สัมผัสวิถีไทยย้อนยุค ในงาน “อุ่นไอรัก คลายความหนาว สายน้ำแห่งรัตนโกสินทร์”  

เมื่อต้นปี 2561 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร พระราชทานพระราชานุญาตให้จัดงานฤดูหนาวแบบย้อนยุคเพื่อสะท้อนความงดงามของประเพณี วัฒนธรรม และศิลปะแบบไทย ๆ ชื่องาน “อุ่นไอรัก คลายความหนาว” ซึ่งจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2561

มาถึงฤดูหนาวช่วงปลายปีนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้จัดงานอีกครั้งที่ 2 ภายใต้ชื่องาน “อุ่นไอรัก คลายความหนาว สายน้ำแห่งรัตนโกสินทร์” ระหว่างวันที่ 9 ธันวาคม 2561 ถึงวันที่ 19 มกราคม 2562 ณ พระลานพระราชวังดุสิต และสนามเสือป่า

ทันทีที่เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมงาน คนส่วนมากที่เข้าชมงานต่างสวมใส่ชุดไทยเข้าไปเดินเฉิดฉายถ่ายรูปสวย ๆ ในงาน ให้ความรู้สึกเหมือนหลุดเข้าไปในยุคสมัยอดีตจริง ๆ

พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์

พื้นที่พระลานพระราชวังดุสิตได้ถูกเนรมิตให้เป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการบอกเล่าถึงประวัติศาสตร์ที่สำคัญและสายน้ำแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีการสร้างแบบจำลองพระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ พระที่นั่งกลางน้ำในพระราชวังบางปะอิน เรือพระที่นั่ง 4 ลำ และรูปแบบอาคารบ้านเรือนไล่เรียงจากช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์จนถึงปัจจุบัน

บ้านเรือนสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์

ในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการทั้งหมด 6 นิทรรศการ โดย 5 นิทรรศการอยู่บริเวณพระลานพระราชวัง ได้แก่ นิทรรศการพระมหากรุณาธิคุณแห่งสายน้ำ, นิทรรศการรัชกาลที่ 1-4, นิทรรศการรัชกาลที่ 5-9, นิทรรศการน้ำกับชีวิต, นิทรรศการบ้านประหยัดพลังงาน ส่วนอีก 1 นิทรรศการอยู่ในบริเวณสนามเสือป่า เป็นนิทรรศการสืบสานสายน้ำ สืบสานงานพระราชดำริ

ไฮไลต์ของงานถูกจัดไว้ตรงกลางพระลานพระราชวังดุสิต เริ่มจากป้ายงานที่ใครไปถึงงานแล้วก็อยากถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึก ถัดเข้าไปเป็นแบบจำลองพระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ ส่วนบริเวณพระบรมราชานุสรณ์ ร.5 หรือพระบรมรูปทรงม้า ยังเป็นจุดสำคัญที่ผู้คนไปวางดอกไม้สักการะพระองค์ท่านเช่นเคย เหมือนเวลาที่ไม่มีการจัดงาน

บรรยากาศภายในงาน

หลังพระบรมราชานุสรณ์เป็นโซนจัดแสดงเรือพระที่นั่งจำลอง 4 ลำ ได้แก่ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ และเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ ซึ่งโซนจัดแสดงเรือพระที่นั่งนี้มีสาธิตการเห่เรือทุกวัน วันละ 2 รอบ เวลา 18.00 น. และ 19.30 น.

สาธิตการเห่เรือ

อีกจุดหนึ่งที่ได้รับความสนใจมีคนต่อคิวรอถ่ายรูปกันจำนวนมาก คือ ภูเขาการบริหารน้ำตามแนวพระราชดำริ รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ที่รวบรวมพระราชกรณียกิจในด้านการบริหารจัดการน้ำเอาไว้อย่างครบถ้วน เช่น กังหันน้ำชัยพัฒนา อ่างเก็บน้ำ เขื่อนภูมิพล เกษตรทฤษฎีใหม่ โครงการแก้มลิง โครงการฝนหลวง ซึ่งใช้เฮลิคอปเตอร์บนยอดภูเขาเป็นสัญลักษณ์ และอื่น ๆ อีกมากมาย

ภูเขาการบริหารน้ำตามแนวพระราชดำริ

เข้าไปภายในสนามเสือป่าเหมือนเป็นเมืองแห่งความสนุกแบบย้อนยุค มีเวทีการแสดงหลักที่มีการแสดงมหรสพให้ชมทุกคืน

มัจฉาพาโชค

มีกิจกรรมสลากชิงโชค “มัจฉาพาโชค” และสลากการกุศลอุ่นไอรักให้ร่วมลุ้นรางวัลมากมาย ในส่วนนี้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานจักรยานและหมวกปั่นจักรยาน 52 คัน สำหรับเป็นรางวัลพิเศษ “มัจฉาพาโชค” วันละ 1 คัน ทุกวันตลอดการจัดงาน 42 วัน และอีก 10 คันเป็นรางวัลพิเศษสำหรับสลากอุ่นไอรัก

จักรยานพระราชทาน
บรรยากาศตลาด

 

สำหรับคนชอบช็อปก็มีร้านค้าจิตอาสา 904 ร้านค้าในพระบรมวงศานุวงศ์ และร้านค้ารับเชิญกว่า 36 ร้าน ฝั่งอาหารของกินต่าง ๆ ก็มีให้เลือกแบบจุใจใน 3 ตลาด ทั้งตลาดเดินชิมริมทาง ตลาดบกวิถี 4 ภาค และตลาดน้ำในฝัน

โรงพักริมคลอง

อีกหนึ่งจุดที่ได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้เข้าร่วมงาน คือ โรงพักริมคลอง ที่จำลองอาคารโรงพักย้อนยุค ให้ผู้เข้าร่วมงานขึ้นไปร่วมสนุกได้โดยจะได้ใบลงบันทึกแจ้งความที่ออกให้เฉพาะเป็นชื่อของตัวเอง รวมถึงถ่ายรูปสวย ๆ กับเจ้าหน้าที่สวมใส่เครื่องแบบย้อนยุคด้วย

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์

 

งาน “อุ่นไอรัก คลายความหนาว สายน้ำแห่งรัตนโกสินทร์” จะจัดไปจนถึงวันที่ 19 มกราคม 2562 เวลา 10.00-21.00 น. (วันศุกร์และเสาร์ถึงเวลา 22.00 น.) เปิดให้เข้าชมโดยไม่มีค่าใช้จ่ายทั้งชาวไทยและต่างชาติ ในงานมีรถเข็นและเจ้าหน้าที่ให้บริการผู้พิการด้วย

บรรยากาศภายในงาน

 

ใครที่สนใจเข้าร่วมชมงาน สามารถเข้าชมได้โดยแสดงบัตรประจำตัวประชาชน หรือหนังสือเดินทางที่จุดคัดกรอง 4 จุด ได้แก่ 1.ริมถนนศรีอยุธยาฝั่งสวนอัมพร ตรงข้ามกองบัญชาการตำรวจนครบาล 2.บนทางเท้าข้างสนามเสือป่า 3.บนทางเท้าใกล้โค้ง ปตท.ถนนอู่ทองใน 4.บนเกาะกลางหน้ากองทัพภาคที่ 1 ถนนราชดำเนินนอก

สำหรับใครที่ไม่มีชุดไทย แต่อยากถ่ายรูปออกมาสวย ๆ เหมือนคนอื่นก็ไม่ต้องกังวล เพราะในงานมีจุดให้บริการเช่าชุดไทยถึง 4 จุด มีให้เลือกมากมายหลายแบบตามสไตล์ความชอบ

ส่วนการแสดงบนเวทีใหญ่ มีให้ชมทุกวันไม่ซ้ำกัน สามารถดูรายละเอียดตารางการแสดง รวมถึงรายละเอียดงานทั้งหมดได้ที่ www.phralan.in.th