“เบาหวาน” ภัยเงียบในตัวที่หลายคนไม่รู้

“เบาหวาน” โรคยอดฮิตของคนไทยที่มีอัตราการเกิดสูงขึ้นทุกปี ซึ่งเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ของการเสียชีวิตของคนไทย ซึ่งมีสาเหตุมาจากภาวะอาการเรื้อรังของการมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ ที่เกิดการความบกพร่องของการสร้างอินซูลิน หรือการทำงานของอินซูลิน

ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวามมักจะเกิดโรคแทรกซ้อนที่ร้ายแรงหลายโรคตามมา ที่อาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันผู้คนจะตระหนักถึงปัญหาในเรื่องนี้กันแล้วก็ตาม แต่ผลจากสถิติที่ออกมามันกลับสวนทางกันอย่างสิ้นเชิง

จากการสำรวจในประเทศไทยพบว่าในปี 2557 คนไทยที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป เป็นเบาหวานร้อยละ 8.9 หรือประมาณ 4.8 ล้านคน ส่วนในปี 2558 พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากโรคเบาหวานกว่า 5 ล้านคน และในปัจจุบันยังพบว่ากลุ่มคนที่มีอายุน้อยมีอัตราเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวานมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนวัยทำงานที่มีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 45-60 ปี มีอัตราเสี่ยงเป็นเบาหวานอยู่ร้อยละ 12 หรือประมาณ 1.7 ล้านคน ซึ่งจำนวนคนกว่า 40% ไม่รู้ว่าตนเองเป็นเบาหวาน

นอกจากนี้ยังมีจำนวนคนไทยที่มีน้ำตาลในเลือดสูงที่เสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานในอนาคต อีกกว่า 7.7 ล้านคน ซึ่งในแต่ละปีพบว่ามีคนไทยที่เป็นเบาหวานเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าปีละ 1 แสนคน จากสถิติทั่วโลกพบว่ามีผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคเบาหวานทุก 6 วินาที ซึ่งในปี 2583 ได้มีการคาดการว่าจะมีประชาชนที่ป่วยด้วยโรคเบาหวานทั่วโลกเพิ่มอีก 227 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 10.4 ของประชากรทั้งหมด จะเพิ่มสูงขึ้นจากปี 2558 กว่าร้อยละ 50 ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายด้านระบบสุขภาพเพิ่มประมาณ 129,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นายแพทย์เพชร รอดอารีย์ เลขาธิการสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โรคเบาหวานในปัจจุบันมักจะพบกับกลุ่มคนที่มีอายุน้อยมากขึ้น ซึ่งมีผู้ป่วยกว่า 40% ไม่รู้ตัวว่าตนเองเป็นโรคเบาหวานกว่า 7.7 ล้านคน ซึ่งแต่ละปีมีผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เพิ่มมากขึ้น จากรายงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) ในปี 2561 เปิดเผยว่าผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่เข้ารับการรักษาในระบบโรงพยาบาลของรัฐบาล พบว่ายังมีสัดส่วนของผู้ป่วยที่ยังไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดสะสมได้ตามเป้าหมายสูงอยู่

การสังเกตตนเองในเบื้องต้นนั้น สามารถสังเกตได้จาก “ปัสสาวะ” เมื่อในร่างกายมีน้ำตาลเกินมาตรฐานที่ 180-200 ขึ้นไป จะมีภาวะที่น้ำตาลพ้นออกมาจากปัสสาวะ มีอาการปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะถ้าคนอ้วนอยู่ดี ๆ ก็ผอมแบบที่ไม่ได้ตั้งใจลดน้ำหนักด้วยแล้ว นั้นหมายความว่ามีน้ำตาลเกินมาฐานแน่นอน ซึ่งถ้าผู้ป่วยอยู่ในภาวะที่มีอัตราน้ำตาลขึ้นสูงอย่างนี้เป็นเวลานาน อาจจะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนขึ้นได้ เช่น สายตาอาจจะมัวหรือบอดได้ หรืออาจจะก่อให้เกิดโรคหัวใจ และพัฒนาเป็นโรคหัวใจตีบได้

นายแพทย์เพชร รอดอารีย์

ซึ่งคนที่เป็นทั้งโรคเบาหวานและโรคหัวใจ จะมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าคนที่เป็นเพียงแค่โรคเดียว ซึ่งจากสถิติพบว่าคนไทยที่เป็นโรคเบาหวานเสียชีวิตจากการเป็นโรคแทรกซ้อนหรือโรคหัวใจประมาณ 28% ซึ่งนี่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไข้เบาหวาน

วิธีการป้องกันไม่ให้ตนเองเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวาน คือ “การตรวจคัดกรอง” เป็นการตรวจในระยะที่ยังไม่เกิดอาการของโรค ซึ่งควรตรวจอย่างน้อยปีละครั้ง เช่น การตรวจตา หรือเท้าว่ายังมีการตอบสนองที่ปกติดีอยู่หรือไม่ นอกจากนี้การออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ หรือการลดน้ำหนักลง 7% จากน้ำหนักตัวตั้งต้น ก็สามารถช่วยป้องกันโรคเบาหวานได้ถึง 60% ต่อให้ตรวจพบว่ามีน้ำตาลสูงในเลือดที่มีโอกาสเป็นเบาหวานแล้วก็ตาม

ส่วนวิธีการรักษาเมื่อพบว่าตนเองเป็นเบาหวานในระยะแรก คือ การควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ลดรับประทานอาหารที่หวาน มัน เค็มลง เป็นต้น วิธีนี้จะช่วยทำให้ร่างกายของคนไข้เป็นเหมือนปกติ และวิธีนี้ยังช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนไปมากด้วย ซึ่งในการปรับตัวก็มีระยะเวลากำหนดอยู่ ซึ่งจะต้องเห็นผลภายใน 3 เดือน ว่าน้ำตาลในเลือดลดลง สุขภาพเริ่มดีขึ้น แต่ในบางกรณีอาจจะมีการให้ยาควบคู่กันไป

นายแพทย์เพชร ได้อธิบายต่ออีกว่า โรคเบาหวานสามารถแบ่งได้ 4 ชนิด ได้แก่ เบาหวานชนิดที่ 1 เป็นชนิดที่ต้องพึ่งอินซูลิน (IDDM) ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือพันธุกรรม ซึ่งจะพบเพียงแค่ประมาณ 5-10% เท่านั้น แต่จะพบมากในเด็กที่มีอายุระหว่าง 10-14 ปี

เบาหวานชนิดที่ 2 คือชนิดที่ไม่ต้องพึ่งอินซูลิน (NIDDM) ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากอายุที่มากขึ้น ความอ้วน บุคคลในครอบครัวมีประวัติเป็นเบาหวาน ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ หรือเคยมีประวัติเคยเป็นโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดเบาหวานที่เกิดในช่วงตั้งครรภ์ ซึ่งพบมากถึง 90-95% ของจำนวนโรคเบาหวานทุกชนิด ในเด็กที่มีอายุเกิน 10 ปีขึ้นไป 20-30% มีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนได้มากกว่าผู้ใหญ่ เลยทีเดียว

เบาหวานชนิดที่ 3 เกิดจากการที่ตับถูกทำลาย ที่มีสาเหตุมาจากการอุบัติเหตุการได้รับสารพิษ หรือการดื่มเหล้า ซึ่งพบได้น้อยมาก

และเบาหวานชนิดที่ 4 เบาหวานที่เกิดในช่วงตั้งครรภ์ ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นเพียง 5-15% ของจำนวนหญิงตั้งครรภ์ทั้งหมด ซึ่งเบาหวานที่เกิดในช่วงตั้งครรภ์เรียกได้ว่าเป็น “เบาหวานชั่วคราว” เนื่องจากการที่มีฮอร์โมนผิดปกติในรกมากจนเกินไป จึงทำให้เกิดเบาหวานขึ้น โดยหลังจากที่คลอดบุตรแล้วเบาหวานชนิดนี้จะหายไป ซึ่งเบาหวานชนิดนี้ถือได้ว่าเป็นอันตรายมาก โดยเฉพาะผู้เป็นแม่ที่อาจจะทำให้เกิดครรภ์พิษได้ง่าย ส่วนอันตรายที่เกิดกับเด็ก คือ เด็กจะตัวใหญ่กว่าปกติทำให้คลอดยาก หรืออาจจะเกิดความพิการของหัวใจตั้งแต่กำเนิดได้ ซึ่งพบมากในภาคอีสาน

ทางด้านศาสตราจารย์ นายแพทย์จิลส์ มองเตเลสโกต์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจ แห่งโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยฝรั่งเศส (France University Hospital) ได้กล่าวว่า โรคเบาหวานเป็นโรคที่ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด เชื่อว่ามาจากหลายปัจจัยร่วมกันไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของภาวะความอ้วนหรือน้ำหนักเกิน หรือการออกกำลังกาย รวมถึงการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกต้อง

“ซึ่งเราควรให้ความรู้แก่ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน ให้พวกเขาได้รับความรู้ที่ถูกต้องในการดูแลตนเอง ซึ่งในปัจจุบันผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ส่วนมากจะเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนหลอดเลือดหัวใจ โดยเฉพาะโรคหัวใจล้มเหลว (HF) ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่เกิดในช่วงต้นและมักไม่สามารถตรวจพบในผู้ป่วยโรคเบาหวาน แม้ว่าจะมีการควบคุมปัจจัยเสี่ยงแล้วก็ตาม”


ความจัดจ้านของอาหารไทยที่คุ้นลิ้น อาจเป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้คนไทยจำนวนมากละเลยผลข้างเคียงด้านสุขภาพไป สุดท้ายแล้ว การลดรับประทานอาหารที่มีรสชาติหวาน หรือเค็มจัด อาจจะเป็นอีกหนึ่งวิธีที่สามารถช่วยลดอัตราเสี่ยงที่จะเกิดโรคเบาหวานได้