ล้างขาดทุนสะสม “บินไทย” “สุเมธ” ยันทำเพื่อผู้ถือหุ้น

ผ่านความเห็นชอบในที่ประชุมผู้ถือหุ้นไปเรียบร้อยสำหรับแผนการล้างตัวเลข “ขาดทุนสะสม” ของบริษัทการบินไทย หรือทีจี โดยที่ประชุมผู้ถือหุ้น เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีมติอนุมัติให้บริษัทโอนทุนสำรองตามกฎหมาย จำนวน 2,691 ล้านบาท และเงินสำรองที่เกิดจากส่วนล้ำมูลค่าหุ้น 2.55 หมื่นล้านบาท ไปชดเชยผลขาดทุนสะสมในงบการเงินเฉพาะกิจการ จำนวน 2.8 หมื่นล้านบาท (เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2561) ไปเรียบร้อยแล้ว

มีกฎหมายรองรับ-ได้ผลเร็ว

ในประเด็นนี้ “สุเมธ ดำรงชัยธรรม” กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ดีดี) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า วิธีการดังกล่าวนี้มีหลักการและมีกฎหมายรองรับ และหลาย ๆ บริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯก็ทำกัน ซึ่งรวมทั้งตัวเขาเองก็เคยใช้วิธีการนี้มาก่อนด้วย อีกทั้งยังเป็น 1 ในหลาย ๆ วิธีของหลักการบริหารทางการเงินที่สามารถทำได้

พร้อมยืนยันว่า วิธีนี้ไม่ใช่วิธีสุดท้ายที่จะทำให้องค์กรอยู่รอดได้ต่อไป แต่ถ้าจะเอาเร็ววิธีนี้เห็นผลเร็วที่สุด

เมื่อถามว่ามีวิธีอื่น ๆ อีกไหม “สุเมธ” บอกว่า มี แต่ไม่ทำ คือ ค่อย ๆ ทำกำไรไปเรื่อยให้ได้ 2.5 หมื่นล้านบาท แต่ไม่รู้ว่าต้องใช้เวลาอีกกี่ปี เพราะหากปีหนึ่งการบินไทยทำกำไรได้ 5,000 ล้านบาท ก็ต้องใช้เวลาอีกประมาณ 5 ปี แต่หากปีหนึ่งทำกำไรได้ 1,000 ล้านบาท ก็ใช้เวลานานถึง 25 ปี

หลายองค์กรเลือกใช้วิธีนี้

พร้อมอธิบายเพิ่มเติมว่า วิธีนี้มีข้อดีคือ ถ้าสมมุติว่าปีนี้การบินไทยกำไร 1,000 ล้านบาท ถ้าบริการแบบเดิมผู้บริหารก็เอากำไรที่เกิดขึ้นไปลงทุนเพิ่ม จ่ายโบนัสผู้บริหาร จ่ายโบนัสพนักงาน ไม่ต้องสนใจผู้ถือหุ้น เพราะบริษัทยังคงมีตัวเลขขาดทุนสะสมอยู่ บริษัทก็บริหารงานไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะล้างขาดทุนสะสมหมดถึงจะมีเงินเหลือจ่ายเป็นเงิน “ปันผล” ให้ผู้ถือหุ้น

เพราะหลักของการจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นคือ จ่ายจากกำไรสะสม ถ้ายังมีตัวเลขขาดทุนสะสมอยู่บริษัทก็ไม่สามารถทำได้ ดังนั้น การนำเอาทุนสำรองตามกฎหมายและเงินสำรองที่เกิดจากส่วนล้ำมูลค่ามาชดเชยผลขาดทุนสะสมนั้นไม่ใช่วิธีที่พิสดารเลย

“ที่ผ่านมามีหลายบริษัททำกัน เพียงแต่คนทั่วไปอาจจะไม่ได้สนใจมากนัก และมีวัตถุประสงค์แตกต่างกันไป แต่สำหรับของการบินไทยเราชัดเจนว่ามีเป้าหมายล้างขาดทุนสะสมก่อน” สุเมธอธิบาย พร้อมบอกด้วยว่า เมื่อล้างขาดทุนสะสมแล้ว ผลลัพธ์มันเปรียบเสมือนการจัดตั้งบริษัทใหม่ ที่วันแรกยังไม่มีทุนสำรองตามกฎหมาย ไม่มีตัวเลขกำไรสะสม มีแต่เงินทุน

ยัน “ไม่เสี่ยง-ไม่เจ๊ง”

เมื่อถามต่อว่าแล้ววิธีการนี้ “เสี่ยง” ไหม และจะทำให้บริษัทเจ๊งตามที่มีคนวิเคราะห์กันหรือไม่ “ดีดีสุเมธ” บอกว่า ประเด็นนี้หากคนเข้าใจเรื่องการเงินก็จะเข้าใจว่าสาเหตุที่ทำให้บริษัทเจ๊งนั้นมาจากการมีหนี้แล้วไม่สามารถชำระหนี้ได้ ไม่ได้เจ๊งจากการไม่มีทุนสำรองตามกฎหมาย

“บริษัทที่ขาดทุนตราบใดที่ยังมีเงินสดและนำเงินสดไปชำระหนี้ได้ บริษัทนั้นยังอยู่ได้ แต่ในทางกลับกันบริษัทที่มีกำไร แต่ไม่มีเงินสดไปชำระหนี้ นั่นแหละเขาถึงเรียกว่าบริษัทเจ๊ง หรืออีกกรณีบริษัทไหนที่ขาดทุนสะสมกินทุนจนหมด ถามว่าเจ๊งไหม ยังไม่เจ๊งนะครับ เพียงแต่เข้าข่ายหนี้สินล้นพ้นตัว” สุเมธย้ำ

และให้ข้อมูลอีกว่า ตัวเลขส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นสาระสำคัญที่จะดูว่าบริษัทนั้น ๆ อยู่ในความเสี่ยงที่จะล้มละลายหรือไม่ ถ้าเมื่อไหร่ที่ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ แปลว่าบริษัทนั้นเป็นของเจ้าหนี้ อันนี้คือ เสี่ยงที่จะล้มละลาย

แต่สำหรับ “การบินไทย” นั้น มีส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่กว่า 2 หมื่นล้านบาท และไม่เคยมีประวัติส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ ฉะนั้นยังมีอะไรอีกมากมายที่ยังสามารถบริหารจัดการได้โดยที่ส่วนของผู้ถือหุ้นไม่ติดลบ จึงยังห่างไกลคำว่า “เจ๊ง” หรือ “ล้มละลาย”

“ผมอยากอธิบายให้เข้าใจตรงกันว่า บริษัทการบินไทยไม่ได้เสี่ยงอะไร และสิ่งที่ผมทำก็ไม่ได้ทำให้บริษัทเสี่ยงมากกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้”

เพิ่มโอกาส “ปันผล” ผู้ถือหุ้น

ต่อคำถามว่า วิธีนี้ยังทำให้บริษัทสามารถเพิ่มทุนได้อยู่หรือไม่ “สุเมธ” บอกว่า ถ้ามองเรื่องประเด็นการเพิ่มทุน
วิธีนี้ยังช่วยให้บริษัทสามารถเพิ่มทุนได้ง่ายขึ้นด้วย เพราะคนที่จะเข้ามาซื้อหุ้นไม่ต้องมาช่วยบริษัทแบกรับภาระหนี้สะสม ที่สำคัญไม่รู้ว่าซื้อแล้วเมื่อไหร่จะได้เงินปันผลเหมือนก่อนหน้านี้ หรือหากซื้อหุ้นแล้วบริษัทมีผลประกอบการที่เป็น “กำไร” ผู้ถือหุ้นก็จะได้รับปันผลทันทีด้วย

ดีดีการบินไทยยังทิ้งท้ายด้วยว่า วิธีการดังกล่าวนี้เป็นการส่งสัญญาณให้ผู้ถือหุ้นรับรู้ว่า ผู้บริหารการบินไทยมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้บริษัทมีผลประกอบการที่เป็นบวก และหากผลประกอบการเป็นบวกก็จะมีโอกาสจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นบ้าง หลังจากที่ไม่ได้ปันผลมากว่า 10 ปีแล้ว

สรุปให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ การมูฟรอบนี้ของ “การบินไทย” เป็นการทำเพื่อผู้ถือหุ้นโดยเฉพาะ ขณะที่บริษัทก็ไม่ได้เสียหายด้วย…

วงในชี้ “เสี่ยง” ไม่มีใครทำกัน

ขณะที่แหล่งข่าวในธุรกิจการเงินรายหนึ่งให้ข้อมูลกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า วิธีการดังกล่าวที่ “การบินไทย” นำมาใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการในครั้งนี้นั้น ถือเป็นวิธีการที่ค่อนข้างเสี่ยงมาก เนื่องจากทำให้บริษัทตัวเองขาดเสถียรภาพทางการเงิน และมีข้อจำกัดเกิดขึ้นในหลาย ๆ ด้าน อาทิ ไม่สามารถเพิ่มทุนได้ เป็นต้น

ที่สำคัญ หากดำเนินการวิธีนี้แล้วผลประกอบการยัง “ติดลบ” หรือ “ราคาหุ้น” ยังไม่กระเตื้อง จะส่งผลต่อมูลค่าบริษัททันที และมีทางรอดอยู่เพียงทางเดียวเท่านั้นคือ ผลประกอบการต้องมีกำไรเท่านั้น

พร้อมยังให้ข้อมูลด้วยว่า ปกติส่วนใหญ่องค์กรที่เลือกใช้วิธีการนี้มักจะดึงแค่เงินในส่วนของส่วนล้ำมูลค่าหุ้นออกมาเท่านั้น จะไม่ดึงเงินทุนสำรองตามกฎหมายออกมา เพราะหากบริษัทยังคง “ขาดทุน” ต่อไป สุดท้ายบริษัทจะไม่สามารถไปต่อได้ ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก