“นักท่องเที่ยว” ทะลัก! หวั่น “สนามบิน” แตกรองรับไม่ทัน

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ตั้งเป้าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสำหรับประเทศไทยในปี 2562 นี้ว่า น่าจะมีจำนวนราว 40.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่ผ่านมาอีกราว 2 ล้านคน

 

จากแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่องของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาตินี้ทำให้หลายฝ่ายเริ่มวิตกกันว่า ประเทศไทยจะบริหารจัดการนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาอย่างไร นับตั้งแต่สนามบินซึ่งเป็นด่านแรกในการรองรับนักท่องเที่ยว ไปจนถึงแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในด้านศักยภาพในการรองรับ

โดยเฉพาะในส่วนของสนามบิน เนื่องจากสนามบินหลักอย่างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมืองที่ปัจจุบันรองรับนักท่องเที่ยวแบบเกินศักยภาพในการรองรับไปเรียบร้อยแล้ว

หวั่นไทยรองรับไม่ทัน

แหล่งข่าวจากสายการบินรายหนึ่งให้ข้อมูลกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ด้วยขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารและเที่ยวบินของสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมืองที่มีจำกัดในตอนนี้ทำให้แผนการขยายธุรกิจของสายการบินที่วางไว้ไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผนการขยายเส้นทางบินและความถี่เที่ยวบินที่ไม่สามารถทำได้ตามแผนเดิม ทั้งยังมีความกังวลว่าจะส่งผลต่อเนื่องถึงแผนการเพิ่มฝูงบินในอนาคตอีกด้วย

สอดคล้องกับความเห็นในมุมวิชาการจาก “นวทัศน์ ก้องสมุทร” ประธานคณะกรรมการดำเนินการศูนย์วิจัยและบริการวิชาการด้านการขนส่งทางอากาศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่กล่าวว่า ปัจจุบันสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมืองมีจำนวนผู้โดยสารเกินขีดความสามารถไปเรียบร้อยแล้ว ถ้าในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ตัวเลขนักท่องเที่ยวยังคงเพิ่มขึ้นตามที่คาดการณ์อาจจะทำให้ระดับการบริการของสนามบินลดลงมากเกินไป และก่อให้เกิดความไม่พอใจจากผู้โดยสารเป็นวงกว้างได้รวมถึงอาจส่งผลกระทบให้เกิดการปรับราคาค่าโดยสารขึ้นในตลาดที่ขาดผู้แข่งขันหน้าใหม่ และมีโอกาสที่จะสูญเสียความเป็นฮับทางการบินในภูมิภาคอาเซียนตอนบนไป

โดย “นวทัศน์” แนะว่า ปัญหาของสนามบินสุวรรณภูมิอยู่ในส่วนของการรองรับผู้โดยสาร จึงควรดำเนินการสร้างส่วนขยายสนามบินสุวรรณภูมิตามแผนเดิมที่วางไว้และควรจะเพิ่ม airport access สำหรับการเข้าออกสนามบิน

นอกจากนั้นการเพิ่มขีดความสามารถของสนามบินดอนเมืองด้วยการเร่งพัฒนารันเวย์ แท็กซี่เวย์ และหลุมจอดเพิ่มจะทำให้ขีดความสามารถของดอนเมืองเพิ่มจาก 50 เที่ยวบินต่อชั่วโมง ไปเป็น 60-65 เที่ยวบินต่อชั่วโมง จะช่วยแบ่งเบาภาระของสุวรรณภูมิได้อีกทางหนึ่ง

ททท. เร่งกระจายสู่เมืองรอง

“ธเนศวร์ เพชรสุวรรณ” รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เผยว่า ททท.ไม่มีความกังวลเกี่ยวกับขีดความสามารถในการรองรับของสนามบินสุวรรณภูมิ แม้ว่าแผนการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 จะยังไม่คืบหน้า เพราะที่ผ่านมาสายการบินต่าง ๆ เริ่มขยับขยายของเส้นทางบินตรงสู่สนามบินในภูมิภาคอื่น ๆ แล้ว อาทิ เชียงใหม่ ภูเก็ต เป็นต้น

และเชื่อว่าทางบริษัท ท่าอากาศยานไทยจำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. จะสามารถบริหารจัดการให้อาคารผู้โดยสารหลังเดิมรองรับนักท่องเที่ยวได้ระหว่างรอการเพิ่มเติมขีดความสามารถ

ขณะเดียวกันทาง ททท.เองก็ได้พยายามเร่งทำการตลาดเพื่อกระจายนักท่องเที่ยวออกสู่ภูมิภาคและเมืองรองมากขึ้น และพยายามทำการตลาดร่วมกับสายการบินต่าง ๆ เพื่อให้เพิ่มเส้นทางบินตรงไปยังภูมิภาคมากยิ่งขึ้นด้วย

ทอท.เร่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

ด้าน “นิตินัย ศิริสมรรถการ” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. กล่าวว่า สนามบินหลัก 6 แห่งที่ ทอท.รับผิดชอบบริหารงานอยู่นั้นครองส่วนแบ่งทางการตลาด 86% (จากจำนวน 38 แห่งทั่วประเทศ) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้โดยสารจำนวนมากกระจุกตัวอยู่ใน 6 สนามบิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสุวรรณภูมิและดอนเมืองซึ่งมีผู้โดยสารเกินขีดความสามารถไปค่อนข้างมาก

โดยหลังสิ้นปีงบประมาณ 2561 สนามบินสุวรรณภูมิมีศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารอยู่ที่ 45 ล้านคนต่อปี แต่ปัจจุบันมีจำนวนผู้โดยสาร 62.8 ล้านคนขณะที่ดอนเมืองมีศักยภาพในการรองรับผู้โดยสาร 30 ล้านคน แต่มีจำนวนผู้โดยสารมากกว่า 40 ล้านคน นั่นหมายถึงผลกระทบต่อระดับการบริการ (level of service) ที่ลดลงด้วย

บริหารสนามบินภููมิภาคเพิ่ม

ดังนั้นระหว่างรอการก่อสร้างเฟสที่ 2 และ 3 ของสนามบินสุวรรณภูมิ ทอท.จึงได้เพิ่มปริมาณคนและเทคโนโลยีเข้าไปเพื่อรักษาระดับการบริการ รวมถึงเน้นบริหารจัดการพื้นที่ที่มีอยู่ ลดช่วงคอขวดที่ทำให้เกิดความแออัดหรือล่าช้าในสนามบิน อาทิ การสร้างอาคารสำหรับการเช็กอินแบบกลุ่ม เพื่อรองรับผู้โดยสารจากกรุ๊ปทัวร์ที่มักจะมาแพ็กกระเป๋าใหม่ที่สนามบิน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว ทอท.จะทยอยเพิ่มสนามบินในความดูแลตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2562 อีก 4 สนามบิน ได้แก่ อุดรธานี สกลนคร ตาก และชุมพร พร้อมทั้งเตรียมยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยและทำการตลาดดึงเที่ยวบินไปลงด้วย

สำหรับส่วนที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนเพิ่มเติมจะต้องประเมินสถานการณ์อย่างละเอียดรอบคอบ เนื่องจากในอีก 6-7 ปีข้างหน้าธุรกิจการบินจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเข้าสู่ยุคของรถไฟความเร็วสูง ซึ่ง ทอท.เล็งเห็นว่าจะทำให้ธุรกิจการบินจะชะลอการเติบโต และมีเพียงสนามบินที่เป็นฮับ (hub) จะอยู่รอด ส่วนสนามบินที่เป็นเกตเวย์ (gateway) จะถูกทิ้ง ทอท.จึงได้วางนโยบายการบริหารสนามบินภูมิภาคละ 2 แห่ง แบ่งเป็น 1 ใหญ่ 1 เล็ก ให้สนามบินใหญ่ทำหน้าที่เป็นฮับ โดยเน้นการลงทุนด้านเทคโนโลยีเพื่อความปลอดภัยมาตรฐานสากล เพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาดที่สูง เมื่อรถไฟความเร็วสูงเริ่มใช้งานได้จริงก็พร้อมที่จะรวมสนามบินเกตเวย์เข้ากับสนามบินฮับเพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิด

ยันไทยได้เปรียบเพื่อนบ้าน

นอกจากนี้ยังเชื่อว่าไทยยังเป็นประเทศที่ได้เปรียบเพื่อนบ้าน เนื่องจากมีจุดยุทธศาสตร์ที่ดี อยู่ใจกลางของอาเซียนตอนเหนือ แม้ประเทศเพื่อนบ้านจะมีสนามบินมากขึ้นและมีการท่องเที่ยวที่โตขึ้น แต่หากยังไม่มีการพัฒนาระดับมาตรฐานอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยก็จะยังคงโตแบบพอยต์ทูพอยต์ (point to point) ไม่ใช่ในรูปแบบของฮับทางการบิน

ที่สำคัญในอนาคตเมื่อเฟสที่ 2 ของสุวรรณภูมิแล้วเสร็จพร้อมอาคารสำหรับการโอนถ่ายผู้โดยสารต่อเครื่องโดยเฉพาะ ประเทศไทยก็จะมีระบบสนามบินที่เอื้อต่อการเป็นฮับมากยิ่งขึ้นไปอีกแน่นอน

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!