเรามานั่งในห้องเรียนผมเราที่ยาวเป็นศอกก็บังเพื่อนอยู่ด้านหลัง นี่คือความรู้สึกของคนอื่น แต่ความรู้สึกของเรา กำหนดแค่สิทธิของเรา แต่ไม่รู้ว่าหน้าที่ที่เราต้องอยู่ในสังคม” นายวีระกล่าว

ทันทีที่ประโยคดังกล่าวเผยแพร่ออกไป โลกออนไลน์ โดยเฉพาะทวิตเตอร์ได้เกิดแฮชแท็ก #ทรงผมบังเพื่อน ทันที

ซัดปม “แอปฯหมอชนะ”

(7 ม.ค.) “อแมนด้า” ได้รีทวีตข้อข้อความ ศูนย์ข้อมูล Covid-19 ถึงกรณีข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถำนการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 17)

มีการยกระดับการบังคับใช้มาตรการป้องกันโรค ให้ประชาชนในพื้นที่ติดตั้งแอปพลิเคชั่น “หมอชนะ” ควบคู่การใช้แอปพลิเคชั่นไทยชนะ หากพบว่าติดเชื้อโควิด-19 แล้วไม่มีแอปพลิเคชั่นดังกล่าวในโทรศัพท์มือถือ มีความผิดตามกฎหมาย

มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2020 ระบุว่า “อยากเห็นความจริงจังในการจัดการผู้กระทำผิดและเป็นต้นเหตุในการระบาดของเชื้อ เช่น ผู้เปิดให้มีการลักลอบขนแรงงานต่างด้าว ผู้ที่ปล่อยให้มีการลักลอบเล่นการพนัน เหมือนกับที่จริงจังในการบังคับใช้กฎหมายกับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบแบบนี้อย่างเท่าเทียม”

วันแห่งความรัก

14 กุมภาวันแห่งความรักหรือวันวาเลนไทน์ เจ้าตัวโพสต์ข้อความเป็นภาษาอังกฤษว่า How can we talk about love when there’s still violence on the street ? (เราจะพูดถึงวันแห่งความรักได้ยังไง เมื่อยังมีประชาชนถูกทำร้ายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ)

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ มีการชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก่อนเคลื่อนมาบริเวณหน้าศาลฎีกา ใกล้ท้องสนามหลวง เมื่อมีการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่เป็นระยะ และยังคงก่อความวุ่นวายหลังเวลา 21.30 น. ตำรวจจำเป็นต้องใช้มาตรการขั้นต่อไป รวมถึงการเข้าจับกุม ซึ่งต่อมาปรากฏคลิปทีมแพทย์อาสาถูกทำร้ายร่างกาย

กรมสุขภาพจิต “ปลด” – มูลนิธิกระจก “แต่งตั้ง”

(2 มี.ค.) กรมสุขภาพจิต ออกแถลงการณ์ “ยุติ” การเป็นทูตด้านสุขภาพจิต ของ อแมนด้า – ชาลิสา ออบดัม มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2020 หลังจากที่เพิ่งแต่งตั้งได้ไม่ถึง 1 สัปดาห์ โดยให้เหตุผลว่ากรมสุขภาพจิตไม่สามารถดำเนินภารกิจที่อาจจะก่อให้เกิดความขัดแย้งและสร้างความไม่สบายใจแก่ประชาชนในสังคมได้

ถัดมา 1 วัน (3 มี.ค.) มูลนิธิกระจกเงา ได้เชิญชวน “อแมนด้า” ร่วมงานกับทางโครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา ในฐานะอาสาสมัครทูตสื่อสารสังคม ซึ่งมีภารกิจในการทำงานประสานงานให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนในพื้นที่สาธารณะ ผู้ป่วยจิตเวชที่มีปัญหาในการเข้าถึงการรักษาอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง


ความเห็นที่มีต่อสังคมและการเมืองเหล่านี้ กลายเป็นต้นทุนที่ “อแมนด้า” ต้องจ่าย ในยามที่สังคมถูกแบ่งออกเป็น 2 ขั้ว