เปิดประวัติ ซีเอฟโอ หัวเว่ย คือใคร และทำไมการจับกุมถึงสะเทือนทั่วโลก!

เรียบเรียงจาก เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์

เรียกได้ว่าเป็นข่าวครึกโครมบนหน้าหนึ่งแทบทุกเว็บไซต์ข่าวออนไลน์ เมื่อซีเอฟโอบริษัทหัวเว่ยถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ทางการของแคนาดา ตามใบสั่งของสหรัฐอเมริกา กระทั่งเป็นต้นตอให้เกิดการประท้วงจากรัฐบาลจีน

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น… “ซีเอฟโอหัวเว่ย” คือใคร แล้วทำไมการจับกุมคนๆ เดียวจึงสะเทือนไปทั่วโลก?

“เม่ง หว่านโจว” หรือที่รู้จักในชื่อ “ซาบรีน่า” ในวัย 46 ปี คือ ผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน (ซีเอฟโอ) และรองประธานบริษัทหัวเว่ย บริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่ของจีน ที่กำลังอยู่ท่ามกลางสงครามการห้ำหั่นทางเทคโนโลยีและการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน

โดยเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สั่งแบนฮาร์ดแวร์ของหัวเว่ย โดยบ่งชี้ว่าเป็นเรื่องความมั่นคงปลอดภัยของชาติ ขณะที่ “หัวเว่ย” บริษัทโทรคมนาคมและอุปกรณ์รายใหญ่ที่สุดในโลกกล่าวแสดงความกังวลต่อกรณีดังกล่าวว่า “ไม่มีเหตุผล”

เรื่องจับกุมซีเอฟโอหัวเว่ยอาจจะไม่ใช่เรื่องธรรมดา เมื่อ “เม่ง” คือลูกสาวของผู้ก่อตั้งหัวเว่ย “เหริน เจิ้งเฟย” ซึ่งนอกเหนือจากจะเป็น “นักธุรกิจแนวหน้า” ของจีนแล้ว ยังเป็น “อดีตเจ้าหน้าที่กองทัพปลดแอกประชาชน” ที่ได้รับเลือกให้เป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแห่งชาติของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนครั้งที่ 12″

หรือจะกล่าวให้เข้าใจง่ายก็คือ “เม่ง” คือหนึ่งใน “ชนชั้นสูง” ของจีนนั่นเอง

ข้อมูลจากหัวเว่ยระบุว่า เหริน เจิ้งเฟย ปลดเกษียณจากแวงวงกองทัพระดับสูงในปี 1983 และก่อตั้งหัวเว่ยขึ้น เขาเกิดและเติบโตในชนบทห่างไกลในเมืองกุ้ยโจว

“การจับกุมตัวเม่ง” อยู่ในจังหวะเวลาที่สำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีน ภายหลัง “โดนัลด์ ทรัมป์” และ “สี จิ้นผิง” เพิ่งตกลงจับมือสงบศึกทางการค้าเป็นระยะเวลา 90 วันนับแต่วันที่ 1 ธ.ค. ที่ผ่านมา

ภูมิหลังและประวัติที่ถูกเก็บรักษาเป็นอย่างดีของเม่งถูกเผยแพร่บนโลกออนไลน์ทันทีภายหลังข่าวการจับกุมถูกตีในสื่อหลายสำนัก และมีการประเมินกันว่า เม่งถูกวางตัวให้เป็นผู้สืบทอดบริษัทต่อ แม้ว่า เหริน ในวัย 74 ปี จะยืนยันว่า “ไม่มีสมาชิกในครอบครัวที่ประสบความสำเร็จเทียบเท่าเขาในสายงานนี้”

เส้นทางชีวิต “เม่ง”

เมิ่งเกิดเมื่อปี 1972 จบการศึกษาระดับปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหัวจง

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา หัวเว่ยเพิ่งมอบตำแหน่ง “รองประธาน” ให้กับเม่ง โดยเป็น 1 ใน 4 ผู้บริหารระดับรองประธานที่ควบตำแหน่ง “ผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน” ด้วย

บทสัมภาษณ์ China’s 21st Century Business Herald เมื่อปี 2013 เม่งให้สัมภาษณ์ว่า เธอเริ่มต้นการทำงานแรกหลังจบการศึกษาที่ธนาคารสัญชาติจีน (China Construction Bank : CCB) เมื่อปี 1992 “ฉันเข้ามาทำงานที่หัวเว่ย 1 ปีหลังจากนั้น เพราะสาขาได้ปิดตัวลงจากการควบรวมธุรกิจ”

เม่งมีบทบาทและประสบการณ์มากมายในบริษัท แต่โดยส่วนมากจะเป็นสายการเงิน การจัดการทรัพย์สิน และการบัญชี กระทั่งมาถึงตำแหน่งล่าสุด ผู้อำนวยการสายการเงินของหัวเว่ย ซึ่งมีฐานอยู่ในฮ่องกง

“ฉันเคยเป็นเลขาธิการ ช่วยการขาย จัดนิทรรศการ และอื่นๆ อีกมากมายในขณะที่บริษัทยังเล็ก” เม่ง กล่าวต่อว่า “ปี 1997 ฉันกลับมาศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยหัวจงเพื่อต่อปริญญาโทด้านการบัญชี หลังจากนั้นจึงทำงานในสายการเงิน ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการเริ่มต้นที่แท้จริงของอาชีพของฉัน”

ปี 2003 เม่งก่อตั้งองค์กรการเงินแบบครบวงจรของหัวเว่ย โดนวางโครงสร้างที่ได้มาตรฐาน กระบวนการทางการเงิน ระบบการเงิน และแพลตฟอร์มไอที

ปี 2005 เธอก่อตั้งศูนย์บริการร่วม 5 แห่งทั่วโลก อีกทั้งเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนที่สำคัญของศูนย์การเงินระดับโลกที่เซินเจิ้น ประเทศจีน ซึ่งศูนย์ดังกล่าวช่วยเพิ่มศักยภาพทางการเงินให้กับหัวเว่ยเป็นอย่างมาก ไม่ว่าในทั้งการเปิดตลาดต่างประเทศและการพัฒนาผลิตภัณฑ์

ต่อมาปี 2007 เม่งรับหน้าที่ในโครงการบริการทางการเงินครบวงจร (IFS) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างหัวเว่ยกับไอบีเอ็มเป็นระยะเวลา 8 ปี โครงการนี้ช่วยให้หัวเว่ยพัฒนาระบบข้อมูล จัดสรรแหล่งทรัพยากร และปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานและกา่รควบคุมภายใน

โดยเร็วๆ นี้ เม่งหันมาโฟกัสที่การจัดการทางการเงินระดับสูงที่หัวเว่ย มุ่งมั่นทำงานเพื่อแผนงานระยะยาวของบริษัท

REUTERS/Tyrone Siu/File Photo

ชีวิตส่วนตัวที่โฟกัส “ลูกชาย”

ประวัติการทำงานอันยาวเหยียด เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งหญิงแกร่งที่น่าสนใจ ทว่าชีวิตส่วนตัวของเธอนั้นไม่ใช่หัวข้อที่เธอพูดถึงมากนักเมื่อให้สัมภาษณ์ เว้นเสียแต่ว่าจะพูดถึง “ลูกชาย”

“มีครั้งหนึ่งที่ลูกชายของฉันไม่อยากไปว่ายน้ำ เขาคุกเข่าลงบนพื้น ขอร้องสามีของฉันว่าไม่ไป แต่กลับถูกปฏิเสธ” เม่งกล่าวในงานหนึ่งที่โรงเรียนนานาชาติฉงชิ่ง เมื่อปี 2016 และกล่าวต่อว่า “แต่วันนี้ ลูกชายฉันภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่จะเป็นตัวแทนโรงเรียนเข้าแข่งขันว่ายน้ำ”

โดยเร็วๆ นี้ เม่งขึ้นกล่าวในงานประชุมวิชาการสิงคโปร์ ปี 2018 ในหัวข้อ อนาคตของหัวเว่ยกับบทบาทการพัฒนาเทคโนโลยีว่า

“หากปราศจากมหาวิทยาลัย โลกก็คงจะถูกทิ้งอยู่ในความมืดมิด หากปราศจากอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ก็จะถูกทิ้งไว้บนหอคอยงาช้าง การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่คือปัญญาประดิษฐ์ หัวเว่ยโชคดีที่เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งนี้” เม่งกล่าว