วันไตโลก 14 มีนาคม: รู้จักหน้าที่ “ไต” อวัยวะสำคัญในระบบปัสสาวะ

รู้จักหน้าที่ “ไต” อวัยวะสำคัญในระบบปัสสาวะ เนื่องในวัน “วันไตโลก” (World Kidney Day) 

เนื่องในวันไตโลก (World Kidney Day) ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นทุกวันพฤหัสบดีที่ 2 ของเดือน มีนาคมทุกปี ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 14 มีนาคม ซึ่งเป็นวันที่ International Federation of Kidney Foundation และ International Society of Nephrology ได้กำหนดให้เป็น “วันไตโลก” (World Kidney Day) มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักแก่ประชาชนทั่วไป ได้ทราบถึงอันตรายจากโรคไต วันไตโลกมีขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 มีนาคม 2549

ประชาชาติธุรกิจ รวมข้อมูลที่ควรรู้จักหน้าที่ “ไต” อวัยวะสำคัญในระบบปัสสาวะ เนื่องในวัน “วันไตโลก”

รู้จักหน้าที่ “ไต”

“ไต” มีลักษณะเป็นอวัยวะรูปถั่ว เป็นอวัยวะภายใน สำหรับกลั่นปัสสาวะ สิ่งที่เป็นก้อนแข็งอยู่ในเนื้อ มีหน้าที่ควบคุมสำคัญหลายอย่างในสัตว์มีกระดูกสันหลัง ไตนำโมเลกุลอินทรีย์ส่วนเกิน (เช่น กลูโคส) ออก และด้วยฤทธิ์นี้เองที่เป็นการทำหน้าที่ที่ทราบกันดีที่สุดของไต คือ การขับของเสียจากเมแทบอลิซึม (เช่น ยูเรีย แม้ 90% ของปริมาณที่กรองถูกดูดกลับที่หน่วยไต) ออกจากร่างกาย

ไตเป็นอวัยวะสำคัญในระบบปัสสาวะและยังมีหน้าที่ธำรงดุล เช่น การกำกับอิเล็กโทรไลต์ การรักษาสมดุลกรด-เบส และการกำกับความดันเลือด (ผ่านการรักษาสมดุลเกลือและน้ำ) ไตทำหน้าที่เป็นตัวกรองเลือดตามธรรมชาติ และนำของเสียที่ละลายได้ในน้ำออก ซึ่งจะถูกส่งไปยังกระเพาะปัสสาวะ ในการผลิตปัสสาวะ ไตขับของเสีย เช่น ยูเรียและแอมโมเนีย และยังทำหน้าที่ดูดน้ำ กลูโคสและกรดอะมิโนกลับ ไตยังผลิตฮอร์โมน เช่น แคลซิไตรออล อีริโธรพอยอิติน และเอนไซม์เรนิน ซึ่งเรนินออกฤทธิ์ต่อไตโดยอ้อมในการยับยั้งป้อนกลับ (negative feedback)

สำหรับ “ไต” อยู่หลังช่องท้องในหลังเยื่อบุช่องท้อง (retroperitoneum) ไตรับเลือดจากคู่หลอดเลือดแดงไต และเทเข้าสู่คู่หลอดเลือดดำไต ไตแต่ละข้างขับปัสสาวะสู่ท่อไข อันเป็นโครงสร้างคู่และเทเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะ สรีรวิทยาไตเป็นการศึกษาการทำหน้าที่ของไต

ความสำคัญของไต

ข้อมูลจากเว็บไซต์ โรงพยาบาลพระรามเก้า โดย นพ.วิรุฬห์ มาวิจักขณ์ สถาบันโรคไตและเปลี่ยนไต ระบุถึงหน้าสำคัญของไตไว้ว่า ไตมีหน้าที่สำคัญ คือ การขับของเสียต่าง ๆ ที่อยู่ในร่างกายออกทางปัสสาวะ ทำให้เลือดและร่างกายคนเราสะอาด ของเสียที่ไตต้องขับออกส่วนหนึ่งมาจากการเผาผลาญอาหารในร่างกาย และอีกส่วนหนึ่งมาจากการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย ถ้าคนเราไม่มีไต หรือไตวายหยุดทำงาน ของเสียเหล่านี้จะคั่งค้างอยู่ในกระแสเลือดและในร่างกาย ทำให้เลือดและร่างกายสกปรก ในที่สุดอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายก็จะเป็นพิษ หยุดทำงานและเสียชีวิต

หน้าที่ของไต

  • ขับของเสียออกจากร่างกาย
  • ควบคุมความดันโลหิต (คนไข้ไตไม่ดีจะมีความดันโลหิตสูง)
  • ผลิตฮอร์โมน Erythropoietin ที่กระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง (คนไข้โรคไตวายจะมีเลือดจาง เลือดน้อย )
  • ควมคุมปริมาณน้ำและระดับเกลือแร่ในร่างกาย (คนไข้โรคไตจะมีอาการบวม, เกลือแร่ผิดปกติ, ถ้าเกลือ
    โปแตสเซียมผิดปรกติจะทำให้หัวใจเต้นผิดปรกติ , เป็นอันตรายต่อชีวิตได้)
  • ควบคุมความเป็นกรดด่างในร่างกาย (คนไข้โรคไตวายจะมีสภาพความเป็นกรดสูงมาก ทำให้อวัยะวะต่างๆ ในร่างกายทำงานผิดปรกติและเสียชีวิตได้)
  • ควบคุมการสร้างวิตามินดี แคลเซียมและฟอสฟอรัส (คนไข้โรคไตวาย ขาดวิตามินดีทำให้แคลเซียมต่ำ , กระดูกเปราะบางพรุน)

สาเหตุของโรคไต

นอกจากนี้ สาเหตุของโรคไตที่พบบ่อย ๆ คือ

  • ไตวายจากโรคเบาหวาน
  • ไตวายจากโรคความดันโลหิตสูงและไขมันในเลือดสูง
  • ไตวายจากโรคเก๊าท์และนิ่วในไต
  • ไตวายจากโรคเนื้อเยื่อไตอักเสบ (Glomerulonephritis), โรค SLE,
  • โรคไตวายเรื้อรังจากโรคบางโรค สามารถป้องกันได้แต่เนิ่นๆ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคเก๊าท์ โรคนิ่วในไต ถ้าผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาควบคุมให้ดีก็จะลดโอกาสการเป็นโรคไตวายเรื้อรังได้

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ไตวายถาวรแล้วไม่ว่าด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม ปัจจุบันนี้วงการแพทย์เราก็มีวิธีรักษาผู้ป่วยไตวายให้มีชีวิตที่ยืนยาวและมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้