ทีมนักวิทยาศาสตร์เยอรมัน ค้นพบแหล่งกักเก็บน้ำตาลซูโครสปริมาณมหาศาลนับล้านตัน ใต้พื้นมหาสมุทร โดยน้ำตาลเหล่านี้คือผลผลิตจากการสังเคราะห์ด้วยแสงของหญ้าทะเล
วันที่ 6 พฤษภาคม 2565 บีบีซีไทย รายงานผลงานนักวิจัย ประจำสถาบันมักซ์พลังก์ เพื่อการศึกษาจุลชีววิทยาทางทะเล (MPIMM) ของเยอรมนี ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Ecology & Evolution ระบุว่ากระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงที่มีประสิทธิภาพดียิ่งของทุ่งหญ้าทะเลทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคที่มีแสงอาทิตย์เจิดจ้า เช่น ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทำให้คาร์บอนในบรรยากาศถูกดึงมากักเก็บไว้ใต้ทะเลในรูปของน้ำตาลซูโครสจำนวนมาก
กระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง (photosynthesis) เป็นกระบวนการสร้างอาหารของพืชสีเขียว โดยมีสารคลอโรฟิลล์ทำหน้าที่ใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ เปลี่ยนวัตถุดิบคือน้ำและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ให้กลายเป็นน้ำตาลและก๊าซออกซิเจน
กระบวนการนี้ช่วยให้หญ้าทะเลดูดซับคาร์บอนและจมมันลงก้นมหาสมุทรในปริมาณมหาศาล นับว่าเป็นผลดีต่อการชะลอภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างมาก
ตามปกติแล้วหญ้าทะเลจะปล่อยน้ำตาลที่ผลิตได้ล้นเกินออกทางราก จนซึมลงสู่ใต้พื้นมหาสมุทรทั่วโลกถึง 1.3 ล้านตัน คิดเป็นปริมาณเทียบเท่ากับน้ำตาลที่ใส่ในน้ำอัดลม 32,000 ล้านกระป๋อง ทำให้พื้นมหาสมุทรบริเวณที่มีทุ่งหญ้าทะเลขึ้นอยู่อิ่มด้วยน้ำตาล ซึ่งตรวจวัดได้ว่าเข้มข้นกว่าที่อื่นถึง 80%
นอกจากจะผลิตน้ำตาลซูโครสแล้ว หญ้าทะเลยังหลั่งสารจำพวกฟีนอล (Phenol) หรือกรดฟีนอลิกที่พบในกาแฟ ไวน์แดง และผลไม้บางชนิดออกมาด้วย โดยสารนี้จะช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ที่จะมากินน้ำตาลซูโครสเป็นอาหารได้
ทีมผู้วิจัยกล่าวว่า การเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์เป็นน้ำตาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ทุ่งหญ้าทะเลดูดซับกักเก็บคาร์บอนได้มากกว่าป่าไม้บนบกที่มีขนาดเท่ากันถึง 2 เท่า ทั้งยังดูดซับคาร์บอนได้รวดเร็วกว่า 35 เท่าอีกด้วย
“ทุ่งหญ้าทะเลมีความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมโลกมากมายเกินคาด แต่เราแทบไม่รู้อะไรเกี่ยวกับมันเลยเมื่อเทียบกับป่าไม้บนบก เราหวังว่าการค้นพบครั้งนี้จะช่วยให้โลกตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทุ่งหญ้าทะเล ซึ่งเป็นหนึ่งในระบบนิเวศที่ถูกคุกคามทำลายมากที่สุดเช่นกัน” ดร. แม็กกี โซกิน สมาชิกของทีมผู้วิจัย กล่าว