งดงามตามแบบไทย…เปิดตัว ‘คัลเลอร์ ไอดี เลเบลลิ่ง’ แอปพลิเคชั่นสำหรับคนรักผ้าไทย

งดงามตามแบบฉบับไทย สำหรับนิทรรศการผ้าไทยทอมือย้อมสีธรรมชาติอันแสนวิจิตรบรรจง ที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นในงานเปิดตัว ‘คัลเลอร์ ไอดี เลเบลลิ่ง’ (Color ID Labeling) แอปพลิเคชั่นที่รวบรวมผ้าไทยจากหลากหลายท้องถิ่น มาให้เลือกชมได้เพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัส

ยกระดับผ้าไทยให้ก้าวไกลไปอีกขั้น เมื่อ อุมาพร สุขม่วง อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ จัดทำ โครงการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติ ด้วยการเปิดตัว ‘คัลเลอร์ ไอดี เลเบลลิ่ง’ (Color ID Labeling) แอปพลิเคชั่นสำหรับคนรักผ้าไทยที่เปรียบเสมือนแคตตาล็อกรวบรวมความงดงามของผ้าไทยทอมือย้อมสีธรรมชาติอันปราณีตบรรจงมาให้คนไทยได้สัมผัสความงดงามของผ้าไทยกันได้ง่ายขึ้น โดยในงานยังได้มีการจัดนิทรรศการผ้าไทยที่คัดสรรฝีมือจากเหล่าช่างชั้นครู พร้อมชมเสื้อผ้าดีไซน์พิเศษในคอลเลกชั่น ‘กลีบใบ เฮือไฟ (เรือไฟ) สายน้ำ’ (Blue voyage and Passage of Petals) ที่นำความงดงามทางธรรมชาติมาผสมผสานกับอัตลักษณ์ของผ้าไทยได้อย่างงดงาม ในค่ำคืนที่ผ่านมา ที่ร้าน QUAINT ซอยสุขุมวิท 61

‘คัลเลอร์ ไอดี เลเบลลิ่ง’ (Color ID Labeling) แอปพลิเคชั่นที่รวบรวมความงดงามของผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติของคนไทยจากแหล่งที่ดีที่สุดจำนวน 20 แห่ง จาก 6 จังหวัด ได้แก่ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ โดยมีจุดเด่นอยู่ที่เทคนิคการวิเคราะห์ค่าสีที่ทางกรมวิทยาศาสตร์บริการได้นำมาใช้จำแนกเอกลักษณ์ของกลุ่มทอผ้า จากเฉดสีของผ้าที่มีความแตกต่างกันตามวัตถุดิบทางธรรมชาติที่ช่างแต่ละกลุ่มได้เลือกใช้ในการย้อม ประกอบกับเทคโนโลยี QR Code และ AR Code ที่สามารถแสดงถึงกระบวนการผลิตทั้งในรูปแบบของภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว เผื่อให้เหล่าคนรักผ้าไทยได้สัมผัสถึงวิถีชีวิตการทอผ้าไทยได้อย่างแท้จริง อีกทั้งยังตอบโจทย์การทำงานของเหล่านักดีไซน์ยุคใหม่ที่ต้องการแหล่งผลิตผ้าไทยย้อมสีธรรมชาติคุณภาพดี

อุมาพร สุขม่วง กล่าวถึงจุดเด่นของแอปพลิเคชั่นและแนวคิดหลักในการจัดงานครั้งนี้ว่า ‘เราต้องการยกระดับผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มคนที่ชื่นชอบผ้าไทยมากขึ้น รวมถึงกลุ่มดีไซน์เนอร์ที่ต้องการใช้ผ้าไทยในการออกแบบเสื้อผ้า ก็เลยเป็นที่มาของโครงการนี้ที่ได้รวบรวมแหล่งผลิตผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติที่ดีที่สุดเอาไว้ด้วยกันบนแอพพลิเคชั่นคัลเลอร์ ไอดี เลเบลลิ่ง ซึ่งแหล่งผลิตผ้าแต่ละแห่งจะมีจุดเด่นการทอผ้าและย้อมสีที่แตกต่างกัน เราจึงได้ใช้เทคนิคทางวิทยาศาสตร์ในการวิเคราะห์ค่าสีเพื่อกำหนดเฉดสีออกมาในรูปแบบรหัสตัวเลขที่เป็นสากล ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการอ่านค่าสีให้กับผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติ เพื่อให้ผู้ใช้แอพฯ สามารถเลือกเฉดสีผ้าที่ต้องการได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น และยังสามารถสั่งผลิตกับทีมช่างได้โดยตรงจากข้อมูลแหล่งผลิตภายในแอพฯ โดยเราหวังว่าแอพพลิเคชั่นนี้จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับคนที่ชื่นชอบผ้าไทย และสามารถเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการผ้าทอในประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลได้’

โดยแหล่งผลิตผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติที่ถูกนำมาจัดเป็นนิทรรศการภายในงานนั้นมีทั้งหมดจาก 6 จังหวัดด้วยกัน ประกอบไปด้วยจังหวัดสกลนคร โดยมี กลุ่มทอผ้าภูไทรุณณี, กลุ่มทอผ้าบ้านเหล่าใหญ่, กลุ่มแม่บ้านวิสาหกิจชุมชนหมู่ 8, กลุ่มวิสาหกิจชุมชนย้อมครามบ้านเชิงดอย, กลุ่มสตรีทอผ้าชุมชนที่ 2 แม่ทองสิริ, กลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านหนองครอง, กลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านนาขาม, กลุ่มทอผ้าสีธรรมชาติบ้านพันนา และกลุ่มทอผ้ากี่กระตุกบ้านนางัว ถัดมาที่จังหวัดนครพนม ประกอบไปด้วย ศูนย์เรียนรู้หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงบ้านนาคอย และกลุ่มสตรีทอผ้าฝ้ายบ้านโคกสะอาด ต่อมาที่จังหวัดมุกดาหาร ประกอบไปด้วย กลุ่มแม่เวียงบ้านคำอาฮวน, กลุ่มทอผ้าทอมือบ้านคุณย่า และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าไหมบ้านภู จังหวัดต่อมาสุรินทร์ ประกอบไปด้วย กลุ่มมัดหมี่โฮลโบราณย้อมสีธรรมชาติ, กลุ่มทอผ้าไหมสีธรรมชาติบ้านดู่ และกลุ่มสตรีทอผ้าไหมบ้านระงอล ต่อมากับจังหวัดชัยภูมิ ที่ประกอบไปด้วย วิสาหกิจชุมชนทอผ้าย้อมสีธรรมชาติหนองบัวแดง และกลุ่มเลี้ยงไหมตำบลบ้านเขว้า ปิดท้ายที่ศูนย์หัตถกรรมพื้นบ้านอำเภอนาโพธิ์ จากจังหวัดบุรีรัมย์

และอีกหนึ่งไฮไลท์ภายในงานนั่นก็คือแฟชั่นโชว์เสื้อผ้าที่ออกแบบขึ้นโดยดีไซน์เนอร์ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านการใช้ผ้าไทย ณัฏฐิญาณ์ สุขสถาน ครีเอทีฟไดเร็คเตอร์แห่งแบรนด์ ‘นาดีน เจดีน’ (Nadyn Jadyn) ในเสื้อผ้าคอลเลกชั่นที่ชื่อว่า ‘กลีบใบ เฮือไฟ (เรือไฟ) สายน้ำ’ (Blue voyage and Passage of Petals) ที่ได้รับแรงบันดาลใจหลักมาจากความงดงามของสายน้ำที่เชื่อมต่อระหว่างธรรมชาติกับมนุษย์ ซึ่งเปรียบเสมือนวัฒนธรรมจากรุ่นสู่รุ่นที่ทุกคนต่างช่วยกันอนุรักษ์ความงดงามของสายน้ำเอาไว้ ประกอบกับประเพณีเรือไฟอันมีชื่อเสียงในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงกลีบของดอกไม้ ใบไม้ และแก่นไม้นานาพรรณ ที่เป็นวัตถุดิบธรรมชาติในการย้อมสีผ้า ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้ถูกนำมาร้อยเรียงให้เกิดเป็นเสื้อผ้าดีไซน์พิเศษที่นำเสนอถึงอัตลักษณ์ความงดงามของผ้าไทยได้อย่างวิจิตรบรรจง โดยใช้ไอเดียการออกแบบชุดที่ผสมผสานรูปทรงเรขาคณิตและการจับจีบซ้อนของเนื้อผ้า ที่แสดงถึงความสวยงามของกลีบดอกไม้และการไหลของสายน้ำ พร้อมเพิ่มเท็กซ์เจอร์ให้กับชุดด้วยการใช้ผ้าลินินซึ่งเป็นเส้นใยธรรมชาติมาช่วยเสริมคาแรคเตอร์ให้เสื้อผ้าสามารถสวมใส่ได้ในชีวิตประจำวัน รวมถึงการใช้ผ้าพลิ้วอย่างผ้าสไบที่เป็นเหมือนเอกลักษณ์ของชุดไทยเข้ามาช่วยเสริมความโดดเด่นของคอลเลกชั่นนี้