หมอธีระวัฒน์เผยโรคเสี่ยงจาก “เชื้อโรค” ที่มากับน้ำ

หมอธีระวัฒน์ เตือน ! อันตรายของเชื้อโรคที่มากับน้ำ เสี่ยงติดเชื้อเพียบ

หมอธีระวัฒน์เตือนเชื้อโรคมาพร้อมสถานการณ์น้ำท่วมอันตราย เสี่ยงเกิดโรคติดเชื้อหลายโรค

วันที่ 29 กันยายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (28 ก.ย.) นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำข้อความเรื่อง เชื้อโรคกับภาวะน้ำวิปริต ที่ได้เขียนไว้เมื่อปี 2554 มาโพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha อีกครั้ง

โพสต์ดังกล่าวระบุว่า ภาวะน้ำวิปริต ทั้งท่วมและลด มักจะมาพร้อมกับความเสี่ยงต่อโรคติดเชื้อ ทั้งที่มากับน้ำโคลนเลนโดยตรง และที่พ่วงมากับยุง แมลง เห็บ ริ้น ส่วนที่มากับน้ำที่สำคัญ คือ ท้องเสีย ท้องร่วง ตับอักเสบ A ผ่านทางการกินอาหารและน้ำที่ปนเปื้อน และไข้หวัดใหญ่ซึ่งผสมโรงตอนหน้าหนาว และในขณะที่ผู้คนอพยพต้องอยู่กันแออัดยัดเยียด และอาจเกิดบานปลายระบาดในวงกว้าง

และรวมทั้งโรคที่มากับฉี่สัตว์ หนู หมา วัว ควาย (เลปโตสไปโรสิส) โดยที่เชื้อสามารถชอนไชเข้าผิวหนัง โดยเฉพาะที่เปื่อย จากน้ำกัดเท้า แผลเรื้อรังจากเบาหวาน เส้นเลือดขอด ซึ่งมีโอกาสติดเชื้อ เกิดแผลหนองง่ายอยู่แล้ว

โรคที่มากับฉี่สัตว์ เชื้อยังเข้าร่างกายทางเยื่อบุปาก ตา การกินอาหาร น้ำที่มีเชื้อ และหายใจเอาฝอยฟุ้งของฉี่สัตว์ที่มีเชื้อ ทั้งนี้จะเริ่มพบโรคได้มากขณะน้ำเริ่มลด ย่ำน้ำโคลน เลน โดยเชื้อที่ถูกปลดปล่อยออกมาในฉี่สัตว์ จะสามารถมีชีวิตได้เป็นเดือนในโคลน ดิน ชื้นแฉะ

การย่ำน้ำที่มองไม่เห็นพื้น มักเกิดบาดแผล ส่วนของแผลที่กลัวจะเป็นบาดทะยัก ต้องเข้าใจว่าไม่ได้เกิดง่ายดาย จะขึ้นกับลักษณะแผล ที่มักเป็นแผลปิด รุ่งริ่ง มีเศษเสี้ยนติดค้าง เนื้อตาย มีหนอง ซึ่งจะเอื้ออำนวยสภาวะพร่องอากาศในแผล ทำให้สปอร์บาดทะยักฟักเป็นตัวแบคทีเรียปล่อยสารพิษเข้าสู่เส้นประสาท คนที่ได้วัคซีนบาดทะยักครบในขวบปีแรก และฉีดกระตุ้นเมื่อ 4-6 ปี แม้มีแผลเสี่ยง ภายใน 5 ปี ไม่ต้องฉีดกระตุ้น แต่อายุเกิน 65 ปี ควรกระตุ้นซ้ำ

บาดทะยักไม่เป็นโรคระบาด และมีโอกาสน้อยมากที่จะเกิดในภาวะน้ำวิปริต ข้อสำคัญคือเมื่อมีแผลต้องล้างด้วยน้ำและสบู่ เอาวัตถุตกค้างออก และรักษาการติดเชื้อที่แผลให้หาย ระวังไม่ให้แผลถูกน้ำหรือโคลนเลน การใช้ขี้ผึ้งแก้น้ำกัดเท้า (Whitfield ointment) ช่วยบรรเทาและรักษาแผลจากน้ำกัดเท้าได้ดี เนื่องจากมีตัวยาฆ่าเชื้อราและแบคทีเรียในเบื้องต้นได้

โรคตาแดงในภาวะน้ำท่วม อาจไม่ใช่ไวรัส อาจเกิดได้จากเชื้อแบคทีเรีย รา ซึ่งจะเกิดเป็นราย ๆ ไป อาการตาแดงยังอาจเป็นอาการเตือนของโรคร้ายแรงอื่น ๆ ซึ่งระบาดในวงกว้างได้ เช่นโรคฉี่สัตว์ ไวรัสเอนเทอโร  (Enterovirus) ที่ทำให้เกิดโรคมือ เท้า ปาก เชื้อจากเห็บ หมัด ทำให้เกิดโรคริกเก็ตเซีย (Rickettsia) ที่อาการคล้ายกับโรคเลปโตฯ

ยังไม่พอ เชื้อที่มากับยุง แมลง เห็บ ริ้น ที่ระบาดได้ นอกจากมาลาเรีย ที่ถิ่นระบาดอยู่ในภาคเหนือ ยังมีที่สำคัญอีกหลายโรคคือ ไข้เลือดออก (dengue) ไข้สมองอักเสบ ทั้งนี้คนที่เคยได้รับเชื้อสมองอักเสบ JE ที่ชุกชุมในบ้านเรา ทั้งที่มี หรือไม่มีอาการก็ตาม จะมีภูมิป้องกัน แต่ถ้าได้เชื้อไข้เลือดออก กลับทำให้โรคไข้เลือดออกกลับรุนแรงขึ้นไปอีก

และขณะนี้ต้องระวังไข้เลือดออกสายพันธ์ุหม่จากจีน (SFTV) และไวรัสไข้เลือดออกในตระกูล Filovirus Bunyavirus Arenavirus Flavivirus สมองอักเสบนอกจาก JE ยังเกิดจากไวรัสอีกหลายชนิด (ไวรัส Chandipura West Nile และไวรัสในตระกูล Togavirus Flavirus Bunyavirus Reovirus และ Paramyxovirus) รวมทั้งไข้เลือดออก dengue แม้ไม่มีอาการของไข้เลือดออกและไข้หวัดใหญ่ยังทำให้เกิดสมองอักเสบได้เช่นกัน

ดังนั้นการเกิดผู้ป่วยสมองอักเสบ เป็นสัญญาณเตือนภัยว่าอาจจะเกิดโรคในวงกว้าง และต้องระวังอย่างเคร่งครัด ควรมีมาตรการป้องกันไม่ให้ถูกแมลง ยุง เห็บ ริ้น กัด โดยการป้องกันยุงและแมลงกัด ใช้ยาพ่นสเปรย์ที่เสื้อผ้าและผิวหนังนอกร่มผ้า ยาไล่ยุง แมลง มีทั้งแบบมาตรฐานที่มีส่วนประกอบเป็น DEET หรือ picaridin

และแบบที่ผลิตจากผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ เช่น ตะไคร้หอม เป็นต้น หลักการที่สำคัญ อาจต้องทราบคร่าว ๆ ว่า ผลิตภัณฑ์นั้น ๆ สามารถไล่ยุง แมลง ชนิดใดได้บ้าง ได้นานกี่ชั่วโมง และในระยะห่างกี่เมตร ในการฉีดยาไล่ยุงแมลง

ห้ามใช้บริเวณที่มีแผล หรือผิวหนังอ่อน เช่น ตา หนังตา ริมฝีปาก และบริเวณใบหู ห้ามฉีดโดยตรงบนใบหน้า ให้สเปรย์ที่ฝ่ามือก่อนแล้วนำมาลูบใบหน้า ห้ามเด็กใช้ยาไล่ยุงเอง ให้พ่นใส่ฝ่ามือผู้ใหญ่ แล้วลูบไปบนผิวหนังเด็ก เมื่อกลับมาถึงที่ไม่มียุง แมลง แล้วให้ล้างออกด้วยน้ำสบู่ รวมทั้งเสื้อผ้า หากซักล้างได้จะปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม ถ้าทำไม่ได้อาจปล่อยทิ้งไว้ โดยที่ถ้ามีอาการคันหรือผื่นขึ้นค่อยล้างออก ในกรณีของยาไล่ยุงที่ทำจากผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ อาจไม่ต้องเข้มงวดกับการล้างทิ้ง และการระวังเมื่อพ่นที่ผิวหนังอ่อนมากนัก แต่กระนั้นให้ระวังถ้าจะใช้ในเด็กอายุน้อยกว่าสามขวบ สตรีมีครรภ์หรือให้นมบุตร

โดยรวมเมื่อเกิดอาการผิดปกติในผู้ประสบภัยพิบัติจากน้ำวิปริต อาจต้องพิจารณาเป็นราย ๆ ไป เพื่อหาสาเหตุ โดยเฉพาะที่มาด้วยไข้ ซึ่งอาจเป็นอาการเริ่มต้นของโรคฉี่สัตว์ ไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น อาการปวดศีรษะ ซึม ไม่ค่อยรู้ตัว พฤติกรรมสับสน หรือมีอาการชัก บ่งบอกถึงโรคสมองหรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ทั้งที่มาจากแบคทีเรีย ไวรัส จากยุงและแมลง อาการตาแดง

ซึ่งอาจแสดงถึงโรคฉี่สัตว์ ไข้เลือดออก โรคตาแดงจากไวรัส มือเท้าปาก ซึ่งลุกลามเข้าไขสันหลังและสมองได้ และอาการท้องร่วง ลักษณะอาการเหล่านี้ เมื่อตรวจพบ จำเป็นต้องรีบทำการรักษา ควบคุมการแพร่ระบาดอย่างทันท่วงที