นับหนึ่งฟื้นฟู “การบินไทย” ก้าวประวัติศาสตร์แอร์ไลน์ไทย

การบินไทย
(Photo by Jack TAYLOR / AFP)

ถือเป็นก้าวแรกของ “การบินไทย” สายการบินแห่งชาติของไทยที่จะเริ่มนับหนึ่งในการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการอย่างเป็นทางการ หลังศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูได้ และให้มีผู้ทำแผนตามที่ “การบินไทย” เสนอไปเมื่อ 14 กันยายน 2563

ผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการครั้งนี้ ประกอบด้วย บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด และบอร์ดการบินไทยอีก 6 คน คือ พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน, จักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล, พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค, บุญทักษ์ หวังเจริญ, ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ และชาญศิลป์ ตรีนุชกร

ใช้เวลาทำแผน 3 เดือน

ขั้นตอนหลังจากนี้ “การบินไทย” จะเปิดให้เจ้าหนี้มายื่นคำขอรับชำระหนี้ภายใน 1 เดือน นับแต่คำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งการบินไทยและกรมบังคับคดีได้เตรียมพร้อมไว้หมดแล้ว

เมื่อรับรู้ว่า เจ้าหนี้มีใครบ้าง ขั้นตอนต่อไปคือ การทำแผนฟื้นฟู และเจรจาเจ้าหนี้จะ “เดินหน้า” ต่อไปอย่างไร หากเจ้าหนี้เห็นชอบตามแผนฟื้นฟูก็จะยื่นศาลอีกครั้งและลงถึงรายละเอียด คาดว่าจะใช้เวลาราว 2-3 เดือน

“ชาญศิลป์ ตรีนุชกร” รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ หรือ DD บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์ว่า การบินไทยเตรียมเปิดให้เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ใน 1 เดือน หลังมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ และตั้งผู้ทำแผนได้ พร้อมประกาศในราชกิจจานุเบกษา

จากนั้น การบินไทยจะเร่งจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ พร้อมหารือกับ “เจ้าหนี้” ก่อนนำแผนยื่นต่อศาลในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ส่วนแผนฟื้นฟูจะเริ่มได้คือ ไตรมาสที่ 1 ของปี 2564

ทั้งระบุว่า การตัดสินของศาลนับเป็นก้าวแรกของประวัติศาสตร์วงการธุรกิจการบินของไทย เพราะเป็นครั้งแรกที่กิจการการบินขนาดใหญ่ภายในประเทศเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ

“ที่ผ่านมาพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การบินไทยยังมีคนรัก และอยากให้ดำเนินกิจการต่อไป”

ส่วนแผนการจะเป็นไปตามที่ขีดไว้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทุกฝ่าย ไม่ว่าเจ้าหนี้ ผู้บริหาร บุคลากรที่ต้องเสียสละให้องค์กรอยู่รอด และสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติได้ 60 กว่าปี แห่งการก่อตั้งก็เพิ่งประสบภาวะขาดทุนในช่วง 7-8 ปีนี่เอง

รวมหนี้ 3.5 แสนล้าน

สำหรับหนี้สินทั้งหมดนั้น “ชาญศิลป์” บอกว่า การบินไทยได้ชี้แจงต่อศาลแล้วว่า บริษัทมีหนี้สิน 350,000 ล้านบาท ทรัพย์สิน 330,000 ล้านบาท คิดเป็นส่วนต่าง 17,000 ล้านบาท คาดว่าในเวลา 5 ปีจะสามารถดำเนินการตามแผนฟื้นฟู และชำระหนี้ได้สำเร็จ

อย่างไรก็ตาม อาจต้องพิจารณาถึงปัจจัยร่วมอื่น ๆ อาทิ สภาพตลาดการแข่งขัน การจัดการต้นทุน การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบิน คิดว่าต้องใช้เวลา 4-5 ปี ในการกลับคืนสู่ปกติ

“ในระหว่างที่ยังไม่สามารถกลับไปบินได้ปกติ การบินไทยต้องเร่งปรับโครงสร้างองค์กร ปรับโครงสร้างรายได้ และหารายได้จากกิจการอื่น ๆ อย่างเต็มที่ เพราะเรายังมีศักยภาพ ทั้งทรัพย์สินที่ถืออยู่ ทั้งการยอมรับ ดูจากการจัดอันดับสายการบินประเภทต่าง ๆ รวมถึง “ธุรกิจในเครือ” ทั้งบริการภาคพื้น ครัวการบิน คลังสินค้า ฯลฯ ซึ่งจัดว่า “มีศักยภาพ” มากเช่นกัน”

ที่ผ่านมาได้สานต่อ “ครัวการบิน” ด้วยการนำเสนอในรูปแบบ new normal ให้บริการอาหารบนภาคพื้นแทน ณ สำนักงานใหญ่วิภาวดีฯ และเตรียมขยายไปยังสาขาอื่น ๆ อีก

ส่วน “เส้นทางการบิน” นั้น เฉพาะบินในประเทศได้เริ่มให้บริการแล้ว โดยมี “ไทยสมายล์” ให้บริการอยู่ ปัจจุบันมีอัตราบรรทุกผู้โดยสารกว่า 50-60%

ขณะที่ “การบินไทย” ยังคงให้บริการเที่ยวบินเหมาลำ รับ-ส่งผู้โดยสารในระหว่างการปิดล็อกประเทศ โดยได้รับการยอมรับในฐานะสายการบินที่ดูแลเรื่องสุขอนามัยดีที่สุด

เร่งปรับ 5 แนวทางหลัก

แหล่งข่าวใน บมจ.การบินไทย ให้ข้อมูล “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ และให้มีผู้ทำแผนฟื้นฟูตามที่เสนอไปแล้วนั้น การบินไทยยังได้ชี้แจงถึง “แนวทาง” และการฟื้นฟูกิจการต่อผู้ถือหุ้นด้วย

ทั้งหมดมี 5 แนวทาง คือ 1.ปรับโครงสร้างหนี้ เจรจาเจ้าหนี้ ให้ภาระการชำระหนี้และระยะเวลาการชำระหนี้สอดคล้องกับ “กระแสเงินสด” รวมทั้งหา “แหล่งเงินทุน” เพื่อเสริมสภาพคล่องระยะสั้น และปรับโครงสร้างเงินทุนระยะยาว

2.การปรับปรุงเส้นทางบินและฝูงบิน โดยมีการ “ยกเลิก” เส้นทางบินที่ไม่ทำกำไร พร้อมปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการทั้งเส้นทางการบิน และลดประเภทเครื่องบิน

3.ปรับปรุงองค์กรและหน่วยธุรกิจที่เกี่ยวกับการบิน เพิ่มความคล่องตัวในการบริหารจัดการ เช่น ตั้งบริษัทย่อย หาพันธมิตรร่วมทุน หาโอกาสทำธุรกิจใหม่ ๆ

4.ปรับปรุงกลยุทธ์ด้านพาณิชย์และความสามารถในการหารายได้

5.ปรับปรุงโครงสร้างองค์กรให้กระชับ เพิ่มศักยภาพแต่ละหน่วยธุรกิจ ปรับจำนวนพนักงานและสิทธิประโยชน์ค่าตอบแทน และสวัสดิการของพนักงานตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

บริหารต้นทุนได้ไปรอด

แหล่งข่าวในธุรกิจสายการบินอีกรายหนึ่งกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัญหาการขาดทุนสะสมของการบินไทยช่วงที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ไม่ใช่เรื่องของ “รายได้” แต่เป็นเรื่องบริหาร “ต้นทุน” บุคลากรที่มีจำนวนมากเกินไป รวมถึง “ต้นทุนซ่อมบำรุง” ที่มีมากมหาศาล เนื่องจากมีเครื่องบินหลากหลายรุ่น และมีต้นทุนแฝงอื่น ๆ อีกจำนวนมาก

หากการบินไทยบริหารจัดการต้นทุนได้และอยู่ในระดับที่สมเหตุสมผล ในระนาบมาตรฐานเดียวกับสายการบินฟูลเซอร์วิสอื่น ๆ เชื่อว่า TG จะกลับมาพลิกฟื้นได้และเป็นสายการบินเดียวที่ตอบโจทย์เรื่องเส้นทางการบินในระยะไกลได้ดีที่สุด

เชื่อว่าการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูของศาลล้มละลายครั้งนี้ จะช่วยให้ “การบินไทย” อยู่ในลู่ในทางและเข้าสู่มาตรฐานสากล ในฐานะสายการบินแห่งชาติที่น่าภูมิใจอีกครั้ง