โย่ง เชิญยิ้ม-ครูโจ้ The Star ได้รับยกย่องเป็น ศิลปินแห่งชาติ ปี 2566

โย่ง เชิญยิ้ม ครูโจ้ ศิลปินแห่งชาติ 2566
ภาพจาก Facebook โย่ง สเตชั่น และ The Golden Song เวทีเพลงเพราะ

เปิดรายชื่อ 12 บุคคล ศิลปินแห่งชาติ ปี 2566 “โย่ง เชิญยิ้ม-ครูโจ้ อดีตกรรมการ The Star” 2 คนบันเทิง ได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง

วันที่ 28 สิงหาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม รองประธานกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ แถลงผลการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2566 ภายหลังการประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.) โดยมีบุคคลที่ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติจำนวน 12 ราย

หนึ่งในนั้นคือ นายพิเชษฐ์ เอี่ยมชาวนา หรือ โย่ง เชิญยิ้ม ศิลปินตลกระดับตำนาน ได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (การแสดงพื้นบ้าน-เพลงฉ่อย) ปี 2566

นายพิเชษฐ์ เอี่ยมชาวนา หรือ โย่ง เชิญยิ้ม เกิดเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2501 ที่อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก ปัจจุบันอายุ 66 ปี สำเร็จการศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 จากโรงเรียนวังทอง จังหวัด
พิษณุโลก พ.ศ. 2551 ได้รับปริญญาปรัชญาศิลปกรรมศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชานาฎกรรมไทย จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และ พ.ศ. 2565 ได้รับปริญญาครุศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาชาวิชาภาษาไทย จากมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม

อีกหนึ่งคนในวงการบันเทิงที่ได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติคือ นายสุธีศักดิ์ ภักดีเทวา หรือ ครูโจ้ หนึ่งในกรรมการของรายการ The Golden Song เวทีเพลงเพราะ และอดีตกรรมการรายการ The Star ค้นฟ้าคว้าดาว ได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์สากล) ปี 2566

นายสุธีศักดิ์ ภักดีเทวา เกิดเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2502 ที่กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันอายุ 65 ปี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร เมื่อ พ.ศ. 2524 ระดับปริญญาโท จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ เอกวิชา Ethnomusicology มหาวิทยาลัยศรีนครินครินทรวิโรฒ เมื่อ พ.ศ. 2542 และระดับปริญญาเอก จากคณะศิลปนาฏดุริยางค์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ เมื่อ พ.ศ. 2566 โดยเมื่อครั้งยังเด็กได้ศึกษาด้านนาฏศิลป์สากลที่โรงเรียนนาฏศิลป์สากลวราพร-กาญจนา กระทั่งสอบได้ประกาศนียบัตรจาก The Royal Academy of Dance กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในปี พ.ศ. 2523

Advertisment

สำหรับรายชื่อบุคคลที่ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติจำนวน 12 ราย ดังนี้

สาขาทัศนศิลป์

Advertisment
  • ศาสตราจารย์เกียรติคุณกัญญา เจริญศุภกุล (สื่อผสม)
  • นางวิภาวดี พัฒนพงศ์พิบูล (สถาปัตยกรรมภายใน)
  • ร้อยตรี ทวี บูรณเขตต์ (ประณีตศิลป์-ช่างปั้น หล่อ)
  • นายสุดสาคร ชายเสม

สาขาวรรณศิลป์

  • นายประสาทพร ภูสุศิลป์ธร หรือ คมทวน คันธนู
  • นายวศิน อินทสระ

สาขาศิลปะการแสดง

  • นายสมบัติ แก้วสุจริต (นาฏศิลป์ไทย-โขน ละคร)
  • นายไชยยะ ทางมีศรี (ดนตรีไทย)
  • นายพิเชษฐ์ เอี่ยมชาวนา หรือ โย่ง เชิญยิ้ม (การแสดงพื้นบ้าน-เพลงฉ่อย)
  • จ่าโทหญิง ปรียนันท์ สุนทรจามร (นักร้องเพลงไทยสากล-ลูกทุ่ง)
  • นายสุธีศักดิ์ ภักดีเทวา หรือ ครูโจ้ (นาฏศิลป์สากล)
  • รองศาสตราจารย์บรรจง โกศัลวัฒน์ (ภาพยนตร์)

นางสาวสุดาวรรณกล่าวต่อว่า ผู้ที่ได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติจะได้รับสวัสดิการ ประกอบด้วย ค่าตอบแทนรายเดือน เดือนละ 25,000 บาท (สองหมื่นห้าพันบาทถ้วน) ตลอดระยะเวลาที่มีชีวิตอยู่ ค่ารักษาพยาบาลตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลโดยอนุโลม เว้นแต่มีสิทธิเบิกจากหน่วยงานอื่น ให้เบิกจากหน่วยงานนั้นก่อน

ถ้าเบิกจากหน่วยงานนั้นได้ต่ำกว่าสิทธิตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ให้มีสิทธิเบิกในส่วนที่ยังขาดอยู่ได้อีกภายในวงเงินไม่เกิน 100,000 บาท ต่อปีงบประมาณ

เงินช่วยเหลือเมื่อประสบสาธารณภัยเท่าที่เสียหายจริง รายละไม่เกิน 50,000 บาท ต่อครั้ง ค่าของเยี่ยมในยามเจ็บป่วย หรือในโอกาสสำคัญเท่าที่จ่ายจริง รายละไม่เกิน 3,000 บาทต่อครั้ง และในกรณีเสียชีวิตจะได้รับเงินช่วยเหลือบำเพ็ญกุศลศพ รายละ 20,000 บาท เงินช่วยเหลือค่าจัดทำหนังสือเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิตเท่าที่จ่ายจริง รายละไม่เกิน 150,000 บาท เป็นต้น

ทั้งนี้ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จะทำหนังสือกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสนำศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2566 ทั้ง 12 คน เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานโล่และเข็มเชิดชูเกียรติ ในวัน เวลา ตามแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ และจัดงานนิทรรศการเพื่อเผยแพร่ประวัติผลงานของศิลปินแห่งชาติ ให้ประจักษ์ต่อสาธารณะต่อไป

นับตั้งแต่เริ่มโครงการศิลปินแห่งชาติเมื่อปี พ.ศ. 2527 มีศิลปินแห่งชาติได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติตั้งแต่ พ.ศ. 2528-2565 แล้วจำนวน 355 คน และในปี พ.ศ. 2565 จำนวน 12 คน รวมทั้งสิ้น 367 คน ซึ่งมีศิลปินแห่งชาติเสียชีวิตไปแล้ว 183 คน และยังมีชีวิตอยู่รวม 184 คน