“แอร์ไลน์” กัดฟันแบกต้นทุน จี้ทวง “ซอฟต์โลน” ต่อลมหายใจ

เครื่องบินไทย

หลายสำนักวิจัยฟันธงไปก่อนหน้าแล้วว่า ปี 2563 ที่ผ่านมา น่าจะเป็นจุดต่ำสุดของธุรกิจสายการบินทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ทุกสายการบินมีผลประกอบการที่ย่ำแย่ ขาดทุนหนักถ้วนหน้า

แต่สำหรับประเทศไทยนั้นมีแนวโน้มว่าปี 2564 นี้น่าจะเป็นปีที่ตกต่ำยิ่งกว่า

เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดยังหนักเป็นระลอก ทั้งล็อกดาวน์บางพื้นที่และล็อกดาวน์เต็มรูปแบบ โดยเฉพาะมาตรการห้ามสายการบินทำการบินเข้า-ออกพื้นที่สีแดงเข้มอย่างกรุงเทพฯ-สมุทรปราการ ซึ่งเป็นฐานของสนามบินดอนเมือง และสุวรรณภูมิ 2 ฮับการบินหลักของไทยอีกครั้ง ตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา

กระทบหนักสุดรอบ 10 ปี

“พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ” นายกสมาคมสายการบินประเทศไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือสายการบิน “บางกอกแอร์เวย์ส” ให้ข้อมูลว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อธุรกิจสายการบินอย่างหนักและรุนแรงที่สุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา

โดยในปี 2563 ที่ผ่านมา จำนวนผู้โดยสารโดยรวมลดลงจากปี 2562 กว่า 64.7% แบ่งเป็น ผู้โดยสารระหว่างประเทศลดลง 81.7% ภายในประเทศลดลง 44.9% ส่วนเที่ยวบินในประเทศลดลง 33.8% ซึ่งปัจจัยหลักมาจากมาตรการจำกัดการเดินทาง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดเป็นหลัก

“พุฒิพงศ์” ยังบอกด้วยว่า ไม่เพียงเท่านี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังส่งผลต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน โดยล่าสุดรัฐบาลได้ออกมาตรการล็อกดาวน์และจำกัดการเดินทางเต็มรูปแบบอีกครั้ง ด้วยการให้สายการบินทุกสายระงับการให้บริการชั่วคราวในทุกเส้นทางบินเข้าออกกรุงเทพฯ และพื้นที่สีแดงเข้ม ตั้งแต่ 21 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา เป็นต้นไป

จากมาตรการล่าสุดนี้ ทำให้ทั้ง 7 สายการบินหลัก คือ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส, ไทยแอร์เอเชีย, ไทยสมายล์แอร์เวย์, ไทยไลอ้อนแอร์, ไทยเวียตเจ็ท, ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ และนกแอร์ ที่ปัจจุบันมีเครื่องบินรวมกันกว่า 170 ลำ ต้องจอดนิ่งทั้งหมด

อีกทั้งที่หนักที่สุดในเวลานี้ ทุกสายการบินต้องแบกรับต้นทุนอันมหาศาล โดยไม่สามารถทำธุรกิจได้ ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนด้านการปฏิบัติการบิน การบำรุงรักษาเครื่องบิน ฯลฯ เฉพาะค่าใช้จ่ายในส่วนของการจ้างงานพนักงานอย่างเดียว รวมกัน 7 สายการบินก็อยู่ที่ประมาณเดือนละ 1,000 ล้านบาท

รายได้ ตปท.เป็นศูนย์มากว่า 1 ปี

ด้าน “สันติสุข คล่องใช้ยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบิน “ไทยแอร์เอเชีย” บอกว่า ตลอด 1 ปีกับ 5 เดือนที่ผ่านมา สายการบินเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่ไวรัสโควิด-19 เริ่มระบาดและยังคงหนักและยืดเยื้อจนถึงวันนี้

โดยทุกสายการบินทยอยปิดให้บริการเส้นทางบินตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 กระทั่งเดือนมีนาคม 2563 ที่ต้องระงับให้บริการเส้นทางบินระหว่างประเทศทั้งหมด จากนั้นเดือนเมษายน รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ขอความร่วมมืองดการเดินทางระหว่างจังหวัด ทำให้ทุกสายการบินต้องหยุดให้บริการเส้นทางภายในประเทศเกือบทั้งหมดเช่นกัน

“เราเริ่มทยอยกลับมาเปิดทำการบินเส้นทางภายในประเทศกันอีกครั้งในช่วงมิถุนายน-กรกฎาคม 2563 และเพิ่มมากขึ้นในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม แต่ก่อนคริสต์มาสก็เจอกับการแพร่ระบาดระลอก 2 กว่าจะกลับมาบินได้ก็ประมาณกุมภาพันธ์ 2564 และกลับมาระบาดระลอก 3 อีกครั้งในช่วงก่อนสงกรานต์เดือนเมษายนที่ผ่านมา จนกระทั่งวันนี้”

นั่นหมายความว่า รายได้จากเส้นทางระหว่างประเทศของทุกสายการบินเป็นศูนย์มาตลอดช่วง 17 เดือนที่ผ่านมา ขณะที่เส้นทางภายในประเทศก็ให้บริการได้เป็นช่วง ๆ และเป็นช่วงสั้น ๆ หรือประมาณ 4-5 เดือน จากเวลาที่ผ่านมาทั้งหมด 17 เดือนเท่านั้น

และจากสถานการณ์ล่าสุดที่รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์อีกครั้ง ตั้งแต่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมาเป็นต้นไปนี้ ทำให้ธุรกิจสายการบินทุกแห่งต้องตกอยู่ในภาวะวิกฤตยิ่งขึ้น

ธุรกิจแอร์ไลน์ต้นทุนมหาศาล

“สันติสุข” ให้ข้อมูลว่า สายการบินแต่ละแห่งมีต้นทุนการดำเนินงานที่สูงมาก แม้ว่าทุกแห่งจะพยายามปรับลดต้นทุนกันไปแล้วหลายรูปแบบก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นปรับลดพนักงาน ลดเงินเดือน หยุดงานโดยไม่รับเงินเดือน หรือ leave without pay ปรับลดขนาดองค์กรลดเส้นทางบิน ฯลฯ

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้รวบรวมข้อมูลของธุรกิจสายการบินที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯพบว่า ไทยแอร์เอเชีย ซึ่งมีฝูงบินประมาณ 60 ลำ ปี 2562 มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานรวม 41,653 ล้านบาท เฉลี่ยเดือนละกว่า 3,400 ล้านบาท ปี 2563 ซึ่งได้ลดต้นทุนทุกรูปแบบแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานรวม 23,788 ล้านบาท เฉลี่ยเดือนละประมาณ 2,000 ล้านบาท

เช่นเดียวกับบริษัท การบินกรุงเทพ หรือ “บางกอกแอร์เวย์ส” ที่มีเครื่องบิน 39-40 ลำ ปี 2562 มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน 26,928 ล้านบาท เฉลี่ยเดือนละ 2,200 กว่าล้านบาท ปี 2563 ที่พยายามลดต้นทุนทุกรูปแบบแล้วเช่นกัน ยังมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน 14,914 ล้านบาท เฉลี่ยเดือนละ 1,200 ล้านบาท

ขณะที่สายการบิน “นกแอร์” ที่รายงานว่า ปี 2562 มีเครื่องบิน 16 ลำ มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน 14,422 ล้านบาท เฉลี่ยเดือนละ 1,200 ล้านบาท (นกแอร์ยังไม่ส่งงบการเงินปี 2563)

วอนรัฐอุ้มซอฟต์โลน 5 พันล้าน

“วรเนติ หล้าพระบาง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบิน “ไทยเวียตเจ็ท” บอกว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาผู้ประกอบการสายการบินทั้งหมดได้ปรับตัวในทุกมิติแล้ว แต่ยังไม่สามารถฝ่าฟันวิกฤตและผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ จึงอยากให้รัฐบาลช่วยเร่งพิจารณาวงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือ soft loan มูลค่า 5,000 ล้านบาท ตามที่สมาคมได้เสนอไปครั้งล่าสุดโดยเร็ว

เนื่องจากธุรกิจสายการบินเป็นฟันเฟืองสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนภาคธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอีกจำนวนมาก หากมีผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่ง ต้องล้มหายตายจากไปก็จะส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอีกหลายเซ็กเตอร์

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสมาคมสายการบินประเทศไทย โดยผู้ประกอบการ 7 สายการบิน ได้ทำหนังสือขอให้ภาครัฐช่วยเหลือเงินกู้ซอฟต์โลนไปแล้ว 3 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม 2563 วงเงิน 2.4 หมื่นล้านบาท ครั้งที่ 2 เดือนพฤศจิกายน 2563 พร้อมทั้งลดวงเงินเหลือ 1.5 หมื่นบาท ด้วยความหวังว่าจะได้รับการพิจารณาเร็วขึ้น แต่ก็ยังไม่ได้รับการอนุมัติ

กระทั่งล่าสุดเมื่อพฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา ทั้ง 7 สายการบินได้ทำหนังสือส่งไปอีกครั้ง พร้อมลดวงเงินเหลือ 5,000 ล้านบาท โดยขอให้ภาครัฐช่วยเหลือเฉพาะพยุงการจ้างงานของทั้ง 7 สายการบิน (ดูตารางประกอบ)

โดยประเมินว่าวงเงินดังกล่าวจะเข้ามาช่วยต่อลมหายใจให้ธุรกิจสายการบินสามารถประคองตัวต่อไปได้จนถึงสิ้นปี 2564 นี้ สุดท้ายก็ยังไม่ได้รับการตอบรับแต่อย่างใด รวมเวลา 1 ปีกับ 5 เดือนแล้ว

“ประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ หากสถานการณ์การแพร่ระบาดยังหนักธุรกิจการบินไม่สามารถทำการบินได้สัก 3 เดือน เชื่อว่าจะไม่มีสายการบินไหนที่อยู่รอดได้เลย” วรเนติย้ำ

วิ่งประกันสังคมอุ้มจ้างงาน

ขณะที่ “ชาริตา ลีลายุทธ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบิน “ไทยสมายล์” ระบุว่า นอกจากความพยายามในด้านการติดตามความคืบหน้าซอฟต์โลนแล้ว ที่ผ่านมาสมาคมสายการบินฯพยายามเข้าไปเจรจากับสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เพื่อขอรับการสนับสนุน และการขอกู้กองทุนประกันสังคม

โดยสำนักงานประกันสังคมก็มีแนวทางช่วยเหลือเช่นกัน เพียงแต่ยังติดขัดเรื่องกฎระเบียบในบางประเด็น เนื่องจากประกันสังคมจะช่วยเหลือเฉพาะธุรกิจขนาดย่อย วงเงินที่สามารถให้กู้ได้จำกัดเพียง 15 ล้านบาทเท่านั้น แต่สายการบินเป็นธุรกิจขนาดใหญ่จึงไม่เพียงพอ

นอกจากนี้ ในประเด็นการค้ำประกัน ซึ่งปกติใช้ค้ำประกันโดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ก็มีข้อจำกัดทำนองเดียวกันคือ เป็นการค้ำประกันให้กับธุรกิจขนาดย่อม ไม่เข้าข่ายสำหรับธุรกิจสายการบินซึ่งเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดเหล่านี้อยู่ระหว่างการแก้ไข

วันนี้จึงได้แต่หวังว่าภาครัฐจะเห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น และให้การสนับสนุนซอฟต์โลนตามที่ยื่นขอไป เพื่อที่วันหนึ่ง เมื่อสถานการณ์ปรับตัวดีขึ้นทุกสายการบินยังอยู่เป็นหัวหอกในการนำนักท่องเที่ยวเข้ามา และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่อไปได้