กมธ.ศาสนาฯ เรียก 2 พส.ชี้แจง อ.จุฬาฯ ติง ฝ่ายการเมืองอย่าแทรกแซง

อาจารย์นิติฯ ไม่เห็นด้วย กรณีกมธ.ฯ นิมนต์ 2 พส. ชี้ ไม่สอดคล้องรัฐธรรมนูญ
ภาพจากเฟซบุ๊ก Ponson Liengboonlertchai

อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ไม่เห็นด้วย กมธ.ศาสนา นิมนต์ 2 พส. แจงที่สภา ชี้ อำนาจแสวงหาข้อเท็จจริงของคณะกรรมาธิการในรัฐสภามีข้อจำกัด ไม่อาจใช้ได้ในทุกกรณี

วันที่ 9 กันยายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร นิมนต์ พระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต และ พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ พระนักเทศน์ชื่อดังแห่งวัดสร้อยทอง เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกรณีเกิดกระแสวิจารณ์ในโซเชียลมีเดียลถึงการออกมาไลฟ์สดทางโซเชียล ตามที่ได้เคยรายงานไปแล้วนั้น

ต่อมา ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ความเห็นต่อเรื่องดังกล่าวผ่านเฟซบุ๊ก Ponson Liengboonlertchai โดยระบุว่า กรณี พส. 2 รูป ได้แก่ พระมหาสมปองและพระมหาไพรวัลย์ ท่านรับนิมนต์ตามคำเชิญของคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎรนั้น ก็เรื่องหนึ่ง

อย่างไรก็ดี เรื่องนี้มีประเด็นทางรัฐธรรมนูญที่ควรอธิบายให้ชัดเจน ผมเห็นว่าการใช้อำนาจของ กมธ.ไม่น่าจะสอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและเป็นการไม่เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะเรียก หรือเชิญท่านไปชี้แจงอธิบายใดๆ ที่สภาฯ

1. กรณีที่ กมธ.ฯ ใช้อำนาจเรียก (อำนาจแสวงหาข้อเท็จจริง) อันเป็นกลไกทางการเมืองอาจมีลักษณะไม่สอดคล้องกับหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญซึ่งเชื่อมโยงอยู่ ม.31 ของรัฐธรรมนูญว่าด้วยเสรีภาพในการนับถือศาสนาที่มีส่วนในการกำหนดแยกเขตแดนระหว่าง “กิจกรรมทางการเมือง” (เรื่องทางโลก) กับ “กิจกรรมทางศาสนา” (เรื่องทางธรรม) ออกจากกัน (Seaparation of State and Church)

2. จากข้อ 1 การที่ กมธ.บางท่านไปอ้างว่าคณะกรรมาธิการของตนมีอำนาจตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรฯ จึงเป็นการกล่าวอ้างที่ไม่ถูกต้อง เป็นการบังคับใช้ข้อบังคับการประชุมที่ขัดแย้งไม่สอดคล้องต่อ (หลักกฎหมาย) รัฐธรรมนูญเสียเอง

3. หาก กมธฯ จะอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญประกอบกับข้อบังคับการประชุมสภาฯ เพื่อใช้อำนาจเรียกเพื่อสอบหาข้อเท็จจริงกรณีที่เป็นประเด็นอยู่นั้น สามารถทำได้ด้วยการเรียกผู้แทนของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติในฐานะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าวเข้ามาชี้แจง

ผมคิดว่าหลักการทางรัฐธรรมนูญเรื่องนี้ต้องพูดกันให้ชัดเจนครับ “อำนาจแสวงหาข้อเท็จจริงของคณะกรรมาธิการในรัฐสภา” มีข้อจำกัด ไม่อาจใช้ได้ในทุกกรณี (ไม่ต่างกับกรณีการห้ามยุ่งเกี่ยวกับเรื่องที่มีการดำเนินคดีแล้วตามกฎหมาย การปฏิบัติหน้าที่ของศาล ฯลฯ)

ฝ่ายการเมืองต้องตระหนักกับหลักการข้างต้น ไม่ใช้ระบบคณะกรรมาธิการในสภาฯ ซึ่งเป็นกลไกทางการเมืองไปแทรกแซงเรื่อง หรือกิจกรรมทางศาสนาด้วยการเรียก “พส.” ทั้ง 2 รูป โดยตรง ทั้งๆ ที่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่เช่นนี้ มิฉะนั้นแล้ว ต่อไป “โลกทางการเมือง” และ “โลกทางธรรม” คงจะปะปนหาความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ของแต่ละฝ่ายกันได้ยาก